สินค้า GMOs : ความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านอาหารและการบริโภค

 

ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์
ภาควิชาพฤกษศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

1. บทนำ

อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่นอกจากจะช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ได้แล้วยังมีส่วนเกี่ยวข้องต่อพลานามัยที่ดี การเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง แม้กระทั่งต่อการสู้กับโรคภัยต่างๆ

ในอดีตการได้รับอาหารอย่างพอเพียง และครบหมวดหมู่จัดได้ว่าบรรลุตามสุขบัญญัติที่กำหนดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ดีการพัฒนาประเทศที่ดีขึ้น หลายประเทศได้ปรับให้มาตรฐานของชีวิตของประชากรในประเทศของเขาสูงขึ้นตามมาผู้บริโภคจึงให้ความสำคัญ และพิถีพิถันในการเลือกบริโภคอาหารมากยิ่งขึ้น การเลือกไม่บริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูง คลอเรสเตอร์รอลสูง การเลือกอาหารปลอดสารพิษ อาหารอินทรีย์ อาหารชีวจิต การบริโภคอาหารเสริมต่างๆเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ดังนั้น เสถียรภาพและความมั่นคงในอาหารจะไม่จบที่ปริมาณที่เพียงพอเพียงอย่างเดียวแต่จะรวมถึงคุณภาพมาตรฐานที่สูงขึ้นและมีความปลอดภัยสูงเป็นสำคัญ

ความเกรงกลัวว่าจะไม่สามารถผลิตอาหารให้เพียงพอสนองตอบต่อการเพิ่มของจำนวนประชากรทำให้มนุษย์เริ่มหันมาศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตอาหาร เริ่มต้นจากการปรับปรุงวิธีการเขตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตในพืชชนิดต่างๆ การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช การนำเทคนิคเพาะปลูกพืชในน้ำยา การใช้สารเคมีต่างๆในการเกษตร การสังเคราะห์พันธุ์พืชใหม่ๆโดยการปรับปรุงพันธุ์ทางธรรมชาติที่ให้ผลผลิตที่ดีทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ เป็นตัวอย่างที่สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติเขียวในช่วงปี คศ. 1960 เป็นต้นมา จวบจนยุคสมัยปี 2000 การพัฒนาทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพที่ช่วยให้เริ่มเข้าใจกลไกการทำงานของสารพันธุกรรมและยีนต่างๆ เทคนิคในปัจจุบันเปิดโอกาสให้สามารถตัดต่อ ดัดแปลงพันธุกรรมพืช โดยการตัดต่อยีนจากสิ่งมีชีวิตต่างๆเข้าสู่พืช ทำให้ได้พืชพันธุ์ใหม่ๆ ได้อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน พืชพันธุ์เหล่านั้นคือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เรียกว่า GMOs (จีเอ็มโอ) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทให้ห่วงโซ่อาหารมากยิ่งขึ้น

 

2. พืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) และผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมนั้น (GMFs)

2.1 พืชดัดแปลงพันธุกรรม

พืชดัดแปลงพันธุกรรม พืชจำลองพันธุ์ พืชแต่งพันธุ์ เหล่านี้ต่างเป็นศัพท์ที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบันใช้เรียก GMOs กระบวนการสร้างหรือสังเคราะห์ GMOs เริ่มจาก การศึกษายีนควบคุมลักษณะต่างๆในสิ่งมีชีวิตเช่น ยีนสร้างสีของดอกไม้ ยีนสร้างโปรตีนที่ช่วยฆ่าแมลงต่างๆในรูปโปรตีนพิษ (Toxin) จากนั้นจะตัดยีนเป้าหมายด้วยเอนไซม์ตัดยีน ยีนเป้าหมายสามารถได้จากพืชด้วยกัน จากสัตว์ จากจุลชีพจำพวกแบคทีเรีย รา หรือแม้กระทั่งจากไวรัส การตัดต่อยีนจำเป็นต้องใช้พาหะ ถ้าเปรียบยีนเป็นธงชัยแล้ว จำเป็นต้องมีผู้ถือธงนั้น พาหะส่วนใหญ่อยู่ในรูปพลาสมิด ซึ่งคือสารพันธุกรรมอิสระที่อยู่ในแบคทีเรีย ดังนั้นยีนที่ตัดมาได้จะนำมาต่อกับพลาสมิดเพื่อสร้าง โครงสร้างหลักรองรับการทำงานของยีนในอนาคต กล่าวคือ มีโครงสร้างหลักของส่วนควบคุมระดับและจังหวะในการแสดงออก (Promotor : โปรโมเตอร์) และส่วนกำกับการสิ้นสุดและเสถียรภาพของยีน (Terminator : เทอร์มิเนเตอร์) การตัดต่อที่เหมาะสมจะเกิดโครงสร้างของยีนครบชุด คือมีทั้งโปรโมเตอร์ ยีน และเทอร์มิเนเตอร์ นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้พลาสมิดสำเร็จรูปที่มีโครงสร้างรองรับไว้ หรือจะจัดทำโครงสร้างเหล่านั้นเองได้ หลังจากที่ได้พลาสมิดที่มีโครงสร้างสมบูรณ์แล้ว จะทำการถ่ายยีนเหล่านั้นเข้าสู่พืชเป้าหมายต่อไป การถ่ายยีนเสมือนเป็นเรือที่พาผู้ถือธงไปยังอีกฝั่งหนึ่ง การถ่ายยีนสามารถทำได้โดยการใช้แบคทีเรียอะโกรแบคทีเรีย (Agrobacterium tumefacien) เป็นสื่อนำ ให้ยีนเข้าสู่พืช หรือการใช้กระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำให้ยีนครบชุดนั้นเข้าสู่พืช (วิธีอีเล็กโตรโพเลชั่น : electroporation) หรือนำยีนไปเคลือบไว้บนอนุภาคทองคำแล้วยิงอนุภาคเหล่านั้นเข้าไปในพืช (วิธีพาทิเคิ้ลกัน : Particle gun) ขั้นตอนนี้จะใช้ชิ้นส่วนพืชในรูปของเนื้อเยื่อพืช ปกตินักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องถ่ายยีน 2 ชุด คือชุดยีนเป้าหมาย และชุดยีนที่ช่วยในการคัดเลือก ยีนชุดหลังใส่เพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยให้การคัดเลือกพืชดัดแปลงพันธุกรรมทำได้ง่ายขึ้น ภายหลังการถ่ายยีนเข้าสู่พืชจะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเหล่านั้น คัดเลือก และทำการประเมินผล ไปพร้อมๆกัน จนได้พืชดัดแปลงพันธุกรรมในท้ายที่สุด การนำพืชดัดแปลงพันธุกรรมมาศึกษาการทำงานต่างๆ ในสิ่งมีชีวิตเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่การนำพืชเหล่านั้นมาจำหน่ายเป็นการค้า ต้องผ่านขั้นตอนการประเมินความเสี่ยง และความปลอดภัยระดับหนึ่งก่อน นักวิทยาศาสตร์สร้างพืชดัดแปลงพันธุกรรมออกมามากมาย แต่ที่ได้รับอนุญาติให้สามารถวางขายและหมุนเวียนในตลาดโลก ได้แก่ ข้าวโพด มันฝรั่ง คาโนล่า (เรบซีด) ถั่วเหลือง มะเขือเทศ ฝ้าย ยาสูบ ตามสัดส่วนจากมากไปน้อย ตามลำดับ

