บทความพิเศษ

แกะรอยแม่โพสพ

วรรณา นาวิกมูล

จากหนังสือ : ข้าวในศิลปะและวัฒนธรรม (เอกสารเผยแพร่ลำดับที่ 1 ของมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2544)

ความรู้เบื้องแรกเรื่องแม่โพสพ
         ผู้เขียนเป็นคนกรุงเทพฯ เมื่อเป็นเด็กน้อยแม่สอนว่า อย่ากินข้าวเหลือนะลูก แม่โพสพจะเสียใจ อย่าเหยียบเมล็ดข้าวที่ตกอยู่บน พื้นนะลูกแม่โพสพจะโกรธ หากพลั้งเท้าเหยียบลงบนเมล็ดข้าวแล้ว ให้ลูกขอขมาแม่โพสพเสีย
         แม้แม่จะไม่ได้เล่าตำนานข้าวให้ฟัง แต่ชื่อแม่โพสพก็ได้ฝังใจมาแต่ครั้งนั้นว่าท่านเป็นเทวดารักษาข้าว มีพระคุณต่อเราเพราะ ให้ข้าวเรากิน เราจึงพึงเกรงใจและเกรงกลัว
         เมื่อเติบใหญ่ได้เรียนวิชาก็รู้ทันว่าแม่โพสพเป็นหนึ่งในกลวิธีแปลงนามธรรมเป็นรูปธรรมที่แยบยลเช่นเดียวกันกับแม่ธรณี เช่นเดียวกับพญามารและธิดาพญามาร ฯลฯ เป็นบุคลาธิษฐาน (personification) สร้างขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ เพื่อให้คนเชื่อมโยงตนเองกับธรรมชาติได้ เพื่อให้คนเรียนรู้หรือรับรู้อำนาจของธรรมชาติทั้งภายนอกและภายในจิตใจของตนได้ง่ายขึ้น
         ด้วยคำสอนเรื่องข้าวกับแม่โพสพของแม่ แม่สอนให้ลูกเข้าใจว่าข้าวที่ให้ชีวิตแก่เราก็มีชีวิต สอนให้ลูกเป็นคนรู้คุณ รู้อ่อนน้อมถ่อมตน และรู้ประหยัดอดออม
         บุคลาธิษฐานปรากฏในเรื่องเล่าที่เนื่องด้วยความเชื่อต่างๆ มีอยู่มากมายมหาศาลมาแต่โบราณกาลในทุกกลุ่มชน
         ยิ่งเรื่องที่สัมพันธ์กับข้าวปลาอาหารอย่างเรื่องแม่โพสพนี้ด้วยแล้ว ยิ่งขาดเสียไม่ได้
         แม้โดยทั่วไปบุคลาธิษฐานในความเชื่อของกลุ่มชนในสังคมเมืองจะซับซ้อนแนบเนียนกว่าในความเชื่อของกลุ่มชนในสังคมพื้นบ้าน แต่เมื่อสืบสาวแล้วก็มักจะพบว่าต้นเค้าความคิดไม่ต่างกันนักและบ่อยครั้งมีการประสมต้นความคิดที่เคยมีเข้ากับเรื่องที่เพิ่งได้รับรู้ เกิดเป็นเรื่องเก่าสำนวนใหม่ที่แตกกิ่งก้านเพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปอีกนานัปการ ดังกรณีแม่โพสพของเรา

แม่โพสพในวิถีไท-ไทยแต่ไรมา
         การมีเทวดาเพื่อปกป้องคุ้มครองตนและทุกสรรพสิ่งรอบตนของมนุษย์เป็นเรื่องธรรมชาติ มีมาก่อนการประกาศศาสนาใดในโลก และแม้จนเมื่อศาสนาได้รับการประกาศแล้ว ตั้งมั่นแล้วหลายศาสนาก็ตามที แม้จนเมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพิสูจน์แล้วว่า ที่ตั้งของสวรรค์นั้นเป็นเพียงเวิ้งอวกาศอันว่างโล่ง ดวงดาวที่วาวแวมแจ่มใสเป็นเพียงเทหวัตถุที่แขวนลอยอยู่ในอวกาศก็ตามที มนุษย์ก็ยังแอบเก็บเทวดาเอาไว้ในใจอย่างซ่อนเร้นบ้าง สุดแต่ภูมิหลังและภูมิปัจจุบันจะน้อมนำ
         จากการศึกษานิทาน-ตำนานข้าวตลอดจนพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวของกลุ่มชนในประเทศไทย และดินแดนใกล้เคียง พบว่าแม่โพสพ เป็นเทวดาสามัญประจำท้องนาและยุ้งฉางของชนชาติไทซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ปลูกข้าวกินมานานนับพันๆ ปี
กล่าวเฉพาะในประเทศไทย ชาวนาทุกภาค ทั้งที่เป็นชนกลุ่มใหญ่และน้อย รู้เรื่องแม่โพสพและบูชาแม่โพสพด้วยกัน ทั้งนั้น จะปลูกข้าว จะเกี่ยวข้าว จะนวดข้าว จะเก็บข้าว จะกินข้าว จะขายข้าว ต้องเชิญขวัญ บอกกล่าวแม่โพสพให้จงดี การบอกกล่าวอาจว่าไปตามสะดวก ปากผู้ทำพิธีในกรณี ทำพิธีเองอย่างง่าย ต่างคนต่างทำในที่นาของตัวเอง ไปถึงชั้นร่ายบททำขวัญว่าคาถาเต็มยศในกรณีเป็นพิธีกรรม ใหญ่ของชุมชน
         ได้มีผู้รวบรวมคาถาและบททำขวัญเนื่องด้วยแม่โพสพและการทำนาพิมพ์เป็นเล่มเอาไว้มากรายด้วยกัน เช่น ประชุมเชิญขวัญ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรวบรวมจากหนังสือคำเชิญขวัญของเก่าซึ่งมีต้นฉบับอยู่ในหอ
พระสมุดวชิรญาณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2461 และได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง ตลอดจนดูเหมือนจะเป็นต้นฉบับให้แก่หนังสือ ทำขวัญต่างๆ ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ (โรงพิมพ์วัดเกาะ) พิมพ์ขายเมื่อ พ.ศ. 2511 ซึ่งมีบททำขวัญนาสำนวนพระยาไชยวิชิต (เผือก) ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชมไว้ในพระนิพนธ์คำนำหนังสือประชุมเชิญขวัญว่า "แต่งดีนักหนา"
         พิธีทำขวัญต่างๆ และแหล่ภาคกลาง ภาคอีสาน รวบรวมโดย มหาทองใบ ปฏิภาโณ (2525)
         ตำราสูตรขวัญโบราณต่างๆ รวบรวมโดย จ.เปรียญ (2532) ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมากตั้งแต่หน้า 29-46 ว่าด้วยเรื่องของการทำนา มีตั้งแต่คาถาแฮกนาขวัญ คาถาเสกน้ำมนต์รดข้าวปลูก คำเสกข้าวแฮกเวลาจะปักกกแฮก (เอ่ยเรียกปู่ข้าวเอย ย่าข้าวเอย...) คาถาปักแฮก คาถาถากล้านข้าว สู่ขวัญข้าวขึ้นลาน สู่ขวัญข้าวขึ้นเล้า คำเรียกขวัญข้าว (เอ่ยชื่อแม่โพสพเพียงครั้งเดียว ในตอนนี้ว่าขออัญเชิญ แม่โพสพ แม่พระนารา แม่พระสีดานารี สีสนไชย คัจฉะถะจะเสด็จไปอยู่เล้าพื้นแป้นหญ้าแฝกมุงนา...) ไปจนถึงการสู่ขวัญควายและวัว
         บททำขวัญที่มีผู้รวบรวมไว้มีเนื้อหาเป็นแบบฉบับใกล้เคียงกัน
         ผู้สนใจรายละเอียดพิธีกรรม โปรดอ่านจากบทความเรื่อง "ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม และคติชาวบ้านเกี่ยวกับข้าว" ของ รศ.ดร. งามพิศ สัตย์สงวน พิมพ์รวมกับบทความจากการวิจัยวัฒนธรรมข้าวเรื่องอื่นๆ ในหนังสือ ข้าวกับวิถีไทย และบทความเรื่อง "ผี้บื้อโย" ของ วุฒิ บุญเลิศ ในวารสาร เมืองโบราณ ฉบับเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2536
         เมื่อพิจารณารายละเอียดในการปฏิบัติต่อแม่โพสพจะเห็นถึงความชิดเชื้อระหว่างชาวนากับแม่โพสพ และเห็นว่าความรู้สึกที่ ชาวนามีต่อแม่โพสพกระเดียดไปในทางเกรงใจเพราะรักและห่วงใยมากกว่าเกรงกลัว เช่น เมื่อข้าวเริ่มจะตกรวง ชาวนาว่าข้าวตั้งท้อง ต้องรับขวัญแม่โพสพ นำเอาเครื่องเซ่นไปวางที่ศาลเพียงตาหรือใส่ชะลอมไปผูกห้อยที่คันธงกลางนา องค์ประกอบของเครื่องเซ่น นอกจากข้าวปลาอาหาร กล้วย อ้อย ถั่ว งา ตามธรรมเนียมแล้วยังมีผลไม้รสเปรี้ยวพร้อมทั้งกระจก แป้ง หวี เสื้อผ้า เครื่องหอม อีกต่างหาก

