เขตข้าวไทย รุ่น ๒.๐

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 กำหนดให้มีการจัดทำแผนการใช้ที่ดินเพื่อผลิตสินค้าเกษตร (Zoning) ภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) ปี 2556-2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ มีมติเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2555 เห็นชอบหลักการการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารการผลิตกลุ่มสินค้าเกษตร เพื่อเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจเป็นรายสินค้า

ในปีการเพาะปลูก 2555 พื้นที่ปลูกข้าวของประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนสี่อันดับได้แก่ ประเทศอินโดนิเซีย ประเทศไทย ประเทศเมี่ยงม่า และประเทศเวียตนามโดยมีพื้นที่ปลูกข้าว 13.44, 12.12, 8.15, 7.75 ล้านเฮกแตร์ คิดเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่ปลูกข้าวของโลก โดยมีผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่เป็น 5,136; 3,000; 4,049; 5,632 กิโลกรัมต่อเฮกแตร์ ตามลำดับ ผลผลิตเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ในลำดับสุดท้าย (FAO, 2014) ผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่ของไทยต่ำกว่าผลผลิตข้าวของโลกเฉลี่ยที่ 4,480 กิโลกรัมต่อเฮกแตร์ (FAO, 2013) ข้อมูลของระบบ “เขตข้าวไทย รุ่น ๑.๐” แสดงสาเหตุหนึ่งของผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่ของไทยอยู่ในระดับต่ำนี้เนื่องจากพื้นที่ปลูกร้อยละ 10 และ 30 อยู่ในเขตการผลิตข้าวเหมาะน้อยและไม่เหมาะสม ตามลำดับ (กรมการข้าว, 2557) อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของระบบเขตข้าวไทยเป็นข้อมูลในระดับตำบลและต้องได้รับการปรับปรุงให้มีข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน เจ้าหน้าที่ของกรมการข้าว ชาวนาเจ้าของแปลงผลิตและผู้สนใจระบบการผลิตข้าวต้องมีเครื่องมือที่เหมาะสมและระบบสารสนเทศสำหรับการนำเข้าข้อมูลใหม่และปรับปรุงข้อมูลเดิมให้มีความถูกต้อง ทันสมัย ใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม และสะดวกต่อการใช้งานอย่างแพร่หลาย ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการพัฒนาเทคโนโลยีอุปกรณ์พกพาแบบมือถือเปิดโอกาสให้สามารถพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ (application) สนับสนุนการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวทุกพื้นที่และตลอดเวลา (ubiquitous computing) และเสริมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในภาคสนามอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและช่วยลดความผิดพลาดระหว่างการบันทึกข้อมูลในสนามกับการกรอกข้อมูลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ในสำนักงาน ทำให้ได้ข้อมูลสะท้อนสภาพการผลิตจริง ทราบระดับของปัจจัยการผลิตและกระบวนการผลิตข้าวซึ่งชาวนาในแต่ละระบบนิเวศน์ และมีข้อมูลยืนยันสาเหตุของระดับผลผลิตข้าวที่ต่ำของไทยทั้งระบบ ซึ่งจะนำสู่การกำหนดประเด็นและการลงทุนวิจัยที่มีการชี้เป้าหมายอย่างชัดเจน การนำใช้ผลงานวิจัยหรือเทคโนโลยีการผลิตข้าวของกรมการข้างในระดับแปลงนาเพื่อยกระดับการผลิต และส่งผลกระทบต่อการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวนาและครอบครัวตามสภาพทรัพยากรการผลิตบนพื้นที่ข้อมูลและองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เกษตรอย่างเป็นระบบผ่านการพัฒนาระบบ “เขตข้าวไทย รุ่น ๒.๐”