พืชจำพวกข้าวโพด มันฝรั่ง ถั่วเหลือง และมะเขือเทศ เป็นวัตถุดิบหลักต้นทางในการผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์อีกนานับชนิด และเป็นวัตถุดิบหลักที่ประเทศไทยมีการนำเข้าในสัดส่วนที่สูง

2.2 อาหารและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMF)

GMF เป็นคำที่ย่อมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Genetically Modified Food ซึ่งหมายถึงอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือแปรรูปจากพืชดัดแปลงพันธุกรรม และ/หรือ แปรรูปจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือมีส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูป ตัวอย่างเช่น เต้าหู้ที่ผลิตจากถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรม (ถั่วเหลือง GMOs) จัดเป็น GMF หรือน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปข้าวโพด GMOs อีกต่อหนึ่งก็จัดเป็น GMF

จากการศึกษาพบว่า มีผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และอาหารแปรรูปไม่น้อยกว่า 3000 ชนิด ที่ใช้วัตถุดิบหรือมีส่วนประกอบในวัตถุดิบอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวข้องกับ GMOs ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมแทบทุกชนิดของอาหารรวมทั้งอาหารหลักในแต่ละมื้อ เครื่องดื่ม อาหารเด็ก ขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์อีกนานับชนิด ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะไม่สามารถกำหนดขอบเขตได้ชัดเจนว่าเป็นผลิตภัณฑ์ใดบ้าง ผลิตภัณฑ์บางชนิดแปรรูปไปจากสภาพเดิมมาก เช่น ชอคโกแล็ต ลูกกวาด ขนมบางชนิดที่ปรุงรส ต่างก็ใช้วัตถุดิบที่แปรรูป ใช้วัสดุปรุงแต่งสี กลิ่น และรส ที่ทำจากพืช GMOs ได้ ในชอคโกแล็ต จะมี Lecitin ที่ทำจากถั่วเหลือง ในขนมขบเคี้ยว แม้จะทำจากข้าวสาลีธรรมชาติ แต่อาจผ่านการปรุงแต่งรสด้วยสารปรุงแต่งรสที่ได้จากพืช GMOs ได้

สำหรับประเทศไทยวัตถุดิบต้นทางที่สำคัญที่เป็นพืช GMOs ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ และมะละกอ ทั้งหมดจัดเป็นพืชในกลุ่มแรกๆที่จะต้องจับตามอง ผลิตภัณฑ์อาหารที่แปรรูป หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบต้นทางเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

3. ทำไมต้องกังวลกับผลิตภัณฑ์ GMF เหล่านี้

นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าการดัดแปลงพันธุกรรมที่เปิดโอกาสให้สามารถออกแบบและปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจนไม่พอเพียงได้ แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก โดยเฉพาะความไม่มั่นใจว่าพืชดัดแปลงพันธุกรรมจะใช้เป็นอาหารที่มีความปลอดภัยเหมือนกับอาหารธรรมชาติหรือไม่ แม้ในอดีตขั้นตอนการอนุญาตให้มีการผลิตพืชเหล่านี้เป็นการค้าได้มีการวิเคราะห์องค์ประกอบเปรียบเทียบ ศึกษาความเหมือนทางเคมี ศึกษาผลกระทบโดยตรงต่อยีนเป้าหมายทั้งในแง่ความปลอดภัยในการบริโภคเบื้องต้น ปริมาณที่ปรากฏถึงระดับอันตราย และการย่อยสลายในสิ่งมีชีวิต แต่งานทดลองส่วนใหญ่ยังไม่ครอบคลุมถึงความปลอดภัยในการนำผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมมาใช้ในระยะยาว โดยเฉพาะความปลอดภัยในการใช้เป็นอาหารและความปลอดภัยสำหรับสภาพแวดล้อม