  เรื่องของแม่โพสพสำนวนต่างๆ ที่มีผู้รวบรวมไว้ เช่น ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีโครงเรื่องและรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ในบทความชื่อ "แม่โพสพ เทวีแห่งข้าว" ในหนังสือ ข้าวกับวิถีไทย รศ. สุกัญญา ภัทราชัย ได้แบ่งกลุ่มตามความคล้ายคลึงของโครงเรื่องไว้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคกลางและภาคใต้ กับ กลุ่มภาคเหนือและภาคอีสาน
        จากตำนานแม่โพสพที่เล่าขานกันมาช้านานพอสรุปคุณสมบัติเด่นของแม่โพสพได้ว่าเป็นหญิงใจน้อย เมื่อรู้สึกว่ามนุษย์ ประพฤติตน ไม่ควรแก่ความเมตตากรุณาของตนทีไรก็จะผลุนผลันหนีหายไปทีนั้น ปล่อยให้มนุษย์อดอยากยากแค้นเสียให้เข็ด แต่เนื่องจากมีความใจดีเป็นทุนอยู่ เมื่อมีผู้ไปอ้อนวอนก็จะกลับมาเลี้ยงดูมนุษย์ให้มีข้าวกินเหมือนเดิม นิทานเรื่องแม่โพสพนี้จึงสอนว่า จงอย่าลบหลู่แม่โพสพ และหากพูด (ทำ) ผิดก็สามารถพูด (ทำ) ใหม่ (ให้ถูกต้อง) ได้
        ในเทพปกรณัมกรีก เทวดาเนื่องด้วยอาหารก็เป็นหญิง ชื่อว่าดีมีเตอร์ (Demeter) หรือเรียกในฉบับละตินว่า ซีเรส (Ceres) เป็นเทวีรักษาข้าวโพด นางก็เคยทิ้งให้โลกแห้งแล้งเพาะปลูกอะไรกินไม่ได้ผลเหมือนกัน เมื่อนางโทมนัสใจเพราะออกติดตามธิดาสาวสุดที่รักที่ถูกเทพเฮเดส (Hades) แห่งบาดาลลักพาตัวไปแล้วไม่พบ ร้อนถึงจอมเทพซุส (Zeus) ต้องลงมาประนอมความให้นางได้ลูกสาวคืนกึ่งหนึ่งของเวลา ส่วนอีกกึ่งหนึ่งต้องแบ่งให้เฮเดสซึ่งเปลี่ยนสถานภาพเป็น ลูกเขยของนางไปแล้ว
        การเกิดภาวะแห้งแล้งอดอยากที่กล่าวถึงในตำนานเทพแห่งข้าวหรือธัญพืชน่าจะปรากฏในนิทานพื้นบ้านของชาติพันธุ์อื่นๆ อีก เพราะจากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าเกิดภาวะแห้งแล้งทั่วโลกในยุคที่เป็นรอยต่อระหว่างการดำรงชีวิตแบบล่าสัตว์-เก็บหาของป่ากับแบบเกษตรกรรมเมื่อราว 30,000 - 10,000 ปีที่ผ่านมา

วรรณกรรมพื้นบ้านมีแม่โพสพ แม่โคสก พ่อโพสพ พ่อโพสี
        การโยงข้าวปลาอาหารกับผู้หญิงดูเป็นเรื่องของสามัญสำนึก อย่างไรก็ตามชาวบ้านปักษ์ใต้มีเทวดาชายคู่กับเทวดาหญิงด้วย
        ในสมุดไทยอันเป็นตำราว่าด้วยพิธีกรรมในการทำนาที่ ผศ. เอี่ยม ทองดี แห่งสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนา ชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บรักษาไว้ มีพ่อโพสพคู่กับแม่โพสพ ทั้งภาพวาดและลายลักษณ์ อาจารย์เอี่ยมท่านว่าในบางที่เป็น พ่อโพสีกับแม่โพสพ
        เทวดารักษาข้าวที่เป็นชายมาจากไหน ค่อยว่ากันภายหลัง
        ขณะนี้ขอหมายเหตุไว้ก่อนว่าชื่อที่ออกเสียงเดียวกับ โพสพ มีผู้สะกดอย่างอื่น เช่น โพสบ และโภสพ และยังมีที่ออกเสียงกับ เขียนว่า โคสก ด้วย ในสมุดข่อยของอาจารย์เอี่ยมเขียนว่า ไพสบ อีกอย่าง
        ชื่อที่เพี้ยนกันไปต่างๆ เช่นนี้ถือว่าเป็นธรรมชาติของมุขปาฐะ
        บุญชื่น ชัยรัตน์ อธิบายไว้ในคำ แม่โคสก หน้า 5318 - 20 ของสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ ดังนี้
        ธัมม์หรือคัมภีร์เรื่องแม่โคสกนี้เห็นว่าน่าจะมาจากเรื่องแม่โพสพของภาคกลาง ซึ่งจะมีการเขียนอักษร "พ" เคลื่อนไปเป็นอักษร "ค" และการใช้ "ก" สะกดนั้นพบว่ามีการกลายเป็น "บ" สะกดดังพบได้จากการเขียน "มณฑป มณฑก" เป็นต้น

