การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการปรับปรุงดินในนาข้าว  
   
 
    บทนำ  
   

ในยุคหลังปฏิวัติเขียวปลายทศวรรษที่ 90 แนวทางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางเกษตรได้ปรับเปลี่ยนไปมาก สนับสนุนให้ชุมชน หรือกลุ่มเป้าหมาย มีส่วนร่วมในกระบวนการ ตั้งแต่ การกำหนดปัญหา ทางเลือก และทดสอบความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีในพื้นที่ของเกษตรกร กระแสเรื่องชุมชนเข้มแข็ง การมีส่วนร่วมของชุมชน ผลักดันให้เกิดการทบทวนการทำงานด้านพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การวางแผนรูปแบบ การใช้ประโยชน์ที่ดิน การจัดสรรทรัพยากร ในระดับฟาร์มและสูงกว่าระดับฟาร์ม พร้อมทั้งกิจกรรมด้านการผลิต การแปรรูป ที่นำไปสู่การอยู่ดีกินดี ีของครัวเรือนในชนบท

โครงการวิจัยนี้ ได้เลือกประเด็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวนาปีของเกษตรกร ในพื้นที่ราบลุ่มเชียงใหม่โดย ใช้โสนอัฟริกัน เป็นปุ๋ยพืชสดเป็นกรณีวิจัย เพื่อชักนำให้เกิดกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการยกระดับผลิตภาพของข้าวนาปี เพื่อบริโภคและเสริมรายได้ โดยมีมาตรการการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินผนวกในระบบการผลิตนี้ด้วย


เกษตรกรในพื้นที่ราบลุ่มเชียงใหม่ ได้เลือกปลูกข้าวคุณภาพเพื่อบริโภค และเพื่อการค้าอย่างแพร่หลาย เช่น พันธุ์ข้าวเหนียว กข6 และข้าวเจ้า ขาวดอกมะลิ 105 (Limnirankul, 1998, Tong-ngam, 1999) ในขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เช่น ปุ๋ยเกรด16-20-0 ยูเรีย และปุ๋ยเกรด 15-15-15 เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวนาปี การผลิตข้าวอย่างเข้มข้นโดยอาศัยปุ๋ยวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเพิ่มอัตราการเพิ่มผลผลิตข้าวในระยะยาวได้ (Cassman and Pingali, 1995) จำเป็นต้องอาศัยวิธีการผลิตแบบผสมผสานโดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยพืชสดเพือฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน (Ladha and Garrity, 1994)
ในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศเกิดวิกฤตการณ์ตั้งแต่ ปี 2540 เป็นต้นมา ราคาปุ๋ยวิทยาศาสตร์ได้เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกษตรกรลดอัตราการใช้ปุ๋ย และส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง

ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีมาตรการอื่นๆในการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว
งานทดลองการใช้พืชบำรุงดินในระบบการผลิตข้าวของศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ดำเนินการติดต่อเป็นเวลา 6 ปี (ตารางที่ 1.1) ยืนยันว่าพืชตระกูลถั่วบำรุงดินโสนอัฟริกัน (Sesbania rostrata) ซึ่งหว่านก่อนปลูกข้าวนาปี 65 วัน สามารถเพิ่มผลผลิตมากกว่าเดิมประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉลี่ยเท่ากับ 700 กก./ไร่ ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน 8.4 กก./ไร่ การใช้โสนอัฟริกันเป็นปุ๋ยพืชสดอย่างเดียว สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 300 บาท/ไร่ งานทดสอบเบื้องต้นในพื้นที่เกษตรกรที่อำเภอสันทรายและอำเภอสันกำแพง ได้ผลเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรเช่นเดียวกัน นอกจากนี้งานทดลองของกรมพัฒนาที่ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ยืนยันประสิทธิผลของโสนอัฟริกันในการเพิ่มผลผลิต ข้าวนาปี (Arunin et al., 1994)


ปัจจุบันบทบาทพืชบำรุงดินในการพัฒนาเกษตรยั่งยืนเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น แต่งานส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับสถานีทดลอง การขยายผลในวงกว้างถึงพื้นที่เกษตรกรยังอยู่ในวงจำกัด ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงต้องการขยายผลการใช้พืชบำรุงดินร่วมกับการผลิตข้าวคุณภาพ เช่น ข้าวคลองหลวง 1 และข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในพื้นที่ราบลุ่มจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบในสถานี และยืนยันผลเบื้องต้นในพื้นที่เกษตรกรในการลดการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ และเพิ่มรายได้ต่อหน่วยพื้นที่ให้กับครัวเรือนเกษตรกร

การทดสอบโดยที่เกษตรกรมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นในโครงการนี้ จะช่วยประเมินความเหมาะสมของปุ๋ยพืชสดในระบบการผลิตข้าวนาปีของเกษตรกรได้


 
    ......................................................................................................................................................................................  
    วัตถุประสงค์  
    ......................................................................................................................................................................................  
 

 

 

 
  (กลับเกษตรที่ลุ่ม) :( เกษตรยั่งยืน) :( หน้าหลัก)