3.1 หลัก Substantial equivalent

ความเทียบเท่าในแง่คุณค่าทางอาหาร องค์ประกอบทางเคมีและการใช้ประโยชน์ที่ไม่ต่างจากพันธุ์ธรรมชาติ substantial equivalent เป็นบรรทัดฐานอันดับต้นๆ ในการตรวจสอบความปลอดภัยในอาหาร

ผลิตภัณฑ์อาหาร และยาหลายชนิดที่ผลิตจากแบคทีเรีย GMOs ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะสอบผ่านเกณฑ์เหล่านี้ เนื่องจากโปรตีนต่างๆที่ผลิตขึ้นใหม่ ถูกผลิตในระบบปิด มีการสกัดเอาเฉพาะโปรตีนหลักให้บริสุทธิ์ และจากการวิเคราะห์โปรตีนที่สกัดได้ในระดับโมเลกุลพบว่าไม่มีความแตกต่างจากโปรตีนในธรรมชาติ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมิได้จำหน่ายในรูปแบคทีเรียที่เป็น GMOs เองแต่จำหน่ายในรูปโปรตีนสกัดบริสุทธิ์ จึงมีความปลอดภัยในระดับไม่ต่างจากโปรตีนที่ได้จากธรรมชาติ อย่างไรก็ดีในกรณีของพืช GMOs และผลิตภัณฑ์นั้นต่างไป เพราะเป็นการใช้ตัวพืช GMOs เอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายกรณีทั้งในแง่ชนิดของพืช ตัวยีนที่ใช้ และลักษณะการนำผลิตภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่นในกรณีที่เป็นถั่วเหลือง และข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม โดยการตัดต่อยีนสร้างโปรตีนที่เป็นพิษต่อแมลง (Bt toxin) จะพบว่า ภายในเมล็ดธัญพืชเหล่านี้ แม้ว่าจะมีโปรตีนและปริมาณสารอาหารชนิดอื่นๆเทียบเท่าธรรมชาติซึ่งสอบผ่านในแง่ความเทียบเท่าเฉพาะในส่วนที่เหมือนกับธรรมชาติก็ตาม แต่ในเมล็ดธัญพืชเหล่านี้จะมีโปรตีน Bt toxin อยู่ โดยรวมแล้วถือว่าต่างไปจากธรรมชาติเป็นต้น นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลและผลตรวจสอบว่าการบริโภค Bt toxin ในระยะยาว จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่แต่อย่างใด ในรายงานของ FDA ระบุว่า Bt toxin ไม่มีผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และแมลงชนิดอื่นๆเช่นผึ้ง ตัวเบียน ก็ตาม แต่จากผลการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล โดยทีมนักวิทยาศาสตร์อีกชุดหนึ่ง พบว่า Bt toxin มีผลต่อตัวอ่อนของผีเสื้อโมนาร์ท ซึ่งเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรและไม่ใช่ศัตรูพืช หรือแมลงในสกุล Lepidopthera กล่าวคือ ตัวอ่อนของผีเสื้อที่กินละอองเกสรจะตายภายใน 4 วัน มีการทดลองในลักษณะคล้ายกันในแมลงช้าง พบว่า แมลงช้างที่กินหนอนเจาะลำต้นซึ่งกินข้าวโพดที่มีโปรตีน Bt toxin ส่วนหนึ่งจะตายภายในเวลาไม่กี่วัน นอกจากนี้การทดสอบประเมินผลฝ้ายที่มีการตัดต่อยีน Bt toxin ในประเทศจีน พบว่า นอกจากตัวโปรตีนจะมีผลต่อหนอนเจาะสมอฝ้ายซึ่งเป็นศัตรูพืชแล้ว มดที่มากินหนอนเจาะสมอฝ้ายก็ได้รับพิษจากโปรตีนเช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์เคยรายงานผลการวิจัยในโครงการตัดต่อยีนเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโปรตีนให้กับถั่วเหลือง พบว่าแม้ถั่วเหลืองจะมีคุณค่าของโปรตีนเพิ่มขึ้นจริงแต่ก็พบปริมาณสารบางชนิดในกลุ่ม phytoestrogen ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ใกล้เคียงฮอร์โมนเพศหญิงในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพิ่มมากขึ้น และระดับของ phytoestrogen ที่ตรวจพบก็สูงพอที่จะเป็นอันตรายต่อเด็กทารกได้โดยหลักการ การตัดต่อยีนอยู่บนพื้นฐานของการแทรกตัวของยีนไปต่อเข้ากับพืชอย่างสุ่ม และไม่สามารถระบุตำแหน่งของยีนได้ ผลกระทบอันเกิดจากการตัดต่อยีนชนิดหนึ่งอาจออกมาในรูปที่มิอาจคาดเดาได้เฉกเช่นกับผลของระดับ phytoestrogen ที่เพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ

3.2 โอกาสที่จะก่อให้เกิดภูมิแพ้

ปัจจุบันกฎเกณฑ์ในการตรวจสอบอยู่บนหลักฐานในการตรวจสอบโมเลกุลของสารที่ต้องสงสัยกับตัวอย่างของสารที่มีรายงานผลแล้ว ว่าสามารถก่อให้เกิดภูมิแพ้ 126 ชนิด การตรวจสอบดังกล่าวจัดว่าเป็นเพื่อการทดสอบเบื้องต้นทางวิทยาศาสตร์เพื่อลดความเสี่ยง แต่มิได้หมายความว่าจะปลอดความเสี่ยงจากภูมิแพ้ได้

ในปัจจุบันโรคภูมิแพ้ยังเป็นโรคที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ผลกระทบในรูปของอาการในแต่ละคนก็มีต่างกัน ตัวอย่างของงานทดลองที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงของการใช้พืช GMOs เป็นอาหารในกรณีนี้ได้แก่ การทดลองย้ายยีนจากบราซิลนัทมาใส่ในถั่วเหลืองเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโปรตีน พบว่า ถั่วเหลืองที่ได้รับยีนสร้างสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้จากบราซิลนัทเกิดขึ้น โครงการดังกล่าวจึงได้ระงับไปก่อนที่จะมีการผลิตออกมาจำหน่ายจริง

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าการตัดต่อยีนใดบ้างในลักษณะใดที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ได ้ดังนั้นการระแวดระวังและตรวจสอบก่อนการวางจำหน่าย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3.3 ผลกระทบโดยตรงต่อภูมิคุ้มกัน

ความกังวลในเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภคในประเด็นนี้ถูกจัดให้มีความสำคัญในระดับต้นๆเช่นเดียวกัน การบริโภคโปรตีนที่สร้างขึ้นจากยีนเป้าหมายหรือตัวยีนเป้าหมายเองอาจส่งผลในแง่ลบต่อภูมิคุ้มกันในระยะยาวได้ ตัวอย่างเช่น

ในงานทดลองของ Dr. Pusztai ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการค้นคว้าวิจัยโปรตีนต่างๆในพืชอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะโปรตีนเลคติน (lectin) ซึ่งไม่เป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รายงานผลการทดลองที่ทำขึ้นขณะที่เขายังทำงานอยู่ที่สถาบัน Rowett Research Institute ที่สก๊อตแลนด์ว่า การทดลองให้หนูกินมันฝรั่งดัดแปลงพันธุกรรมที่มีการสร้างเลคติน เปรียบเทียบกันมันฝรั่งปกติที่เพิ่มสารเลคตินในปริมาณเท่ากัน พบว่า หนูชนิดที่ให้มันฝรั่งดัดแปลงพันธุกรรมมีภูมิคุ้มกันลดลง มีอาการบวมของลำไส้และน้ำหนักตัวลดลง ขณะที่ในมันฝรั่งปกติที่เพิ่มสารเลคตินไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบ

ผลการทดลองจะชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะมีความเสี่ยงในการบริโภค GMOs เกิดขึ้น แต่ รายงานของ Dr. Pusztai ก็ได้รับการตำหนิว่าไม่มีความสมบูรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เพราะการเกิดความผิดปกติในหนูอาจเกิดจากการขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนในมันฝรั่งดัดแปลงพันธุกรรมในชุดทดลองมีปริมาณน้อยกว่า 20 % ได้ด้วยเช่นกัน การทดลองยังคงดำเนินการอยู่ต่อไปเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำและเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าผลการทดลองของ Dr. Pusztai จะถูกต้องหรือไม่ อย่างน้อยที่สุดข้อวิจารณ์ต่างๆต่องานของเขาได้กระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ตื่นตัวมาศึกษาความปลอดภัยในแง่การบริโภคมากยิ่งขึ้น

ปกติร่างกายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเมื่อได้รับโมเลกุลแปลกปลอมจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น ตัวอย่างเช่น ในเด็ก วัคซีนโปลิโอ ช่วยให้เด็กต้านทานโรคร้าย เมื่อเด็กได้รับโปรตีนของโปลิโอไวรัสวัคซีนดังกล่าวจะซึมเข้าทางเยื่อบุข้างแก้ม เยื่อบุทางเดินอาหารในส่วนต่างๆ และกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในเด็กในท้ายที่สุด ปกติร่างกายจะตอบสนองต่อโมเลกุลแปลกปลอมตลอดเวลา ที่ผ่านมาอาหารส่วนใหญ่มาจากโมเลกุลธรรมชาติ การบริโภคพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่มีการแสดงออกของยีนใหม่ๆในอนาคตทำให้โอกาสได้รับโมเลกุลแปลกปลอมที่ต่างจากธรรมชาติเพิ่มมากยิ่งขึ้น ที่น่ากลัวคือถ้าโมเลกุลแปลกปลอมมีผลกระทบต่อร่างกายในรูปของพิษสะสมในระยะยาว หรือโมเลกุลแปลกปลอมเหล่านั้นเป็นส่วนของดีเอ็นเอที่ถูกออกแบบมาให้สามารถตัดต่อยีนเข้าสู่สิ่งมีชีวิตต่างชนิดได้โดยง่าย โอกาสที่ผู้บริโภคจะเสี่ยงก็มีสูงยิ่งขึ้น

3.4 ปัญหาการถ่ายทอดยีนจากการบริโภคอาหาร GMOs เข้าสู่ร่ายกายหรือการถ่ายยีนไปยังจุลชีพ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องยีนต้านทานยาปฏิชีวนะ