        โดยสรุป โพสพ โภสพ โคสก ไพสบ เป็นเทวดาหญิงองค์เดียวกัน ส่วนพ่อโพสพ (พ่อไพสบ) พ่อโพสี จะเป็นบุคลาธิษฐานรุ่นหลังของคนปักษ์ใต้เหมือนคนอีสานบางพื้นที่สร้างศาลแม่ย่าคู่กับศาลปู่ตาในดอนหรือป่าปู่ตาหรือไม่ คงยังต้องสอบสวนกันต่อไป

วรรณคดีหลวงมีพระไพศภ พระไพศพ พระไพสพ
        ใน ทวาทศมาส วรรณคดีไทยแต่งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น อายุกว่า 500 ปี มีการออกชื่อเทวดาองค์หนึ่งไว้สองครั้ง ความว่า


        เจ็บงำงายแก้วพราก                             พลด้ดแด พี่นา
        ฤาเทพไพศภลวง                                 แม่ผ้าย
        ไตรฤทธิบ่เล็งแล                                  ไตรโลก นี้ฤา
        จำพี่ร้อนรนหว้าย                                 โคกศัลย
และ
        เสร็จส่งงไพศพสิ้น                              สารสุด
        เพลองฉี่ใบบัววบ้ง                               ห้วยแห้ง
        ว่าววางกระลาบุษย                              พนิกาศ
        โอ้อุทรทรวงแล้ง                                 ล่นนลิว

        จะสะกดเป็น ไพศภ หรือ ไพศพ ก็เป็นชื่อเทวดาที่ได้รับการพาดพิงในวาระที่กวีกำลังพรรณนาถึงความรันทดอันเกิดแต่การพลัดพรากจากนางที่รักเมื่อย่างเข้าเดือนสาม และด้วยเหตุที่กวียึดพิธีกรรมเป็นตัวตั้งในการพรรณนา พิธีที่เอ่ยถึงคือพิธีส่งพระไพศพ หรือพิธีเผาข้าว (ธานยเทาะห์ หรือ ธัญเทาะห์) ซึ่งเป็นพระราชพิธีกระทำในเดือนสาม เป็นเตรียมพร้อมสำหรับการทำนาในปีใหม่
        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยไว้ในบทพระราชนิพนธ์ พระราชพิธีสิบสองเดือน ว่า "...การพิธีเผาข้าวนี้เป็นการคู่กันกับพิธีจรดพระนังคัลเพื่อให้เป็นการสวัสดิมงคลแก่ธัญญาหาร..."
        นอกจากนี้ยังมีวรรณคดีอีกเรื่องหนึ่ง ที่กล่าวถึงพระไพศพไว้ คือ ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ ชื่อว่า อธิไท้โพธิบาท ว่าด้วยอุบาทว์และการแก้อุบาทว์เทวดารักษาทิศทั้ง 8 ทิศ (เทวดารักษาทิศเป็นเทวดาคนละชุดกับเทวดาประจำทิศ) เป็นจารึกในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ความคิดเรื่องอุบาทว์และการแก้อุบาทว์เป็นความคิดที่มีมาแต่โบราณกาล ในที่นี้ขอคัดมาเฉพาะ อุบาทว์พระไพสพซึ่งเป็นเทวดารักษาทิศอีสาน เพื่อให้เห็นว่าเหตุการณ์อาเพทที่เมื่อเกิดแล้วต้องแก้อาเพท กับพระไพสพหลายอย่าง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ไร่นา จารึกตอนนี้มีใจความว่า

            หนึ่งผ้าแพรภูษาภรณ์    
ใช่ที่หนูฟอน
และหนูมากัดอัศจรรย์               
            หนึ่งผ้าแพรภูษาสรรพ์                 
บมิพอเพลิงพรรณ
จะไหม้และไหม้วู่วาม
            ทำนาได้เข้ามากคาม                        
ยิ่งนักบมิตาม
รบอบอันชอบไร่นา       
            ดินลาทึบได้เตลา                             
มากพ้นอัตรา
ทำนุทำเนียมโบราณ
            ธัญญาตำได้ตันทลาน                        
มากหลายเหลือการ    
เป็นวิปริตผิดครอง
            หนึ่งอยู่พ้นเออ้นเงินทอง                   
มักตกเนื่องนอง
ในเรือนพันเออนมักหาย  
            หนึ่งถุนเรือนโรงทั้งหลาย                 
ใช่ที่เต่าหมาย
แลเต่าวู่วามคลานมา
            เข้าถุนคลานขึ้นเคหา                         
หนึ่งแมวมายา     
มาคลอดในแท่นนิทไทร
            หนึ่งเข้าสารแซ่งออกใบ                     
หนึ่งบ่อน้ำใน
จรเข้มาผุดอัศจรรย์          
            หนึ่งเสาโรงเรือนตกมัน                     
หนึ่งบัวสัตตบรรณ        
มางอกในบ้านบนดอน
            หนึ่งเต่าพาบน้ำมามรณ์                     
ในถุนซอกซอน      
หนึ่งครังประอุกทำลาย
            อุบาทว์พระไพสพหมาย                       
แก่คนทั้งหลาย   
ฉะเพาะผู้เคราะห์ราวี
            เร่งแต่งบูชาจงดี                                
เข้าบิ้นใบศรี   
บันจงทุกสิ่งสุปเพียญชน์             
            ผลผลาปายาสธูปเทียน                       
บุษบาบัวเผื่อน   
พิกุลไกรจำปา 
            สุรภีวรรดีมลิลา                                 
แก้วแหวนนานา    
สุพรรณแพรเพริศพราย                  
            ภูษาลังกาภรณ์ถวาย                             
ด้วยพระมนตร์หมาย             
ฉะเพาะพระองค์ไพสพ
            จงตั้งงใจใสสุทธนบ                          
ภักดีคำรพ
บพิตรพระปราณี
            อุบาทว์ขาดร้ายราวี                       
โรคาราคี
คำนับทั้งปวงเหือดหาย
            อยู่เย็นเป็นสุขสบาย                            
สมบูรณ์พูนกาย
ภิรมยศรีศุภผล
            ในลักษณอักษรพระมนตร์                  
อาจารย์นิพนธ์
ดังนี้อย่าได้สงสัย ฯ
       
            ปิดท้ายด้วยคาถา "บูชาแก้อุบาทว์พระไพสพ" ดังนี้
            โอม อิสานทิสไพสพเทวต้า สหคณปริวารา
อาคัจฉันตุ ปริภุญชันตุ สวาหาย ฯ
            โอม สัพพอุปาทว สัพพทุกข สัพพโสก
สัพพโรคันตราย วินาสาย สัพพศัตรู ปมุจจติ ฯ
            โอม ไพสพเทวตา สทารักขันตุ สวาห สวาหา
สวาหาย ฯ