ในขณะที่สร้างพืชดัดแปลงพันธุกรรม นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะ เช่น ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะคานามัยซิน (Kanamycin) ปัจจุบัน GMOs ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดในปัจจุบันใช้ยีนดังกล่าวถึง 70-80 %

สมาคมการแพทย์แห่งประเทศอังกฤษ (British Medical Association) ได้เสนอให้รัฐบาลอังกฤษยับยั้งการปลูกและการนำเข้าพืชดัดแปลงพันธุกรรม และอาหารที่ทำจากพืชดัดแปลงพันธุกรรมนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าการใช้ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะในการคัดเลือกพืชดัดแปลงพันธุกรรม อาจทำให้มนุษย์และสัตว์ที่บริโภคอาหารที่ทำจากพืชเหล่านี้ไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคได้ต่อไป

ปัญหาของแบคทีเรียดื้อยาในโรงพยาบาลเป็นปัญหาในวงการสาธารณสุขอันหนึ่งที่ยังแก้ไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการสะสมตัวของเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ ในมะเขือเทศ และซอสมะเขือเทศ ที่อนุญาตจำหน่ายเป็นการค้าก็มียีนต้านทานยาปฏิชีวนะคานามัยซิน ซึ่งยาชนิดนี้ปกติใช้รักษาผู้ป่วยโรคปอดทูเบอร์โรโคซิส ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นโรคที่กลับเข้ามามีบทบาทรุนแรงอีกครั้ง

รายงานของ FDA ยืนยันว่าดีเอ็นเอในอาหารดัดแปลงพันธุกรรมไม่สามารถเล็ดลอดจากกระบวนการย่อยสลายของมนุษย์และสัตว์ได้ อย่างไรก็ดีจากการทดลองโดยผสมยีนเข้ากับอาหารให้หนูกิน พบว่ายีนส่วนใหญ่จะถูกย่อยสลายไปในระบบทางเดินอาหารในเวลาไม่กี่นาที แต่ส่วนหนึ่งแม้จะเป็นส่วนน้อยยังคงอยู่ในระบบทางเดินอาหารได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง และสามารถตรวจสอบต่อไปได้แม้ถูกขับออกมาในรูปมูลสัตว์ แม้ว่ายีนดังกล่าวไม่มีผลต่อการชักนำให้แบคทีเรียในทางเดินอาหารของหนูเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม แต่กลับตรวจพบยีนดังกล่าวในเซลเม็ดเลือดขาวและในตัวอ่อนของหนูที่กำลังตั้งครรภ์ การทดลองนี้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริโภคผลิตภัณฑ์จาก GMOs

มีรายงานล่าสุดว่าผึ้งที่เลี้ยงโดยใช้ละอองเรณูจากเกสรเรปซีดที่ได้รับการตัดต่อยีนต้านทานยาปราบวัชพืชมีความเสี่ยงที่จะได้รับยีน โดยเมื่อนำมาศึกษาแบคทีเรียในทางเดินอาหาร จะพบว่า แบคทีเรียและยีสต์ ได้รับยีนต้านทานยาปราบวัชพืชจากอาหารในทางเดินอาหารแม้ว่าจะเกิดขึ้นในอัตราที่ต่ำก็ตาม ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงในการบริโภคในระยะยาว

รายงานในวารสาร Nature ฉบับเดือนพฤษภาคม 2000 ชี้ให้เห็นว่าชิ้นส่วนของยีนในธรรมชาติสามารถกระตุ้นให้แบคทีเรียได้รับยีนและส่งข้ามชนิดของแบคทีเรียได้ ปกติการถ่ายทอดยีนในปัจจุบัน ใช้พาหะออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้ใช้ถ่ายทอดยีนข้ามชนิดของสกุลไปมาระหว่างสิ่งมีชีวิตได้ บนพาหะเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมียีนต้านทานยาปฏิชีวนะ ซึ่งได้จากโมบายอิลิเมนต์ (Mobile element) ที่มีคุณสมบัติแทรกตัวหรือหลุดออกจากชุดของสารพันธุกรรมได้เมื่อมีการแบ่งเซลเสมือนมีการเคลื่อนย้ายไปมาของยีน และแบคทีเรียเองสามารถถ่ายทอดยีนไปมาโดยกระบวนการคอนจูเกชั่นที่แลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมทางท่อที่สร้างขึ้นขณะเซลแบคทีเรียมาเกาะตัวกัน การเกิดรีคอมบิเนชั่น ยอมให้มีการสลับสับเปลี่ยนสารพันธุกรรมไปมา เป็นกลไกอีกอันหนึ่งที่ทำให้ความกังวลเรื่องการแพร่กระจายตัวของยีนต้านทานยาปฏิชีวนะมีสูงยิ่งขึ้น

แม้ว่าในปัจจุบันมีการวิจัยหายีนที่ช่วยในการคัดเลือกทดแทนยีนต้านทานยาปฏิชีวนะในรูปยีนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากน้ำตาลแมนโนส (Positech TM) แต่พืช GMOs ส่วนใหญ่ในท้องตลาดยังคงเป็นพืชรุ่นเก่าที่ใช้ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะคานามัยซิน

3.5 ผลกระทบอื่น

นอกจากผลกระทบในแง่สุขภาพพลานามัยแล้ว ผลกระทบที่สำคัญต่อการนำพืช GMOs มาประยุกต์ใช้ ยังส่งผลถึงสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศน์ และวิวัฒนาการในระยะยาวอีกด้วย

มีคำถามมากมายที่เกี่ยวข้องถึงผลกระทบด้านความปลอดภัย ความเสี่ยง และวิวัฒนาการ ที่อาจได้รับผลกระทบที่ยังไม่มีคำตอบ คำถามเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยสูงสุด มิใช่อยู่บนพื้นฐานของกฎเศรษฐศาสตร์ที่ชั่งน้ำหนักผลได้มากกว่าผลเสียเท่านั้น

แม้ว่าในปัจจุบันมีการพูดกันมากถึงประเด็น Low risk Absolutely low risk หรือ No risk ก็ตาม สำหรับมนุษย์ชาติ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ แล้วประเด็นสำคัญคือความปลอดภัยสูงสุด

คำถามภายใต้ความเสี่ยงที่ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปได้ว่าปลอดภัยจริง ได้แก่ ความไม่รู้ว่า

1) ยีนที่ตัดต่อเข้าไปนั้นมีผลต่อความหลากหลายทางชนิดและพันธุกรรม ในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร การตัดต่อยีน Bt toxin เพียงยีนเดียวเกิดผลกระทบต่อแมลงหลายชนิดที่พิสูจน์ได้ ผลดังกล่าวจะกระทบต่อการคงอยู่ของประชากรของแต่ละชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตนั้นโดยตรง

2) จะเกิดวิวัฒนาการในระดับยีนของสิ่งมีชีวิตในระดับอนูย่อยที่เรียกว่า นาโนอีโคซิสเต็ม (nano ecosystem) และระดับมหภาค (macro ecosystem) หรือไม่ การถ่ายทอดยีนของสิ่งมีชีวิต ทั้งในแนวระนาบและแนวตั้งในระยะยาวยังคงเป็นประเด็นปัญหาที่ยังต้องรอคอยคำตอบ การถ่ายทอดยีนข้ามกลุ่มของสิ่งมีชีวิต (Taxa) ยีนเหล่านี้จะวิวัฒนาการข้ามกำแพงชนิดพันธุ์ทางธรรมชาติ (Species barrier) ทำให้เกิดการคัดเลือกที่ผิดไปจากธรรมชาติ เช่น ในข้าวโพดที่มียีน Bt toxin อาจทำให้แมลงปรับตัวตาม และมีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชนิดของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลงไปได้ และในแง่ร้ายอาจทำให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจต้องสูญพันธุ์ไปได้เลยทีเดียว การมองข้ามผลของยีนและสภาพแวดล้อมร่วมกันโดยเจตนาใส่ยีนเหมือนใส่โปรแกรมเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ทำงานนั้นมีผลเสียหรือไม่อย่างไร และคำถามที่สำคัญที่สุดคือ เจตนาที่จะบังคับธรรมชาติโดยการใส่ยีนโน้นยีนนี้เสมือนการบังคับให้เกิดวิวัฒนาการไปตามความต้องการทางเศรษฐศาสตร์ มากกว่าความต้องการทางธรรมชาติในรูปความพร้อมในตัวของสิ่งมีชีวิตเอง ที่เรียกว่า biological fitness เป็นเจตนาดีจริงหรือ ?

แม้ว่าการตัดต่อยีนสร้างพืชดัดแปลงพันธุกรรม จะเปิดโอกาสให้มนุษย์นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างหลักประกันทางปัจจัยสี่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาหารและสุขภาพได้ โดยที่ประโยชน์ของตัวเทคโนโลยีที่มีอยู่สูงจะเป็นที่ยอมรับแล้วก็ตาม แต่เงื่อนไขทางด้านความเสี่ยงในปัจจุบันทำให้ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าจะไม่เกิดความผิดพลาดขึ้น จึงเป็นประเด็นเงื่อนไขของเวลามากกว่า

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลในหลายๆ ประเทศที่มีความเป็นห่วงเป็นใยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมของเขา จึงลงเอยด้วยการตัดสินใจให้ความรู้แก่ประชาชน และให้ทางเลือกแก่ประชาชนในการรับรู้เพื่อตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับผลิตภัณฑ์จาก GMOs ในขณะนี้ได้

4. สถานการณ์ GMOs ในปัจจุบัน

จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภค พบว่า 97% ของคนยุโรปต้องการให้มีการระบุฉลากอย่างชัดเจน 85% ไม่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ GMOs ในสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจโดยนิตยสาร Time เมื่อเดือนมกราคมพบว่า 81% ของคนอเมริกันต้องการให้มีการติดฉลาก GMOs

กระแสการต่อต้านสินค้า GMOs ที่มีความรุนแรงในทวีปยุโรปเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดกระแสต่อต้านในเอเชีย และสหรัฐอเมริกาตามมา ปัจจุบันผู้ซื้อต่างเสนอและเรียกร้องขอหลักฐานเพื่อแสดงความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้ต่อรองทางการค้านั้นเป็น Non-GMOs มากขึ้น และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของความต้องการระบบตรวจสอบและให้หลักประกันเพื่อยืนยันและให้ความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็น Non-GMOs นั้นจะเก็บแยกออกจาก GMOs พร้อมๆ กับมีผลรับรองทางวิทยาศาสตร์กำกับ