รูปและ/หรือภาพแม่โพสพ
        ตั้งแต่ได้ยินแม่ออกชื่อแม่โพสพมาจนถึงก่อนพ.ศ. 2543 ผู้เขียนไม่เคยสนใจว่าแม่โพสพมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรเป็นพิเศษ เพราะนึกออกว่าเทวดาไทยทั้งฉบับหลวงฉบับราษฎร์หากมีผู้วาดเขียนหรือปั้นให้เห็นเป็นรูปก็คงจะใกล้เคียงตัวโขนละครอย่างในจิตรกรรมฝาผนังทุกองค์ไป อย่างเก่งก็มีสีกายมีเครื่องทรง อาวุธทรง สัตว์ทรง แตกต่าง เวลาที่เก็บข้อมูลเรื่องพิธีรับขวัญแม่โพสพก็เก็บเฉพาะบททำขวัญ อย่างเก่งก็เห็นเครื่องเซ่นวักตั๊กแตนที่ชาวนานำไปปักไปวางไว้กลางนา ไม่เคยทราบมาก่อน (อย่างน่าประหลาดใจในความไม่เฉลียวของตนเอง) ว่าในหลายๆ พื้นที่ ชาวนาตั้งรูปแม่โพสพประกอบพิธีด้วยทั้งไม่เคยทราบว่าในยุ้งฉางของชาวบ้านในหลายพื้นที่มีการตั้งหรือแขวนรูปแม่โพสพไว้ประจำ
        รูปที่ว่ามีทั้งรูปที่วาดขึ้น พิมพ์ขึ้น ปั้นขึ้น และหล่อขึ้น
        ครั้งแรกที่เริ่มสนใจรูปลักษณ์ของแม่โพสพก็คือเมื่อเห็น "พระโพสพ" ในจิตรกรรมฝาผนังด้านในเหนือบานประตูหน้าพระอุโบสถวัดสามแก้ว จังหวัดชุมพร เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 เป็นภาพวาดแบบสมัยใหม่ออกทางสมจริง (realistic) ผีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร ช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 6 เธอนั่งอยู่ตรงกลางระหว่างพระลักษมีชายาพระนารายณ์และพระสรัสวดีชายาพระพรหม เทวีทั้งสามนั่งคุกเข่าประนมมือสักการะพระพุทธเจ้าซึ่งแทนด้วยพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ ที่สนใจก็เพราะเห็นเป็นการแปลก ท่านผู้วาดภาพคงวาดให้สอดคล้องกับตำนานฉบับที่ว่าแม่โพสพเดิมเป็นชายาองค์หนึ่งของพระอินทร์ ชื่อ พระสวเทวี (เพื่อโยงชื่อโพสพเข้ากับชื่อชายาพระอินทร์ นั่นคือให้ สพ แผลงมาจาก สว ส่วน โพอาจจะมาจากชื่อ ไพสพ ของเทวดารักษาทิศอีสาน) หาไม่แม่โพสพคงไม่มีมีตำแหน่งเฝ้าเทียบเท่าพระลักษมีกับพระสรัสวดีเป็นแน่นอน (พระอินทร์ หรือ สักกเทวราช เป็นเทวดาระดับล่างในศาสนาฮินดู แต่ไทยยกขึ้นเป็นเทวดาสำคัญ มีบทบาทมากกว่าเทวดาองค์ใดในพุทธประวัติ) อย่างไรก็ตามจิตรกรเรียกชื่อเธอว่า พระโพสพแทนที่จะเป็นพระสวเทวีแต่แน่นอนว่าเธอต้องมีรวงข้าวในมือ
        รวงข้าว เป็นเครื่องระบุว่ารูปเทวดาที่เห็นไม่ว่าจะเห็นที่ไหน สมัยใด เป็นแม่โพสพ
        ต่อมาจึงตั้งข้อสังเกตว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ที่เห็นอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมฉายาลักษณ์ พระราชทานคราวเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษาเป็นภาพแม่โพสพ ด้วยเป็นเทวดาหญิงถือรวงข้าวในมือ ครั้งนี้เป็นจิตรกรรมไทยประเพณี
        หลังจากนั้นก็เริ่มสังเกตรูปนางโคสก ประกอบเรื่องเทพเจ้าเกี่ยวกับข้าวและการทำนาในหนังสือข้าว วัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลง ของ ผศ. เอี่ยม ทองดี แม้เป็นภาพขาวดำก็พออนุมานได้ว่าเป็นรูปหล่อปูนปลาสเตอร์ ระบายสี เหมือนรูปกุมารทองและสัตว์ในนักษัตร ที่หล่อออกจำหน่ายอยู่ทั่วไป อาจารย์เอี่ยมบรรยายไว้ว่า "นางมีลักษณะเป็นหญิงสาวท่าทางอ่อนช้อยสวยงาม ภาพของนางที่สร้างขึ้นเพื่อเคารพบูชาเป็นท่านั่งพับเพียบ มือขวาถือรวงข้าวมือซ้ายถือถุงข้าว แต่งกายนุ่งผ้าถุงห่มผ้าสไบเฉียงแบบหญิงในวังสมัยก่อน"
        นางโคสกของอาจารย์เอี่ยมมีลักษณะพ้องกับนางกวัก เทวดาหญิงผู้นำโชค ซึ่งเห็นทีไรก็จะนั่งพับเพียบ เท้าแขนเป็นหนูแหวนแขนอ่อนข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งยกขึ้น "กวัก" มีถุงป้อมๆ คะเนว่าเป็นถุงเงินถุงทองวางบนตักหรือข้างกายทีนั้น ต่างกันแต่นางโคสกไม่กวักมือเพราะมือไม่ว่าง กำรวงข้าวอยู่
        ซึ่งออกจะสอดคล้องกับผลของการ "ทำโพล" ของผู้เขียนที่ได้จากการสอบถามเพื่อนฝูงนักวิชาการสายประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา รอบๆตัวปรากฏว่าส่วนหนึ่งนึกหน้าแม่โพสพไม่ออกพยายามนึกทีไรกลายเป็นนางกวักทีนั้น เห็นจะเป็นด้วยรูปลักษณ์ที่สร้างขึ้นแทนนามธรรมทั้งสองประการมีความแตกต่างกันน้อยมาก ซ้ำโอกาสที่ผู้คนจะเห็นรูปนางกวักตามร้านรวงตลอดถึงหาบเร่ แผงลอยมีมากกว่าที่จะได้เห็นรูปแม่โพสพผู้มีท้องนาและยุ้งฉางเป็นถิ่นลำเนา ภาพนางกวักจึงติดตากว่า
        ขอพักเรื่องการไขว้แม่โพสพกับนางกวักไว้เพียงเท่านี้ก่อนที่จะแตกแขนงมากไปจนหาต้นเรื่องไม่พบ

 


รูปและ/หรือภาพแม่โพสพ
        ตั้งแต่ได้ยินแม่ออกชื่อแม่โพสพมาจนถึงก่อนพ.ศ. 2543 ผู้เขียนไม่เคยสนใจว่าแม่โพสพมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรเป็นพิเศษ เพราะนึกออกว่าเทวดาไทยทั้งฉบับหลวงฉบับราษฎร์หากมีผู้วาดเขียนหรือปั้นให้เห็นเป็นรูปก็คงจะใกล้เคียงตัวโขนละครอย่างในจิตรกรรมฝาผนังทุกองค์ไป อย่างเก่งก็มีสีกายมีเครื่องทรง อาวุธทรง สัตว์ทรง แตกต่าง เวลาที่เก็บข้อมูลเรื่องพิธีรับขวัญแม่โพสพก็เก็บเฉพาะบททำขวัญ อย่างเก่งก็เห็นเครื่องเซ่นวักตั๊กแตนที่ชาวนานำไปปักไปวางไว้กลางนา ไม่เคยทราบมาก่อน (อย่างน่าประหลาดใจในความไม่เฉลียวของตนเอง) ว่าในหลายๆ พื้นที่ ชาวนาตั้งรูปแม่โพสพประกอบพิธีด้วยทั้งไม่เคยทราบว่าในยุ้งฉางของชาวบ้านในหลายพื้นที่มีการตั้งหรือแขวนรูปแม่โพสพไว้ประจำ
        รูปที่ว่ามีทั้งรูปที่วาดขึ้น พิมพ์ขึ้น ปั้นขึ้น และหล่อขึ้น
        ครั้งแรกที่เริ่มสนใจรูปลักษณ์ของแม่โพสพก็คือเมื่อเห็น "พระโพสพ" ในจิตรกรรมฝาผนังด้านในเหนือบานประตูหน้าพระอุโบสถวัดสามแก้ว จังหวัดชุมพร เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2543 เป็นภาพวาดแบบสมัยใหม่ออกทางสมจริง (realistic) ผีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร ช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 6 เธอนั่งอยู่ตรงกลางระหว่างพระลักษมีชายาพระนารายณ์และพระสรัสวดีชายาพระพรหม เทวีทั้งสามนั่งคุกเข่าประนมมือสักการะพระพุทธเจ้าซึ่งแทนด้วยพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ ที่สนใจก็เพราะเห็นเป็นการแปลก ท่านผู้วาดภาพคงวาดให้สอดคล้องกับตำนานฉบับที่ว่าแม่โพสพเดิมเป็นชายาองค์หนึ่งของพระอินทร์ ชื่อ พระสวเทวี (เพื่อโยงชื่อโพสพเข้ากับชื่อชายาพระอินทร์ นั่นคือให้ สพ แผลงมาจาก สว ส่วน โพอาจจะมาจากชื่อ ไพสพ ของเทวดารักษาทิศอีสาน) หาไม่แม่โพสพคงไม่มีมีตำแหน่งเฝ้าเทียบเท่าพระลักษมีกับพระสรัสวดีเป็นแน่นอน (พระอินทร์ หรือ สักกเทวราช เป็นเทวดาระดับล่างในศาสนาฮินดู แต่ไทยยกขึ้นเป็นเทวดาสำคัญ มีบทบาทมากกว่าเทวดาองค์ใดในพุทธประวัติ) อย่างไรก็ตามจิตรกรเรียกชื่อเธอว่า พระโพสพแทนที่จะเป็นพระสวเทวีแต่แน่นอนว่าเธอต้องมีรวงข้าวในมือ
        รวงข้าว เป็นเครื่องระบุว่ารูปเทวดาที่เห็นไม่ว่าจะเห็นที่ไหน สมัยใด เป็นแม่โพสพ
        ต่อมาจึงตั้งข้อสังเกตว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ที่เห็นอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมฉายาลักษณ์ พระราชทานคราวเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษาเป็นภาพแม่โพสพ ด้วยเป็นเทวดาหญิงถือรวงข้าวในมือ ครั้งนี้เป็นจิตรกรรมไทยประเพณี
        หลังจากนั้นก็เริ่มสังเกตรูปนางโคสก ประกอบเรื่องเทพเจ้าเกี่ยวกับข้าวและการทำนาในหนังสือข้าว วัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลง ของ ผศ. เอี่ยม ทองดี แม้เป็นภาพขาวดำก็พออนุมานได้ว่าเป็นรูปหล่อปูนปลาสเตอร์ ระบายสี เหมือนรูปกุมารทองและสัตว์ในนักษัตร ที่หล่อออกจำหน่ายอยู่ทั่วไป อาจารย์เอี่ยมบรรยายไว้ว่า "นางมีลักษณะเป็นหญิงสาวท่าทางอ่อนช้อยสวยงาม ภาพของนางที่สร้างขึ้นเพื่อเคารพบูชาเป็นท่านั่งพับเพียบ มือขวาถือรวงข้าวมือซ้ายถือถุงข้าว แต่งกายนุ่งผ้าถุงห่มผ้าสไบเฉียงแบบหญิงในวังสมัยก่อน"
        นางโคสกของอาจารย์เอี่ยมมีลักษณะพ้องกับนางกวัก เทวดาหญิงผู้นำโชค ซึ่งเห็นทีไรก็จะนั่งพับเพียบ เท้าแขนเป็นหนูแหวนแขนอ่อนข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งยกขึ้น "กวัก" มีถุงป้อมๆ คะเนว่าเป็นถุงเงินถุงทองวางบนตักหรือข้างกายทีนั้น ต่างกันแต่นางโคสกไม่กวักมือเพราะมือไม่ว่าง กำรวงข้าวอยู่
        ซึ่งออกจะสอดคล้องกับผลของการ "ทำโพล" ของผู้เขียนที่ได้จากการสอบถามเพื่อนฝูงนักวิชาการสายประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา รอบๆตัวปรากฏว่าส่วนหนึ่งนึกหน้าแม่โพสพไม่ออกพยายามนึกทีไรกลายเป็นนางกวักทีนั้น เห็นจะเป็นด้วยรูปลักษณ์ที่สร้างขึ้นแทนนามธรรมทั้งสองประการมีความแตกต่างกันน้อยมาก ซ้ำโอกาสที่ผู้คนจะเห็นรูปนางกวักตามร้านรวงตลอดถึงหาบเร่ แผงลอยมีมากกว่าที่จะได้เห็นรูปแม่โพสพผู้มีท้องนาและยุ้งฉางเป็นถิ่นลำเนา ภาพนางกวักจึงติดตากว่า
        ขอพักเรื่องการไขว้แม่โพสพกับนางกวักไว้เพียงเท่านี้ก่อนที่จะแตกแขนงมากไปจนหาต้นเรื่องไม่พบ

1.

พระลักษมี พระโพสพ พระสรัสวดี ฝีมือมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) วาดไว้บนผนังด้านในเหนือประตูพระอุโบสถวัดสามแก้วอำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
             พระยาอนุศาสน์ ฯ (พ.ศ. 2414 - 2492) เป็นช่างผู้มีฝีมือในทางศิลปะเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการเขียนภาพได้เขียนภาพต่างๆเป็นที่พอพระราชหฤทัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล"จิตรกร" ให้เป็นเกียรติ งานฝีมือท่านมีปรากฏอยู่ในที่ต่างๆ หลายแห่ง อาทิ ในหนังสือ บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ตามพระอารามต่างๆ เช่น ภาพในเค้าเรื่องชาดกตามพระกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระวิหารหลวงจังหวัดนครปฐม ภาพประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ที่วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาพที่เขียนตามฝาผนังโบสถ์ในพระอาราม นอกจากใช้สีผสมน้ำปูนตามแบบโบราณแล้ว ยังมีฝีมือในการเขียนภาพสีน้ำมัน เป็นผู้สร้างฉากในการแสดงละคร เป็นผู้อำนวยการร้านถ่ายภาพ  "ฉายานรสิงห์"

     

2.

ด้านหน้าของซองใส่ "ยาเด็กจู้จี้ ตราแม่โภสพ" ระบุว่า สถานที่ผลิตคือ "ผดุงชีพ เลขที่ 14 - 20 ถนนจักรพงศ์ สพานเสี้ยว กรุงเทพฯ" ไม่ได้ระบุปีที่ผลิต  แต่เทียบกับอายุของสะพานเสี้ยวที่ระบุไว้ในที่ตั้งร้าน อย่างน้อยก็ควรจะเป็นสักปีสองปีก่อน พ.ศ. 2516 อันเป็นปีที่เปิดใช้สะพานพระปิ่นเกล้าเพราะสะพานเสี้ยวเป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมจากฝั่งบางลำภูไปสนามหลวง ช่วงระหว่างสะพานผ่านพิภพลีลากับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวังหน้า ได้รื้อลงเมื่อจะสร้างสะพานพระปิ่นเกล้า
             ร้านผดุงชีพเป็นร้านที่ผู้เขียนติดใจมากตั้งแต่สมัยเด็กจำหน่ายของไทยๆ หลากหลาย ทั้งยา ของเล่น เช่น งู และสัตว์เลี้อยคลานทำจากไม้ระกำ หัวโขน  เครื่องดนตรีผัก ผลไม้ทำจากปูนปลาสเตอร์ สีสันสะดุดตาน่าเพลิดเพลิน
            "แม่โภสพ" ของห้างผดุงชีพ รินน้ำจากหอยสังข์ที่ถือไว้ในมือขวาด้วย โปรดเทียบกับแม่โพสพในยันต์ภาพที่ 3

3.  

และ 4.ยันต์แม่โพสพ ของ ผศ. เอี่ยม ทองดี เขียนบนกระดาษขนาดประมาณ A3 และพิมพ์ลงบนผ้าผืนเล็กขนาดครึ่ง  A4  สำหรับวางบนหิ้งหรือแขวนเสายุ้ง

     

5.  และ 6.ภาพวาดพ่อโพสพ แม่โพสพ ในตำราพิธีเกี่ยวกับการทำนาเขียนลงสมุดข่อย ของ ผศ. เอี่ยม ทองดี ต่างมีปลาเป็นพาหนะทรงตามท้องเรื่องฉบับที่มีปลาเป็นสื่อให้ติดตามพบตัวแม่โพสพ
 
 
 

7. และ 8. และ 9. ภาพวาดนางกวักและชาวนาทำพิธีทำขวัญนาลงประกอบบททำขวัญนา กับ แม่โพสพ ลงประกอบการทำทำขวัญข้าวในหนังสือ บททำขวัญ ของโรงพิมพ์วัดเกาะ ฝีมือนายอา อ๊อดอำไพ ช่างวาดฝีมือชั้นครูรุ่น พ.ศ. 2475
มาจนถึงหลัง พ.ศ. 2500 แม่โพสพภาพนี้พบบนปฏิทิน พ.ศ. 2492 ของโรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ (วัดเกาะ) ด้วย



10. และ 11. แม่โพสพ จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เป็นฝีมือช่วงสมัยรัชกาลที่ 3
ผู้เขียนพยายามค้นหาแต่ไม่พบคำบรรยายว่าจิตรกรมีแรงบันดาลใจอย่างไร จึงวาดแม่โพสพลงในพื้นที่ส่วนนี้ ในขณะที่ส่วนอื่นๆ เป็นภาพวาดเทพเจ้าสายพราหมณ์ล้วนๆ เช่น พระนารายณ์ปางต่างๆ เป็นต้น
        ภาพสำเนาจากหนังสือ พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์กับประชาชน หน้า 109 ประกอบเรื่องพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ หัวข้อที่ 4 "บำรุงอาชีพ" ว่าด้วยการทำนุบำรุงการเกษตร มีคำบรรยายว่า
        ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านตะวันตก หลังพระที่นั่งภัทรบิฐ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นภาพเจ้าแม่แห่งข้าวทรงพระนามว่า "เจ้าแม่โพสพ"
ในคำบรรยายภาคภาษาอังกฤษ ดร. ดวงทิพย์ สุรินทราธิป ใช้คำอธิบายว่า แม่โพสพ เป็น the Goddess Ceres of the Orient แม่โพสพในพระที่นั่งไพศาลทักษิณมีลักษณะ "เป็นเทวีนางฟ้าและยืนเปลือยกายท่อนบน" สวมชฏาและสร้อยสังวาลย์เช่นเดียวกับเทวดาหรือนางกษัตริย์ ในจิตรกรรมไทยประเพณี
12. แม่โพสพฉบับใหม่เอี่ยม พิมพ์ลงกระดาษโปสเตอร์เนื้อค่อนข้างหนา ขนาดครึ่งหนึ่งของแผ่นปิดมาตรฐาน แสดงแนวคิดว่าเทวดา (หรือแม้แต่พระพุทธเจ้า) เป็นชาวอินเดีย ที่ออกจะแพร่หลายมากในสมัยหลัง ผศ. เอี่ยม ทองดี ก็มีเก็บอยู่ 1 แผ่น ผู้เขียนเองได้รับจากเพื่อน คือ ผศ. ดร. เสาวณิต วิงวอน ซึ่งเล่าว่าซื้อจากร้านค้าที่ท่าพระจันทร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2544 นี้เอง


13. ต้นฉบับภาพแม่โพสพที่ลงประกอบในหนังสือข้าว วัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงของ ผศ. เอี่ยม ทองดี เป็นขาวดำ แต่รูปจริงหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ระบายสี
14. รูปแม่โพสพอีกรูปหนึ่งของ ผศ. เอี่ยม ทองดี สูง 8.5 นิ้ว ถือรวงข้าวและถือถุงข้าว (หรือถุงเงินถุงทอง?) เช่นเดียวกับภาพที่ 13 ผู้เขียนเชื่อว่าเป็นรูปแม่โพสพสมัยหลัง แสดงการผสมปสานความเชื่อเรื่องแม่โพสพกับนางกวัก
15. รูปโลหะหล่อองค์เล็ก สูง 4.5 นิ้ว ของ ผศ. เอี่ยม ทองดี
16.

รูปแม่โพสพขนาดเล็ก สูงรวมฐานราว 4 - 5 นิ้ว ทุกองค์มีปูนขาวหรือดินผสมอัดเต็มโพรงด้านในจนเสมอขอบฐาน คุณนัท กรุงสยาม นักเขียนประจำนิตยสารกรุงสยาม เล่าว่า ปูนนี้ผสมน้ำว่าน แสดงว่ามีการปลูกเสกรูปแม่โพสพให้ศักดิ์สิทธิ์ตามคติการสร้างรูปบูชาทั่วไป
        ผู้เขียนได้รับคำอธิบายโดยผู้เชี่ยวชาญในวงการพระเครื่องพระบูชาไทยอีก 2 - 3 ท่านว่ารูปแม่โพสพที่สามารถเห็นตัวอย่างในชมรมพระเครื่องมรดกไทยที่ห้างบางลำภู งามวงศ์วานและที่ชมรมลักษณะเดียวกันที่วัดเทพธิดาราม ล้วนเป็นรูปหล่อรุ่นตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ลงมา มีคนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการร้านอาหารเช่าไว้บูชาในฐานะเทวดาผู้บันดาลความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ให้
         แม่โพสพแต่ละองค์หล่อจากคนละพิมพ์องค์หน้าขวาสุดนี้ทรงสไบชายคู่สวมทับทรวงแบบนางละคร หน้าแฉล้มแช่มช้อย ทรวดทรงได้สัดส่วนงามเป็นพิเศษ องค์กลางเจ้าของประดิษฐานไว้บนแท่นทองทำขึ้นใหม่ มีขนาดใหญ่กว่าองค์อื่นเล็กน้อยคือสูงราว 6 นิ้ว เป็นโลหะเคลือบขาวแล้วลงสรวงข้าวหลุดหายไปจากมือที่ออกแบบไว้ให้มีช่องระหว่างนิ้วกับฝ่ามือเพื่อให้สอดรวงข้าวภายหลัง รูปแม่โพสพชุดนี้ถือรวงข้าวเพียงรวงเดียว รวงข้าวโค้งเข้าบ้าง โค้งออกบ้าง รวงสั้นบ้างยาวบ้างต่างๆ กัน

17. องค์นี้ถือเป็นนางเอกที่ได้กล่าวถึงไว้แล้ว มีขนาดตามที่เจ้าหน้าที่ของคุณพยัพจดมาให้คือ "หน้าตักองค์ 11 นิ้ว องค์สูง 25 นิ้ว หน้าตักฐาน 12 นิ้ว ความกว้าง 12 นิ้ว" ยังมีรูปแม่โพสพที่งดงามเป็นพิเศษคล้ายคลึงกันหับแม่โพสพในภาพที่ 17 นี้อีกองค์หนึ่ง ผู้เขียนเห็นภาพในหนังสือพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ของ สมเกียรติ โล่ห์เพชรัตน์ หน้า 86 เสียดายที่เมื่อคุณพยัพเอามาให้ดูไม่มีกล้องไปถ่ายก๊อปปี้ไว้ ในหน้า 293 ของหนังสือเล่มเดียวกันมีคำอธิบายรูปแม่โพสพดังกล่าวว่า
        "พระแม่โพสพ เป็นงานศิลปะที่นิยมเรียกกันว่า "แบบหน้าแป้ง" ศิลปะแบบนี้มีจำนวนน้อย
         มาก เข้าใจว่ากรรมวิธีการเคลือบสีบนเนื้อโลหะให้สวยงามเป็นธรรมชาติคงยากมาก จึงมี
         จำนวนจำกัด และราคาการซื้อ-ขายในตลาดค่อนข้างสูง"

         คำอธิบายนี้น่าจะใช้ได้กับแม่โพสพในภาพที่ 17 นี้ด้วย ผู้เขียนใคร่ขอตั้งข้อสังเกตเรื่องวิธีการ เรียกชื่อแม่โพสพไว้ในที่นี้ว่า ในหนังสือที่อ้างถึงเรียกว่า พระแม่โพสพ ในขณะที่โดยทั่วไปมักเรียกว่าแม่โพสพ ดูเสมือนว่าเป็นการปรับฐานะรูปแม่โพสพขึ้นเป็นรูปบูชาโดยการเติมคำว่า พระ เข้าข้างหน้าชื่อ และยังมีบางตำราเรียกว่า แม่พระโพสพ ซึ่งมีตำนานฉบับภาคเหนือ รองรับว่ามี พระโพสพ แล้วจึงมี แม่ (ของ) พระโพสพ อีกทีหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นคำอธิบายเรื่อง พ่อโพสพหรือพ่อโพสีที่ ผศ. เอี่ยม ทองดี กล่าวไว้ได้อีกทางหนึ่ง
18. ด้านหลังของแม่โพสพในภาพที่ 17 แสดงทรงผลตัดสั้น (ทรงดอกกระทุ่ม?) ต่างจากแม่โพสพรูปอื่นๆ ที่ไว้ผมประบ่าหวีแสกบ้าง เสยบ้าง ทรงผมของแม่โพสพองค์นี้น่าจะช่วยยืนยันยุคสมัยให้แน่นอนขึ้นได้
19. ภาพสำเนาจากหนังสือ ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ มีคำบรรยายภาพดังนี้
        รูปปั้น "แม่โพสพ" ซึ่งรัฐบาลได้จัดส่งไปแสดงใน
        ศาลาไทย ในการแสดงพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ
        ณ กรุงนิวยอร์ก สหปาลีรัฐอเมริกา ปี 2482
ขนาดน่าจะเป็นขนาดเท่าคนจริง แบบศิลปะสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม คือประกอบขึ้นด้วยเส้นสายที่ออกไปในทางกระด้าง
20. ปูนปั้นแม่โพสพประดับหน้าบันศาลาตรีมุขซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ในวัดศิริวัฒนาราม อยู่ในสวนแขวงบางพรหมเขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ผู้เขียนเห็นเมื่อแวะเวียนเข้าไปชมวัดโดยบังเอิญก่อนสงกรานต์ปี 2544 นี้เอง
        จากการสอบถามชาวบ้านในละแวกวัดทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกว่า ที่วัดศิริฯ มีประเพณีบูชาแม่โพสพสาเหตุที่เกิดประเพณีทราบเป็นเลาๆ ว่า แต่เดิมพื้นที่แถบนี้เป็นท้องนาต่อมาจึงยกเป็นสวน "ท้องกระทะ"(คงหมายความว่าเป็นสวนที่มีพื้นที่ตรงกลางต่ำเป็นแอ่งนี่นับเป็นข้อมูลแปลกสำหรับผู้ที่คิดว่าตลิ่งชันเป็นที่สวนมาแต่ดั้งเดิม)ที่ริมคลองบางพรหมฝั่งตรงข้ามกับวัด (วัดนี้เป็นวัดรุ่นหลัง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2526 - 27 นี่เอง) เป็นที่สักการบูชาของชาวบ้านทั่วไป ต่อมามีการย้ายศาลตั้งรูปแม่โพสพมาไว้ที่วัด และวัดจัดให้มีงานปิดทองแม่โพสพ (เหมือนงานปิดทองพระหรือพระพุทธบาทจำลอง ฯลฯ ตามวัดทั่วๆ) ในช่วงเดือนมีนาคมเป็นประจำทุกปี ประเพณีนี้ได้แพร่หลายไปจนถึงวัดที่จังหวัดสมุทรปราการด้วย (แต่ผู้ให้ข้อมูลจำไม่ได้ว่าวัดที่จัดงานปิดทองแม่โพสพที่สมุทปราการชื่อวัดอะไร)
        ศาลตรีมุขหลังนี้เป็นอาคารถาวรที่วัดสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานรูปแม่โพสพซึ่งปัจจุบันเป็นองค์ใหม่ หล่อด้วยทองเหลืองปิดทองจนมองไม่เห็นเค้าหน้าตาที่ว่าเป็นองค์ใหม่ก็เนื่องจากองค์เดิมซึ่งเป็นดินปั้นถูกโจรกรรมไปแล้ว
        ช่างปั้นปูนประดับหน้าบันมุขเอกของศาลาหนังนี้เป็นช่างมาจากเมืองเพชร ซึ่งเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านงานปูนปั้นมาช้านาน ในงานปิดทองแม่โพสพครั้งต่อไป (เดือนมีนาคม2545) จะได้ฉลองศาลาใหม่หลังนี้ด้วย
21.
ศาลและรูปหล่อโลหะแม่โพสพ วัดศิริวัฒนาราม ตั้งอยู่ด้านหลังศาลาตรีมุขที่กำลังสร้าง รูปแม่โพสพมีขนาดเท่าคนจริง

ปัจจุบันของแม่โพสพ
        ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยทางธุรกิจที่มุ่งเน้นการค้ากำไร ชนิดที่คนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวนาไม่อยู่ในฐานะผู้กำหนด หากแต่เป็นผู้ถูกกำหนด แม้ว่าภูมิปัญญาชาวบ้านได้ถูกเทคโนโลยีและวิธีคิดแบบฝรั่งเบียดตกคันนาไปทีละเล็กละน้อย วิกฤตต่างๆ ได้ก่อตัวและขยายตัวขึ้นในวิถีชีวิตไทยดังเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปแล้ว
        แม้ว่าในการสอนลูกไม่ให้ตักข้าวมาแล้ว กินเหลือ หรือทำข้าวตกพื้นแล้วเหยียบย่ำ ผู้เขียนจะมิได้อ้างแม่โพสพ แต่ก็ได้เล่าให้ลูกฟังว่าแม่ของแม่เคยสอนไว้อย่างไร ลูกซึ่งอาจเป็นตัวแทนของเด็กในเมืองยุคปัจจุบันได้ แม้จะยังคุ้นกับนิทานแต่เมื่องฟังแล้วก็ไม่เชื่อเรื่องเทวดารักษาข้าวก็ตามแต่
        แม่โพสพก็ยังอยู่ในวิถีไทยทั้งอย่างที่เคยอยู่และอย่างที่ไม่เคยอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์
        อย่างที่เคยอยู่ก็คือ อย่างเป็นมิ่งเป็นขวัญของข้าวในนาในยุ้งฉาง
        อย่างที่ไม่เคยอยู่ก็คือ อย่างเป็นรูปบูชาในบ้านในเมือง
        แม้จะเป็นแม่โพสพนอกนาแต่ก็ยังคงนัยสำคัญในฐานะผู้ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ให้มนุษย์อยู่ไม่เสื่อมคลาย
        นับเป็นพัฒนาการทางความเชื่อที่อธิบายไม่ยากในสังคมที่มีรากฐานมาจากเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาเช่นสังคมไทย

ขอบคุณผู้ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลเรื่องและภาพ
        ผศ. เอี่ยม ทองดี
        คุณเอนก นาวิกมูล
        ผศ. ดร. เสาวณิต วิงวอน
        คุณพยัพ คำพันธุ์
        คุณพุทธชาด พิพัฒนกุล
        คุณนัท กรุงสยาม
        บ้านพิพิธภัณฑ์
        คุณสุภาภรณ์ ไชยภัฏ
        คุณอโณทัย เทวราชสมบูรณ์
        ตลอดจนผู้ที่ได้ให้ความรู้ด้วยน้ำใจไมตรีแต่ผู้เขียนไม่ทราบชื่อทุกท่าน

บรรณานุกรม
ข้าว...วัฒนธรรมแห่งชีวิต. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แปลน โมทิฟ, 2541
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน. ข้าวกับวิถีชิวิตไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์
 การศาสนา กรมศาสนา, 2541
คุณช่วย ปิยวิทย์, ทำนา (โคราช) : ประเพณี. สารานุกรมวัฒนาธรรมไทย ภาคอีสาน 5 (2542) : 1728 - 1736. จ. เปรียญ. ตำราสูตรขวัญโบราณต่าง ๆ. กรุงเทพมหานคร : อำนวยสาส์นการพิมพ์, 2532.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธี 12 เดือน. พิมพ์ครั้งที่ 13. พระนคร : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, 2514.
เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ พระประวัติและพระนิพนธ์บทร้อยกรอง. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ บรรณาคาร, 2516.
ทำขวัญต่าง ๆ. พระนคร : โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ, 2511.
ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา. พระนคร : โรงพิมพ์พานิชศุภผล, 2482.
บุญชื่น ชัยรัตน์. แม่โคสก. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ 10 (2542) : 5318-5320.
ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร, 2517. (พิมพ์ในงาน
        พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) ณ เมรุ
        หน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 23 เมษายน 2517).
ประชุมเชิญขวัญ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร กงอวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2525. (พิมพ์
        เป็นที่ระลึกในงานฉลองพระประธานและทำบุญอุทิศถวายแด่พระอาจารย์ทรัพย์ ฐิติโก (ทรัพย์ สุด
        สำอางค์) ณ พระอุโบสถวัดหนองตาบุญ วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม 2525).
พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์กับประชาชน. กรุงเทพมหานคร : คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200         ปี, 2525.
มหาทองใบ ปฏิภาโณ. พิธีทำขวัญต่างๆ และแหล่ภาคกลางภาคอีสาน. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อำนวยสาส์น, 2525.
มหาเสวกตรีพระยาอนุศาสตน์จิตรกร(จันทร์จิตรกร).ในหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงบำรุงราชบริพาร
         (อำพัน สุนทรเวช). กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บูรพาศิลป์การพิมพ์, 2524.
วิชา ทรวงแสวง. พระแม่โพสพ : นิทาน. สารานุกรม วัฒนธรรมไทย ภาคกลาง 9 (2542) : 4171.
วุฒิ บุญเลิศ. ผี้บื้อโย. เมืองโบราณ 19 (ตุลาคม - ธันวาคม 2536) : 11 - 20.
สมเกียรติ โล่ห์เพชรัตน์. พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร : วัตถุโบราณ, 2540.
อุดม หนูทอง. แม่โพสพ. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ 7 (2529) : 2873 - 2874.
อุดม หนูทอง และ พ่วง บุษรารัตน์. แม่โพสพ : ตำนาน. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ 13 (2542) : 6188 - 6189.
เอี่ยม ทองดี. ข้าว : วัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มติชน, 2538.