ผู้ผลิตอาหารหลักเช่น Hain Food Group Inc Gerber and Heinz Pepsi Co’s Frito-lay Unilever ต่างก็เริ่มกำหนดนโยบายไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ GMOs ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาเองเริ่มมีนโยบายหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีส่วนประกอบ GMOs ห้างเหล่านั้นได้แก่ TESCO Mark & Spencers Sainbury’s Asda Migros Co-op ประเทศในสหภาพยุโรปมีข้อกำหนดให้ติดฉลากสินค้าที่มีเปอร์เซ็นต์ GMOs เกิน 1 % และอนุญาตให้นำเข้าเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น ขณะที่เกาหลีและญี่ปุ่นกำหนดมาตรฐานไว้ที่ 3 % และ 5 % ตามลำดับ

จากแนวโน้มดังกล่าว ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการต่างๆ รวมทั้งเกษตรกรไทยควรจะมองแนวโน้มนี้ให้ออก เพื่อการวางแผนการผลิต การส่งออก และการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบที่สำคัญได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เช่น ซอสมะเขือเทศ ที่สำคัญจากแหล่งหลัก คือ สหรัฐอเมริกา อาเจนตินา บราซิล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็น GMOs ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัตถุดิบต้นตอในห่วงโซ่อาหารแปรรูป

อาหารเหล่านี้เริ่มเข้ามาปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารที่บริโภคภายในประเทศมากขึ้น จากการสุ่มตัวอย่างถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่วางขายในเขตกรุงเทพมหานครปนเปื้อนด้วยถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมในสัดส่วนที่สูง ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบได้แก่ ถั่วเหลืองบรรจุถุง 1 กิโลกรัม เต้าหู้แข็งปราศจากบรรจุภัณฑ์ เต้าหู้อ่อน น้ำนมถั่วเหลือง และน้ำนมถั่วเหลืองบรรจุขวด และมีแนวโน้มว่าจะมีการแพร่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆในประเทศ นอกจากนี้ยังพบถั่วเหลืองพันธุ์พื้นเมือง มีโอกาสปนเปื้อนด้วยพันธุ์ GMOs ในสัดส่วนที่สูงด้วย

5.  เสถียรภาพและความมั่นคงในอาหาร

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร มีการพัฒนาเก็บรักษาพันธุ์พืชเป็นของตัวเอง และเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรจากธรรมชาติ นอกจากนี้เสถียรภาพในการผลิตทำให้เราสามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องนำเข้าอาหารในปริมาณที่มาก ในปัจจุบันขณะที่กระแสการต่อต้านอาหารดัดแปลงพันธุกรรมในยุโรปและหลายประเทศในเอเชียมีอยู่สูงขึ้นทุกขณะ ทำให้ราคาผลผลิตที่เป็นผลผลิตเกษตรธรรมชาติมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ประเด็นเหล่านี้ทำให้ไทยสามารถฉวยโอกาสประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรของไทยได้

วิธีการอย่างง่ายในการทำให้ผู้ซื้อมั่นใจ ได้แก่ การนำระบบการผลิตที่มีมาตรฐานเข้ามาประยุกต์ใช้ในการผลิต กล่าวคือ เกษตรกรจำเป็นต้องมีหลักฐานในเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ ภาครัฐบาลอาจจะต้องเข้ามากำกับดูแลว่าเมล็ดพันธุ์ปราศจาก GMOs มีบันทึกแหล่งเมล็ดพันธุ์ วันที่ปลูก แปลงปลูก ที่แยกตัว การใส่ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง การเก็บเกี่ยวแยกไม่ปะปน ขั้นตอนเหล่านี้ดูเหมือนยุ่งยากเนื่องจากไม่คุ้นเคยแต่ในความเป็นจริงสามารถทำได้โดยง่าย

ในภาคการผลิตให้มีข้อมูลแหล่งวัตถุดิบที่ซื้อ ผลการตรวจสอบวัตถุดิบนั้น (ถ้ามาจากพืชที่ใช้เมล็ดพันธุ์ปลอด GMOs อาจจะใช้ระบบคุณภาพทดแทนการตรวจสอบ) การขนย้ายที่แยกวัตถุดิบออกจากแหล่งวัตถุดิบแหล่งอื่น การจัดการในโกดังเก็บ แต่ละขั้นตอนมีการบันทึกที่สามารถตรวจค้นที่มาที่ไปได้และมีผู้รับผิดชอบตลอดเวลา ขณะผลิตมีการจดบันทึกและตรวจสอบตั้งแต่จุดเริ่มจนเสร็จสิ้นกระบวนการ

การทำเช่นนี้ความจริงแล้วเป็นการนำเอาระบบ Tracibility เข้ามาใช้ ซึ่งเป็นการสร้างหลักประกันให้กับผู้ซื้อได้ โดยที่ต้นทุนในแง่การลงทุนเพิ่มในการซื้อเทคโนโลยีและเครื่องจักรไม่มี เพียงแต่เสียเวลาและกำลังคนในการจัดระบบงานตรวจสอบบันทึก งานวางระบบทั้งหมด ให้เป็นระเบียบแบบแผนเท่านั้น การเพิ่มขั้นตอนดังกล่าวทำให้ผู้ซื้อมั่นใจในสินค้าส่งผลต่อการเพิ่มยอดขายได้ในทางอ้อม การนำระบบ Tracibility มาใช้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการจัดการให้เป็นระบบเท่านั้น ขณะการตรวจวัตถุดิบจริงจะทำเพียงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ซึ่งเป็นการประหยัดค่าการสุ่มตรวจมากกว่าการสุ่มตรวจโดยไม่มีการปรับปรุงระบบที่ทำกันในปัจจุบัน สำหรับการตรวจสอบว่าอาหารใดเป็น GMOs นั้น ภาครัฐควรจะเข้ามามีบทบาทให้การสนับสนุน ทั้งในระดับการให้ความรู้ หรือการจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบ หรืออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบกับหน่วยงานที่ให้บริการ ซึ่งจะทำให้ระบบมีความเป็นไปได้ ระบบดังกล่าวควรเร่งจัดทำให้ครอบคลุมระบบการผลิตหลายๆผลิตภัณฑ์ที่จำป็นต้องออกใบรับรองอย่างเร่งด่วน เช่น ในผลิตภัณฑ์ผลไม้ สมุนไพร เนื้อปลา อาหารทะเลต่างๆ ที่เป็นอาหารปลอด GMOs สำหรับบ้านเรา

นอกจากนี้ประเทศไทยควรจะดำรงสถานะความเป็นผู้ผลิตสินค้าปลอด GMOs โดยเริ่มจากการสงวนและผลิตพันธุ์ที่เป็น non-GMO ที่มีการตรวจสอบและมีใบรับประกัน

การควบคุมและระแวดระวังไม่ให้มีการนำพันธุ์พืช GMOs เข้ามาใช้เป็นหนทางที่ดีที่สุดในขณะนี้ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยมีวิธีทำเขตกรรมที่ต่างไปจากประเทศสหรัฐอเมริกา การควบคุมไม่ให้เกิดการปนเปื้อนระหว่างสายพันธุ์ทำได้ยากมาก การป้องกันโดยการควบคุมจะดีกว่าการยอมให้มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ GMOs และปล่อยให้เกิดเป็นปัญหาในอนาคตได้ สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ประเทศไทยควรเลือกหนทางในการผลิตทั้งวัตถุดิบการเกษตรและอาหารในลักษณะปลอด GMOs นอกจากจะเป็นการรักษาเสถียรภาพในการผลิตอาหารในระยะยาวแล้ว ยังเพิ่มความมั่นคงให้กับภาคการผลิต และภาคการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปอีกด้วย ซึ่งจะสอดคล้องกับกระแสการควบคุมสินค้า GMOs ในหลายๆประเทศ ผลดังกล่าวจะช่วยลดแรงกดดันในแง่ของการกีดกันทางการค้าระยะยาวได้

สำหรับผู้บริโภคในประเทศ การให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ GMOs อย่างเป็นระบบเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างวุฒิภาวะในการทำความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีใหม่นี้ การให้ความรู้อย่างเป็นระบบจะช่วยให้ผู้บริโภคลดความตื่นกลัว และทำความเข้าใจกับผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้างความมั่นใจและเพิ่มทางเลือกโดยการออกกฏควบคุมติดฉลากผลิตภัณฑ์ GMOs เพื่อให้ผู้บริโภคมีสิทธิรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และเลือกบริโภคได้

สรุป

สินค้า GMOs เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันโดยการเข้ามาปะปนในห่วงโซ่อาหารมากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เริ่มศึกษาความปลอดภัยในสินค้า GMOs มากยิ่งขึ้น และเริ่มมีรายงานผลทั้งในแง่บวกและลบหลายกรณี แม้จะเชื่อมโยงได้ว่าสินค้า GMOs นั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยง แต่การพิสูจน์ในแต่ละกรณียังต้องใช้เวลา ขณะเดียวกันไม่สามารถระบุได้ว่าสินค้า GMOs ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการพิจารณาสินค้า GMOs จึงต้องศึกษาเป็นรายกรณีไป อย่างไรก็ดีสำหรับผู้บริโภคและผู้ผลิตในประเทศไทย การบริโภคและสนองตอบผู้บริโภคที่ปราศจากความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ขณะเดียวกันต้องให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร GMOs นี้ เพื่อให้เข้าใจและเท่าทันในเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในปัจจุบัน เพื่อก่อให้เกิดการผลิตที่ปลอดภัยและยั่งยืน ซึ่งเป็นผลดีต่อประเทศในอนาคต

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Anonymous. 2000. Scientist finds evidence that bee bacteria have mutated, GM gene “can jump species”. http:// www. Freespeech . Org/ incite/apecen.htm.

  2. Butler, D. 1996. EU Urges National Action to Police Imports of Genetically Altered Maize. Nature. 384: 502-503.

  3. FAO/WHO. 1996. Biotechnology and food safety. FAO Food and Nutrition Paper 61, A Report on a Joint Consultation of the Food and Agriculture Organization of the United Nations and World Health Organization, Rome, Italy, Sept. 30-Oct.4.

  4. James, C.; Krattiger, A. F. 1996. Global Review of the Field Testing and Commercialization of Transgenic Plants. 1986-1995: The First Decade of Crop Biotechnology. ISAAA Briefs No. 1. ISAAA: Ithca, NY. pp. 31.

  5. Meyer, P; 1995. Understanding and Controlling Transgene expression. Trends in Biotechnology. 13: 332-337.

  6. Wilkinson, J. Q. 1997. Biotech plants : From Lab Bench to Supermaket Shelf. Food Technol. 51(12): 37-42.

  7. ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์. 2543. GMOs ฉบับผู้ประกอบการ. การสัมมนามาตรการและข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารของประเทศในทวีปยุโรป ระหว่างวันที่ 14-15 มีนาคม 2543 ณ ห้องประชุมใหญ่ สถาบันฝึกอบรมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก

  8. ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์. 2543. การสร้างสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและประเด็นปัญหา. เอกสารประกอบการประชุมสัมมนางานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 16 สิงหาคม 2543 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร