ผลกระทบของเกษตรกรรมต่อนิเวศน์ธรรมชาติ 1/

บทนำ

จากสภาพนิเวศน์ธรรมชาติที่มีความสมดุลย์ซึ่งเกิดจากความหลากหลายทางชีวภาพ ( bio-diversity ) ความซับซ้อน ( Complexity ) ภายในระบบนิเวศน์ธรรมชาติ ดังตัวอย่างที่จะสามารถพบและเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาพป่าไม้ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ ในระบบนิเวศน์ดังกล่าวนั้นจะมีการแข่งขัน ( Competition ) การอยู่ร่วม ( Co-existence ) การพึ่งพาสนับสนุน ( symbiosis ) การต่อสู้ทำลาย ( antagonism ) และดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ( struggle for existence ) เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการวิวัฒนาการ ( evolution ) ในระยะยาวอย่างต่อเนื่องของสิ่งมีชีวิตให้สามารถจะอยู่ร่วมกันอย่างผสมกลมกลืนและสู่ภาวะของสมดุลย์ทางธรรมชาติ

จากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี และข้อมูลทางตรรกวิทยา พอจะเชื่อได้ว่ามนุษย์ได้เกิดขึ้นบนโลกมาประมาณ 2 ล้านปี ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว มนุษย์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งของระบบนิเวศน์ธรรมชาติก็ได้มีวิวัฒนาการของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อคงอยู่ใสสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติมาตลอดจนกระทั่งได้รู้จักการประกอบอาชีพการเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์มาเมื่อประมาณ 10,000 ปี และมนุษย์เพิ่งจะปรับตัวเข้ากับยุคของอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่าเป็นยุคของความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ในทางที่ก่อให้เกิดความสูญเสียความสมดุลย์ทางธรรมชาติอย่างขนานใหญ่เมื่อ 200 ปีที่ผ่านมานี้เอง Harlan ( 1975 )

ในยุคของการพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตจากเดิมที่มีความสมถะ และอาศัยสิ่งที่ได้จากธรรมชาติเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นการผลิตเพื่อขายและแลกเปลี่ยนมากขึ้น เนื่องจากเหตุผลของการอุตสาหกรรมที่ทำให้มนุษย์เกิดความสะดวกสบาย โดยเริ่มแต่การคิดค้นเครื่องจักรพลังไอน้ำ พลังที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันปิโตรเลียม พลังงานไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ จนถึงพลังงานปรมาณู สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ทำให้มนุษย์มีความต้องการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมและการบริการเพื่อความสะดวกสบายมากขึ้น ประเทศผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมก็ต้องขายสินค้า ที่ผลิคขึ้นด้วยเทคโนโลยีเพื่อให้ได้ปริมาณและกำไรมากที่สุดเพราะถือว่าได้ลงทุนด้วยสมองและแรงงานไปมาก การผลิตสินค้ามากเท่าใด ทรัพยากรธรรมชาติก็ถูกทำลายมากเท่านั้น นับตั้งแต่เชื้อเพลิงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบที่นำมาเป็นปัจจัยในการผลิต สำหรับประเทศที่เป็นผู้ซื้อ ( เนื่องจากผลิตเองไม่ได้ ) ก็ต้องพยายามหาสินค้าที่ตนเองสามารถจะผลิตหรือเอาจากธรรมชาติที่มีอยู่มาแลกเปลี่ยนดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาและประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อความทันสมัยและเพื่อสนองความต้องการของประชาชนในประเทศนั้น ๆ การได้มาซึ้งสินค้าอุตสาหกรรมก็ต้องพยายามผลิตสินค้าเกษตรหรือสินค้าที่ได้จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แร่ดีบุก เพื่อนำไปแลกกับสินค้าอุตสาหกรรมที่ตนเองผลิตไม่ได้ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้บางประเทศที่เคยมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าไม้ แร่ดีบุกก็ได้ถูกตักตวงออกมาจากธรรมชาติ เพื่อขายแลกเปลี่ยนกับสินค้าอุตสาหกรรมจนในที่สุดทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นก็ร่อยหรอหมดไป

นอกจากทรัพยากรธรรมชาติที่ตักตวงทำลายไปแล้ว การผลิตทางการเกษตรซึ่งผลิตเพื่อเลี้ยงประชากรของประเทศเท่านั้น ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดรายได้ที่เพียงพอต่อความต้องการของสินค้าอุตสาหกรรมที่ประเทศต้องการแลกเปลี่ยน และที่สำคัญก็คือ การแลกเปลี่ยนซื้อขายระหว่าง สินค้าอุตสาหกรรมกับสินค้าเกษตรกรรม มักจะมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันมาก เช่น รถเก๋ง 1 คัน ราคาประมาณ 600,000 บาท ชาวนาต้องปลูกข้าวซึ่งราคาเกวียนละ 3,000 บาท ให้ได้ถึง 200 เกวียน จึงจะแลกรถยนต์ได้ 1 คัน หรือเครื่องบินรบ 1 ฝูง 20 ลำ มีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท จะเป็นมูลค่ามากกว่าการส่งออกของยางพาราจากประเทศไทย 1 ปี ซึ่งมีมูลค่าเพียง 26,000 ล้านบาท ทำการผลิตด้วยคนถึง 800,000 ครอบครัว หรือ ประมาณ 4.8 ล้านบาท ใช้พื้นที่เพาะปลูกยางถึง 10.86 ล้านไร่เป็นปริมาณยางถึง 1.23 ล้านตัน เป็นต้น นอกจากนี้การเพิ่มสูงขึ้นของราคาสินค้าอุตสาหกรรมจะมีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรคงที่หรือสูงขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ราคาสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทสโนโลยีระดับสูงได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว เช่น ราคารถยนต์ประมาณคันละ 300,000 บาท เมื่อ 10 ปีที่แล้วได้เพิ่มขึ้นเป็นคันละประมาณ 600,000 บาท ราคาในปัจจุบันหรือเพิ่มประมาณร้อยละ 100 ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในรอบ 10 ปี ไม่ได้ขยับตัวสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ข้าว ยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าหลักสำคัญของประเทศไทยในการผลิตเพื่อส่งออก จะเห็นว่าเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรขายข้าวราคาเกวียนละ 2,500 - 3,000 บาท ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในระดับดังกล่าว ยางพารา ( แผ่นรมควัน ) กิโลกรัมละ 15-18 บาท ก็ยังคงอยู่ระดับดังกล่าวในปัจจุบัน

ความแตกต่างของราคาสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมดังกล่าวนี้ ย่อมชี้ให้เห็นถึงข้อได้เปรียบและเสียเปรียบระหว่างประเทศที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรกรรม ฉะนั้น ประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรกรรมก็ย่อมจะต้องพยายามเพิ่มปริมาณและประสิทธิภาพของการผลิตให้ทันต่อสภาพของการเสียเปรียบดุลย์การค้า การกระทำดังกล่าวนี้ก็หมายถึง การที่จะต้องขยายพื้นที่การเกษตรไปพร้อมกับเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้สูงขึ้น และการเพิ่มผลผลิตก็มีผลกระทบต่อการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้การเพิ่มผลผลิตโดยใช้ปัจจัยต่าง ๆ เช่น สารเคมี ย่อมทำให้สภาพแวดล้อมเกิดมลภาวะ และมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

ในประเทศไทย ตั้งแต่ได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อปี 2504 ในขณะนั้นประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้คิดเป็นร้อยละ 45 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งอยู่ในเกณฑ์พอดีตามมาตราฐานสากลที่กำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ในระดับนี้ แต่เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านไปจนถึงสิ้นสุดแผนฉบับที่ 5 ในปี 2529-2531 ปรากฏว่าประเทศไทยได้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปจำนวนมาก จนเหลือพื้นที่ป่าไม้อยู่เพียงร้อยละ 28 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ นั่นก็หมายความว่าการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยตามนโยบายชองรัฐบาลที่ผ่านมานั้นได้มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยการขยายพื้นที่บุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าไม้เสียเป็นส่วนใหญ่ดังปรากฎในตารางที่ 2.1

ตารางที่ 2.1 ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลงกับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่การเพาะปลูกพืชไร่และข้าว ในช่วงระหว่างปี 2504- 2531

(หน่วย : ไร่)
พื้นที่
2504
2510
2516
2520
2525
2530
2531
ป่าไม้ 171,017,812 167,192,826 138,566,875 116,575,025 97,875,000 91,285,000 89,877,162
พืชไร่ 8,070,000 13,878,000 16,524,000 23,324,732 24,428,107 33,026,000 35,719,252
ข้าว 38,614,000 40,064,000 47,043,000 71,467,300 73,322,199 61,571,000 74,181,445

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2504-2531

การเกษตรที่เน้นการขยายพื้นที่โดยการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้และเน้นการเพาะปลูกเฉพาะพืชเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ฝ้าย มันสำปะหลัง ปอ อ้อย ข้าวฟ่าง ถั่ว ฯ ล ฯ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ประเทศไทยได้ตั้งเป็าหมายเพื่อการผลิตเพื่อส่งออกนั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทำให้เกิดปัญหาติดตามมาดังนี้คือ

1. ปัญหาดินเสื่อมโทรม

ในสภาพของป่าไม้ตามธรรมชาติจะมีสภาพของพืชที่มีความหลากหลายปกคลุมพื้นดิน พืชทั้งเล็กและใหญ่ได้ยึดดินไม่ให้ถูกชะล้าง บังแดดไม่ให้ได้รับผลกระทบของความร้อนจากแสงแดดมากเกินไป ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น เมื่อร่วงหล่นก็จะทับถมเป็นอินทรียวัตถุทับถมบนพื้นดิน ซึ่งนอกจากเป็นอาหารของพืชแล้วยังจะช่วยซับน้ำฝนไม่ให้ไหลบ่าลงสู่ที่ต่ำเร็วเกินไป รากของพืชนานาชนิดหยั่งลึกลงไปในดินจะทำให้ดินมีสภาพโปร่ง และมีโพรงอากาศที่น้ำจะซึมลึกลงไปในดินทำให้ดินบริเวณนั้นมีน้ำและความชื้นเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช นอกจากนี้ยังอุ้มน้ำฝนที่ตกลงมาไม่ให้ไหลบ่าลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็วจนอาจเกิดเป็นน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ล่างอีกด้วย

เมื่อพื้นที่ป่าถูกทำลายไปความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้น เช่น อินทรีย์วัตถุที่ทับถมสะสมเป็นเวลาร้อย ๆ ปี ก็จะถูกฝนชะล้างไหลไปลงสู่ที่ต่ำ ไปทับถมจนก่อให้เกิดความตื้นเขินของอ่างเก็บน้ำบริเวณเหนือเขื่อนที่ถูกชะล้างจนขาดหน้าดินและอินทรีย์วัตถุก็จะไม่สามารถปลูกพืชให้ได้ผลดี Arbhabhirama et, al ( 1998 ) ได้รายงานโดยอ้างข้อมูลจากสถาบันวิจัยต่าง ๆ ดังนี้ว่าดินของประเทศไทยเสื่อมความสมบูรณ์ และถูกชะล้างพังทะลายในระดับที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการที่จะเพิ่มหรือแม้แต่จะรักษา ระดับผลผลิตการเกษตรให้คงตัวอยู่ต่อไปได้ในด้านทางกายภาพ ซึ่งดินมีการอัดแน่นมากขึ้นจนไม่สามารถจะอุ้มน้ำและความชื้นให้อยู่ได้นาน Narman ( 1984 ) ได้รายงานว่าประสิทธิภาพของการซึมซับ ( infiltration ) น้ำของดินลดลงถึงร้อยละ 62 เมื่อเปรียบเทียบกับดินในป่าไม้ธรรมชาติ Srikhajon, et, at ( 1980 ) ได้ระบุว่าพื้นที่ดินประมาณ 107 ล้านไร่ ทั่วประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการชะล้างพังทะลายในระดับปานกลางจนถึงรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดชันที่เกินกว่าร้อยละ 5 ในบางพื้นที่ของกลุ่มน้ำน่าน การชะล้างพังทะลายของหน้าดินอาจจะสูงกว่า 16 ตัน / ไร่ / ปี Chomchan and Panichpong (1986) รายงานว่าในลุ่มแม่น้ำปิงและน่าน อัตราการสูญเสียหน้าดิน อยู่ระหว่าง 1-10 ตัน/ไร่/ปี แต่ถ้าหากมีการบุกรุกป่าไม้เพื่อทำการเพาะปลูกโดยไม่อนุรักษ์ดินให้ถูกต้อง ความสูญเสียอาจจะเพิ่มขึ้นกว่าอัตราเฉลี่ยสูงถึง 6-10 เท่าตัว การสูญเสียหน้าดินในระดับดังกล่าวนี้ ถือว่าอยู่ระดับที่เกินกว่าระดับที่ควรจะรับได้ตามมาตราฐานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ Arnoldus ( 1977 ) นอกจากนี้กรมพัฒนาที่ดิน ( ปี 2528 ) ยังได้เทียบการสูญเสียของหน้าดินเป็นธาตุอาหารของพืชที่สูญเสียไปทั้งหมดถึงปีละ 27.4 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นธาตุโปรแตสเซียมสูง ถึง 24.1 ล้านตัน ไนโตรเจน 3.1 ล้านตัน และฟอสฟอรัส 0.2 ล้านตัน

2. การเกิดระบาดของศัตรูพืช

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ในสภาวะของการมีความสมดุลย์ไม่มีการระบาดของสัตว์ และพืชชนิดใดในสภาพการณ์เช่นนี้เพราะความหลากหลายของพืชจะทำให้เกิดความหลากหลายของสัตว์ซึ่งมีทั้งศัตรูพืช และศัตรูธรรมชาติ1 ที่คอยควบคุมประชากรซึ่งกันและกัน แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนสภาพดังกล่าวให้เป็นการเกษตรแบบปลูกพืชเดี่ยว ( monoculture ) เช่นที่ได้ปฏิบัติกันในปัจจุบันเท่ากับเป็นการกำจัดสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งสัตว์และพืชที่มีอยู่เดิมในธรรมชาติให้หมดไป คงเหลือแต่พืชที่มนุษย์ปลูกขึ้นมาเท่านั้น ฉะนั้นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยพืชที่มนุษย์ปลูกขึ้นมาก็คือ ศัตรูพืช เท่านั้นที่จะมีโอกาสขยายพันธ์ได้ต่อไป ในทางตรงข้ามศัตรูธรรมชาติที่เป็นตัวห้ำ2 ตัวเบียฬ3 ที่คอยควบคุมศัตรูพืชก็จะลดจำนวนมากเพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ในสภาพเช่นนี้ศัตรูพืชจึงเกิดระบาดอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

3. การเพิ่มระบาดมากขึ้นของศัตรูพืช

เมื่อมีการระบาดของศัตรูพืชเกิดขึ้น เกษตรกรส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็มักจะนิยมใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่มีจำหน่ายอย่างกว้างขวางมากมายทำการพ่นกำจัด เพราะได้ผลชงัด รวดเร็ว ทันใจ ภายหลังพ่นสารเคมีไม่กี่นาทีศัตรูพืชก็จะตาย การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นไม่เพียงแต่จะกำจัดศัตรูพืชที่ต้องการกำจัดเท่านั้น แต่ศัตรูธรรมชาติก็จะถูกกำจัดไปด้วยและมักจะได้รับผลกระทบมากกว่าศัตรูพืช เพราะศัตรูธรรมชาติอยู่ในที่เปิดเผยมากกว่าศัตรูพืชซึ่งหลบซ่อนอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของพืช ฉะนั้นในระยะยาวต่อไปศัตรูธรรมชาติก็จะลดลง เปิดโอกาสให้ศัตรูพืชขยายพันธุ์มากขึ้นกว่าเดิมเรื่อย ๆ Smith and Van Den Bosch ( 1967 ) ได้อธิบายพร้อมกับภาพประกอบที่แสดงให้เห็นว่า ภายหลังเมื่อมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืช จะมีผลกระทบต่อประชากรของตัวห้ำ ตัวเบียฬ ที่ลดลงมากกว่าจำนวนประชากรของแมลงศัตรูพืช ฉะนั้นในเวลาต่อมาศัตรูพืชก็จะขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น เพราะตัวห้ำ ตัวเบียฬ ซึ่งเดิมเคยควบคุมอยู่ลดจำนวนลง จึงเป็นสาเหตุทำให้ศัตรูพืชชนิดที่ต้องการกำจัดด้วยสารกำจัดศัตรูพืชกลับมีการระบาดเพิ่มมากขึ้นในในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ศัตรูพืชชนิดอื่น ๆ ซึ่งเดิมไม่เกิดระบาดเพราะมีตัวห้ำ ตัวเบียฬ คอยควบคุมก็ปรากฏว่าภายหลังการใช้สารกำจัดศัตรูพืชได้ทำให้ตัวห้ำ ตัวเบียฬ ถูกทำลายไป จึงเปิดโอกาสให้ศัตรูพืชชนิดใหม่ที่ไม่เคยระบาดเกิดระบาดมากขึ้นอีก

4. การสร้างความต้านทานของแมลงศัตรูพืชต่อสารกำจัดศัตรูพืช

โดยธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตย่อมมีการปรับตัวเองให้อยู่รอด และด้วยเหตุผลแห่งทฤษฎีทางพันธุกรรมได้อธิบายว่า เพราะเหตุใดศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ จำนวนมากที่สร้างความต้านทานต่อสารกำจัดศัตรูพืชได้อย่างรวดเร็ว นักกีฏวิทยา และชาวสวนผักทราบดีว่าหนอนใยผัก และหนอนหนังเหนียว ฯ ล ฯ สามารถสร้างความต้านทานต่อสารกำจัดศัตรูพืชได้รวดเร็วเพียงใด ชาวสวนที่ปลูกพืชผัก และปลูกองุ่น ในปัจจุบันกำลังประสบปัญหานี้อย่างหนัก ชาวสวนองุ่นลงทุนปลูกองุ่นไร่ละเกือบสองแสนบาท ในจำนวนพวกนี้เป็นค่าสารกำจัดศัตรูพืชประมาณไร่ละ 30,000 บาท เมื่อกำจัดหนอนหนังเหนียวไม่อยู่ก็หมายถึงการเป็นหนี้สินอย่างท่วมท้น

จากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ พอจะอธิบายได้ว่า ศัตรูพืชที่มีชีพจักรสั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สามารถจะขยายพันธุ์ได้หลายชั่ว ( generation ) ต่อปี เช่น หนอนใยผัก Plutella sp. หนอนหนังเหนียว Spodoptera sp. จะมีชั่วชีวิตครบรอบประมาณ 14-30 วัน นั่นหมายถึงการที่แมลงชนิดนี้สามารถจะขยายพันธุ์ที่ต้านทานต่อสารกำจัดศัตรูพืชได้เร็วเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะภายหลังที่ใช้สารกำจัดไปแล้วประชากรของแมลงที่ต้านทานจะไม่ตาย ส่วนที่ตายไปก็คือแมลงที่อ่อนแอ ฉะนั้นฤดูต่อไปแมลงที่ต้านทานเท่านั้นที่มีโอกาสได้ขยายพันธุ์ จึงอธิบายเป็นเหตุผลว่าทำไมศัตรูพืชที่ขยายพันธุ์ในเวลาสั้นจึงสร้างความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงได้รวดเร็ว

ผลกระทบจากข้อ 1 และ 2 ทำให้เกษตรกรต้องเพิ่มปริมาณของสารกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น หรือจะต้องเปลี่ยนชนิดของสารบ่อยครั้ง และเพิ่มจำนวนมากขึ้นทำให้เกิดผลติดตามมาคือค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น บางท่านที่ไม่คุ้นเคยกับการลงทุนทางการเกษตรอาจจะไม่เชื่อว่า ในปัจจุบันชาวสวนส้มกับชาวสวนองุ่นในภาคกลาง จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร นั้นลงทุนค่าสารกำจัดศัตรูพืชสูงถึงไร่ละ 20,000-30,000 บาท และผลติดตามก็คือ สารตกค้างในสิ่งแวดล้อม และในพืชผลการเกษตร

5. พิษตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในสภาพแวดล้อม

จากปัญหาการระบาดเพิ่มมากขึ้น และการสร้างความต้านทานต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงเป็นสาเหตุทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ปัญหาที่ติดตามมาก็คือ พิษตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในสภาพแวดล้อมในปริมาณที่มากน้อย และยาวนานต่างกันออกไปตามชนิดของสารกำจัดศัตรูพืช สารกำจัดศัตรูพืชพวก คลอริเนตเตดไฮโดรคาร์บอน ( Chlorinated Hydrocarbon ) เช่น ดี.ดี.ที. ( D.D.T ) ดีลดริน ( dieldrin ) และออลดริน ( aldrin ) เป็นต้น สลายตัวได้ช้ามาก โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในดินแล้วจะมีพิษตกค้างได้นานเป็นปี ๆ สารกำจัดศัตรูพืชพวกสารประกอบฟอสฟอรัส ( Organophosphorus Compounds ) เช่น พาราไธออน ( parathion ) ไบดริน ( bidrin ) และเมวินฟอส ( Mevinphos ) ฯ ล ฯ แม้ว่าจะสลายตัวได้เร็วกว่าพวกแรกแต่ก็สามารถตกค้างอยู่ในดินได้นาน ไม่น้อยกว่า 3 เดือน หรือ 1 ฤดูเพาะปลูก สารพิษที่สกัดมาจากพืช เช่น ไพรีทรัม ( pyrethrum ) โล่ติ๊นและนิโคติน นั้น สลายตัวได้ง่ายกว่าสารกำจัดศัตรูพืชชนิดอื่น ๆ ส่วนสารกำจัดศัตรูพืชชนิดที่มีส่วนผสมของปรอท ทองแดง ตะกั่ว และสารหนูนั้นเมื่ออยู่ในดินแล้วจะไม่สลายตัวเลย (ประยูร, 2517)

กองวัตถุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาถึงปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ในดินตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย พบว่ามีสารกำจัดศัตรูพืชประเภทคลอริเนตเตดไฮโดรคาร์บอน (Chlorinated Hydrocarbon ) ตกค้างอยู่ในดินตามภาคต่าง ๆ ในปริมาณตั้งแต่ 0.02 - 2.0 ส่วนในล้านส่วน ( ppm. ) และดินในภาคกลางที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มี ดี.ดี.ที.ตกค้างอยู่ในดินสูงกว่าภาคอื่น ๆ ( 2.0 ppm. ) (พงษ์ศรี, 2519) และจากการศึกษาปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างอยู่ในดินตะกอนและน้ำในภาคต่าง ๆ พบว่า มีสารกำจัดศัตรูพืชคลอริเนตเตดไฮโดรคาร์บอน ( Chlorinated Hydrocarbon ) ตกค้างอยู่ในดินตะกอนและน้ำเฉลี่ยตั้งแต่ 0.01 - 0.03 ส่วนในล้านส่วน ( ppm. ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณสูงสุด ภาคตะวันออก และภาคกลางมีปริมาณต่ำสุด ยกเว้นคลองดำเนินสะดวก ดี.ดี.ที. ตกค้างอยู่ถึง 0.25 ส่วนในล้านส่วน ( ppm. ) (นวลศรี, 2519)

แผนกวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำรวจสภาวะทางเคมีบางอย่างของน้ำเสียในอ่าวไทย เมื่อปี พ.ศ. 2516 พบว่า ดินตะกอนในอ่าวไทยบริเวณที่ติดกับปากน้ำสายต่าง ๆ มี ดี.ดี.ที. ตกค้างสะสมอยู่ในทุกตัวอย่างเฉลี่ยเท่ากับ 0.05 ส่วนในล้านส่วน ( ppm. ) (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2516)

วิภา เมฆสุด (2523) ได้ทำการวิเคราะห์คุณภาพและปริมาณสารพิษปราบศัตรูพืชในแหล่งน้ำ 3 แห่ง บริเวณที่วิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา จากสภาพการใช้ที่ดินต่าง ๆ คือ พื้นที่ป่าดิบแล้งธรรมชาติ พื้นที่ไร่ร้าง และพื้นที่ป่าไม้ที่มีการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย โดยทำการเก็บตัวอย่างน้ำ และตัวอย่างดินตะกอนในแหล่งน้ำทั้ง 3 แห่งในระหว่างเดือนมิถุนายน 2522 ถึงเดือนพฤษภาคม 2523 มาทำการตรวจวิเคราะห์หาสารกำจัดศัตรูพืชพวกคลอริเนทเตดไฮโดรคาร์บอน ( Chlorinated Hydrocarbon ) ผลปรากฏว่าพบสารกำจัดศัตรูพืชในแหล่งน้ำทั้ง 3 แห่ง ปริมาณความเข้มข้นของสารกำจัดศัตรูพืชพบมากที่สุดในน้ำ และดินตะกอนของลุ่มน้ำที่มีการทำการเกษตรซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าการบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อทำการเกษตรกรรมทำให้มีสารกำจัดศัตรูพืชสะสมอยู่ในแหล่งน้ำอย่างเห็นได้ชัด

6. สารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในโซ่อาหาร ( Food chains )

สารกำจัดศัตรูพืชนอกจากจะอยู่ในดินที่ใช้ปลูกพืชหรือในดินที่ได้รับการฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชมาแล้ว สารกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ยังสามารถกระจายไปยังที่อื่นที่ไม่เคยมีการฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชมาก่อนด้วยการชะล้างของน้ำฝน หรือน้ำที่ใช้ในเกษตรกรรมต่าง ๆ หรือโดยลมทำให้สารกำจัดศัตรูพืชหมุนเวียนในระบบนิเวศน์และเข้าไปสะสมในสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทางโซ่อาหาร ( Food chains ) เนื่องจากสารกำจัดศัตรูพืชส่วนมากจะไม่ละลายน้ำ ดังนั้นจึงตกตะกอน หรือปะปนในแม่น้ำลำคลอง ห้วย หนอง บึง ทะเล และมหาสมุทรต่าง ๆ และไปสะสมอยู่ในสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ และมีผลทำให้แพลงตอน ( Plankton ) และสัตว์น้ำขนาดเล็กซึ่งเป็นโซ่อาหารของปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่เป็นอาหารของมนุษย์ตายได้

สิ่งที่น่าวิตกคือ การสะสมตัวของสารกำจัดศัตรูพืชในวงจรโซ่อาหารจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับขั้นจากการกินเป็นทอด ๆ ตัวอย่างเช่น แพลงตอนมีปริมาณของสารกำจัดศัตรูพืชชนิด DDT. สะสมอยู่ในตัว ( 0.04 ppm ) มากกว่าปริมาณของสารกำจัดศัตรูพืชที่อยู่ในน้ำที่แพลงตอนอาศัยอยู่ ( 0.000003 ppm ) และปลาที่กินแพลงตอนก็จะมีปริมาณของสารกำจัดศัตรูพืชสะสมอยู่ในตัวปลามากกว่าในแพลงตอน ( 2.0 ppm ) และนกที่กินปลาก็จะมีปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชสะสมในตัวนกมากกว่าปลา ( 25 ppm ) จะเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของ DDT ในน้ำ 0.000003 ppm. กลายเป็น 0.04 ในแพลงตอน ( เพิ่มขึ้น 13,333 เท่าตัว ) และจากแพลงตอนถ่ายทอดไปยังปลา 2.0 ppm ( เพิ่มขึ้น 50 เท่าตัว ) และจากปลาถ่ายทอดไปยังนก 25 ppm ( เพิ่มขึ้น 12.5 เท่า )

จากการที่มีสารกำจัดศัตรูพืชสะสมอยู่ในลูกโซ่อาหารทำให้สิ่งมีชีวิต ได้รับสารกำจัดศัตรูพืชสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยการกินเป็นทอด ๆ เมื่อสารกำจัดศัตรูพืชสะสมถึงจุด ๆ หนึ่ง ที่สิ่งมีชีวิตไม่อาจทนได้ สิ่งมีชีวิตก็จะตายโดยเฉพาะพวกแพลงตอนและสัตว์น้ำขนาดเล็กจะตายก่อนทำให้สมดุลย์ธรรมชาติขาดไปและส่งผลกระทบถึงปลา และสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่เป็นอาหารมนุษย์ สิ่งที่น่าวิตกคือ มนุษย์ซึ่งอยู่บนสุดของโซ่อาหาร ( Top of food chain) มนุษย์กินทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ และพืชโดยไม่มีอะไรมากินมนุษย์ ดังนั้นมนุษย์จึงเป็นผู้ที่สะสมสารกำจัดศัตรูพืชได้มากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ นอกจากนั้นช่วงอายุ ( lift span ) ของมนุษย์ก็จะยาวนาน โอกาสที่จะปรับตัวเข้ากับสารกำจัดศัตรูพืชต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามทฤษฎีของชาร์ล ดาวร์วิน จึงน้อยกว่าสัตว์อื่น ๆ ดังนั้นถ้ามนุษย์ไม่ระมัดระวังในการใช้สารกำจัดศัตรูพืชมนุษย์จะเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากโลกก่อนสัตว์อื่น (นาท, 2524)

7. สารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผลิตผลทางการเกษตร

การตกค้างของวัตถุมีพิษในการผลิตผลทางการเกษตรซึ่งใช้เป็นอาหารของมนุษย์ และสัตว์นั้น พูนสุข (2526) กล่าวว่า เป็นผลเนื่องมาจากการใช้วัตถุมีพิษทางการเกษตรที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยเกษตรกรจะใช้วัตถุมีพิษชนิดใหม่ ๆ ที่มีพิษสูงและใช้ในปริมาณที่มากเกินขนาดหรือความจำเป็น ในขณะเดียวกันก็นิยมผสมวัตถุมีพิษหลาย ๆ ชนิดเข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดการตกค้างของวัตถุมีพิษในการผลิตทางการเกษตร แล้วยังทำให้การลงทุนสูงขึ้นด้วย ส่วนการเก็บเกี่ยวผลิตผลนั้น เลอศักดิ์ (2521) พบว่าเกษตรกรในเขตท้องที่อำเภอดำเนินสะดวก และอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ทำการเก็บเกี่ยวโดยไม่คำนึงถึงการตกค้างของวัตถุมีพิษ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ประเภทออร์การโนฟอสเฟต เช่น เมทธิล พาราไธออน ฟอสตริน เป็นต้น วัตถุมีพิษเหล่านี้จะมีระยะเวลาในการสลายตัวประมาณ 3-7 วัน แต่เกษตรกรส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวพืชผลในช่วง 1-3 วัน ภายหลังจากการใช้วัตถุมีพิษแล้ว จึงทำให้เกิดอันตรายได้ ทั้งนี้เนื่องจากขาดความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติในการสลายตัวของวัตถุมีพิษ ซึ่ง ณิศ และ สุธรรม (2519) พบว่า การสะสมของยาฆ่าแมลงในผักโดยทั่ว ๆ ไปจะหมดฤทธิ์ภายใน 1-2 อาทิตย์ในฤดูฝน และ 2-3 อาทิตย์ในฤดูหนาว

นอกจากนั้น นวลศรี (2527) ได้สำรวจปริมาณวัตถุมีพิษตกค้างในผลิตผลการเกษตรต่าง ๆ ได้แก่ ผัก ผลไม้ ข้าว ข้าวโพด ถั่วต่าง ๆ ตลอดจนพืชไร่อื่น ๆ และผลิตภัณฑ์การเกษตรประเภทนม ไข่ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เป็นต้น สรุปว่าพบวัตถุมีพิษประเภทคลอริเนตเตดไฮโดรคาร์บอน ( Chlorinated Hydrocarbon ) และออร์กาโนฟอสเฟต ตกค้างอยู่ประมาณ 90 % ของตัวอย่างทั้งหมด โดยมีปริมาณแตกต่างกัน การตกค้างของวัตถุมีพิษในผลิตผลทางการเกษตรก่อให้เกิดการสะสมของวัตถุมีพิษตามห่วงโซ่อาหาร ( Food chain ) และเป็นอันตรายต่อมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้าย โดยเฉพาะพืชผักมีจำนวนไม่น้อยที่มีวัตถุมีพิษตกค้างอยู่เกินค่าความปลอดภัยที่คณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอาหารและการเกษตรร่วมกับองค์การอนามัยโลก

8. ผลกระทบของการเกษตรต่อป่าชายเลน

ความสำคัญของพื้นที่ป่าชายเลนนั้นเป็นแหล่งที่สัตว์ทะเลนานาชนิดได้ใช้เป็นที่เพาะพันธุ์และเป็นที่อนุบาลตัวอ่อนโดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ ( Penacus mondodon ) และกุ้งแชบ๊วย ( P. merguiensis ) จะวางไข่ในบริเวณที่ไกลฝั่งออกไปและจะเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งบริเวณแนวป่าชายเลนในระยะที่เป็นตัวอ่อนขั้น Postiarva เพื่อหาอาหารและเจริญเติบโตในบริเวณนี้ เมื่อเจริญเติบโต ขั้นเต็มวัยก็จะเคลื่อนที่ออกไปบริเวณห่างจากฝั่งทะเลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ ป่าชายเลนเป็นแหล่งสร้างและสะสมอินทรียวัตถุที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตได้อาศัยเป็นอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกนี้ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งของธรรมชาติที่ช่วยกำจัดกากของเสียก่อนที่จะผ่านไปลงยังทะเลและมหาสมุทร และที่สำคัญอีกประการก็คือ เป็นแหล่งที่มนุษย์จะได้ไม้มาเพื่อการใช้สอยเป็นเชื้อเพลิง และเป็นแนวกันพายุเมื่อมีพายุเกิดขึ้นอีกด้วย

ณิฐารัตน์ ( 2534 ) ได้อ้างอิงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 15 ธันวาคม 2530 สรุปความได้ว่า พื้นที่ป่าชายเลนทั่วประเทศยังคงมีเหลืออยู่ในปี พ.ศ. 2529 เพียง 1,964.29 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,227,674 ไร่ เท่านั้น โดยมีอัตราลดลงในช่วงระยะเวลา 7 ปี ( ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522-2529 ) ถึง 908.79 ตารางกิโลเมตร หรือ 574,244 ไร่คิดเป็นอัตราลดลงเฉลี่ยรายปี 129.82 ตารางกิโลเมตร หรือ 81,137 ไร่ โดยพบว่าเนื้อที่ป่าชายเลนที่ลดลงสูงสุดถึงปีละ 63.57 ตารางกิโลเมตร ส่วนภาคตะวันออก มีเนื้อที่ป่าชายเลนที่ลดลงเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 23.09 ตารางกิโลเมตร ส่วนภาคกลางมีเนื้อที่ป่าชายเลนลดลงเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 43.16 ตารางกิโลเมตร ปัจจัยที่มีส่วนทำให้เนื้อที่ป่าชายเลนของประเทศไทยลดน้อยลงดังกล่าวที่พอสรุปได้มี 9 ประการ คือการทำนากุ้งและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การตัดถนนผ่านพื้นที่ป่าชายเลน การก่อสร้างบ้านเรือนและสถานที่ราชการขึ้นใหม่ การทำเหมืองแร่ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรม การทำนาเกลือ การลักลอบตัดฟันไม้ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ

การเปลี่ยนแปลงสภาพป่าชายเลนให้เป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้งซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางนั้นมีผลกระทบต่อสภาพนิเวศน์ธรรมซึ่งมีความสมดุลย์ และอุดมสมบูรณ์เกิดความเสื่อมโทรมลงสัตว์น้ำซึ่งประชาชนในท้องถิ่นได้อาศัยจับมาเป็นอาหารและเป็นสินค้าเพื่อขายดำรงชีพต้องลดลงอย่างมาก ชาวประมงท้องถิ่นหาเลี้ยงชีพไม่เพียงพอ เกิดปัญหาความอดอยากยากจน พื้นที่ป่าชายเลนถูกบุกรุกส่วนใหญ่เป็นของผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีจากท้องถิ่นอื่นไปลงทุนซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดิน ลงทุนเลี้ยงกุ้งกุลาดำ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยการเลี้ยงขยายพันธุ์ในสภาพที่มีประชากรของกุ้งหนาแน่น ใช้อาหารเสริมเพื่อกุ้งเจริญเติบโตเร็ว สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดภาวะน้ำเสีย กุ้งเกิดเป็นโรคระบาดติดต่อจนต้องมีการใช้สารเคมี และสารปฏิชีวนะใส่ลงในบ่อเพื่อแก้ไขไม่ให้กุ้งเป็นโรคตาย สารที่ใส่ลงไปรวมทั้งน้ำที่เน่าเสียได้ถูกถ่ายเทออกจากนากุ้งไปยังคลองระบายน้ำทำให้น้ำในคลองเน่าเสีย เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพการเพาะปลูกข้าว และปลูกพืชอื่น ๆ ไม่สามารถจะใช้น้ำเพื่อเพาะปลูกพืชได้ จึงมีการร้องเรียนและเกิดความขัดแย้ง ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เกิดปัญหาสังคมติดตามมา ซึ่งนับวันปัญหาดังกล่าวจะส่งผลต่อผู้ที่ทำธุรกิจเพาะเลี้ยงกุ้งโดยเฉพาะแถบสมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และจันทบุรี ซึ่งในเรื่องนี้จากผลการวิจัยพอสรุปได้ว่าแหล่งน้ำเสียที่มาจากบ่อเลี้ยงกุ้งนั้นมาจาก 2 แหล่งคือ จากอาหารที่ให้สำหรับเลี้ยงกุ้ง ถ้าให้อาหารมากเกินไปก็จะมีอาหารเหลือและถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรีย จะทำให้น้ำมีปริมาณออกซิเจนลดต่ำลง แหล่งน้ำเสียที่สอง คือน้ำเสียที่เกิดจากระบบขับถ่ายของตัวกุ้งเอง ซึ่งมักจะเป็นสารจำพวกแอมโมเนีย ซึ่งสารเหล่านี้เมื่อลงสู่แหล่งน้ำจะถูกย่อยสลายเป็นไนเตรท และไนโตรเจนซึ่งจะเป็นอาหารของพวกสาหร่าย ซึ่งทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของพวกสาหร่าย มีผลทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดต่ำลงได้ สารจำพวกแอมโมเนียปกติจะมีความเป็นพิษค่อนข้างสูงต่อสัตว์น้ำ

ดังนั้นจะเห็นว่าปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นจากน้ำเสียของบ่อเลี้ยงกุ้งนั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้เพาะเลี้ยง และต่อชาวบ้านชาวประมงที่อาศัยดำรงชีพโดยการจับสัตว์น้ำในบริเวณใกล้เคียงด้วย โดยที่ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดน้อยลง มาตราการสำหรับการแก้ไขน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งนั้นควรเป็นมาตราการอันหนึ่งที่รัฐควรบังคับ หรือสนับสนุนให้เกิดมาตรการนี้ขึ้น และเห็นได้ชัดเจนว่าในบริเวณที่เลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติจะมีปัญหามลภาวะนี้น้อยกว่าบริเวณที่เลี้ยงกุ้งแบบพัฒนา ปัญหามลภาวะที่เกิดจากน้ำเสียนี้เป็นปัญหาให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงกุ้งแบบใช้เทคโนโลยีสูง ต้องลงทุนมากขึ้นจนผู้ประกอบการจำนวนมากประสบกับภาวะการขาดทุนและเลิกล้มกิจการในทุกท้องที่ ภายหลังจากที่ได้ดำเนินการไปในระยะแรกซึ่งได้กำไรแต่ต่อมาต้องประสบภาวะน้ำเน่าเสีย กุ้งตายเป็นจำนวนมากและแก้ไขไม่ได้ก็ต้องขาดทุนดังกล่าว

ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ( bio-diversity ) นั้น จิราภรณ์ และคณะ ( 2525 ) ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบองค์ประกอบชนิดของสัตว์หน้าดินในป่าชายเลนที่เสื่อมสภาพและในป่าชายเลนธรรมชาติ บริเวณที่ศึกษาแบ่งออกเป็น 4 บริเวณ คือ บริเวณป่าชายเลนธรรมชาติ บริเวณป่าปลูก บริเวณป่าชายเลนธรรมชาติที่มีต้นฝาดแดง ( Lumnitzera racemosa ) เป็นพรรณไม้ที่เด่น และบริเวณป่าชายเลนที่เสื่อมสภาพ เนื่องจากการทำนากุ้ง พบว่า องค์ประกอบของสัตว์หน้าดินทั้งในแง่จำนวนชนิด ความหนาแน่นของมวลชีวภาพในป่าชายเลนธรรมชาติที่มีต้นโกงกางใบเล็ก ( Rhizophora apiculata ) และพรรณไม้อื่นอีก 9 ชนิดขึ้นอยู่นั้น จะมีสัตว์หน้าดินจำนวนมาก เช่น ปู ( Chiromantes eumolpe ) และพวก Cammaridean amphipods ซึ่งเราสามารถจะพบได้ทุกขนาดทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ แต่ในป่าปลูกจะพบแต่ปูแสมขนาดเล็ก ซึ่งจะอยู่เฉพาะบริเวณที่มีน้ำท่วมถึง ส่วนบริเวณป่าที่เสื่อมคุณภาพจากการทำนากุ้งจะพบปูน้อยชนิด และพบเฉพาะปูที่เจริญวัยเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดความลดน้อยถอยลงของสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของมนุษย์ในสภาพการเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลนตามธรรมชาติไปเป็นสภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ จิราภรณ์ ( 2525 ) ได้เสนอแนวความคิดในการพัฒนาระบบนิเวศน์ป่าชายเลนที่เกี่ยวกับการประมงไว้ว่า ความสำเร็จของการเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งขึ้นอยู่กับความชุกชุมของลูกสัตว์น้ำที่มีอยู่ในบริเวณนั้น และความอุดมสมบูรณ์ของอาหารซึ่งพบได้ในป่าชายเลนธรรมชาติ ถ้าสภาพป่าชายเลนเปลี่ยนแปลงไปย่อมมีผลต่อความอุดมสมบูรณ์และวงจรอาหาร ( nutrient cycle ) ด้วย พร้อมทั้งยกตัวอย่างการศึกษาในปี 2521 ที่ศึกษาอัตราการย่อยสลายของพวกซากใบไม้ต่าง ๆ ในป่าชายเลนเป็นอินทรียสาร ( litter fall ) พบว่าอัตราการย่อยสลายในนากุ้งร้างจะต่ำกว่าที่พบในป่าชายเลนธรรมชาติเป็นอย่างมาก ดังนั้น ณิฐารัตน์ ( 2524 ) ได้ให้ข้อคิดเห็นโดยเน้นว่า เป็นสิ่งที่เราควรอนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติไว้ให้ได้ เพราะถ้าความอุดมสมบูรณ์นี้ได้ลดลงไปแล้ว ผลผลิตที่จะได้จากการเพาะเลี้ยงก็จะลดลงไปด้วย ดังจะเห็นตัวอย่างได้ทั่วไปในขณะนี้ว่า ถึงแม้ว่าพื้นที่ทำการเลี้ยงกุ้งจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ผลผลิตกุ้งก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกับพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นเลย

9. ผลกระทบของอุตสาหกรรมการเกษตรต่อสภาพแวดล้อม

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ประเทศไทยได้ประสบกับมลภาวะการเน่าเสียของน้ำและอากาศที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมการเกษตร ก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างมากมาย ดังเช่น ในปี 2534 - 2535 ได้เกิดกรณีโรงงานน้ำตาลได้ปล่อยน้ำเสีย ( กากน้ำตาล ) ลงสู่แม่น้ำชี ในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ทำให้ปลาจำนวนมากตายไป จนเกิดกรณีการร้องเรียนของประชาชนต่อรัฐบาลที่เป็นฝ่ายควบคุมโรงงานดังกล่าวในปี 2536 เกิดกรณีการปล่อยน้ำเสียของโรงงานทำกระดาษฟินิกส์ที่จังหวัดขอนแก่น ลงสู่แม่น้ำ ทำให้เกิดอันตรายต่อปลาและสัตว์อื่น เป็นต้น เหตุการณ์เน่าเสียของน้ำในลำน้ำพอง ชี และมูล อันเนื่องมาจากโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล และโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยได้ปล่อยน้ำเสีย และสารโบลาสเข้มข้นลงในลำน้ำพอง เป็นเหตุให้น้ำเสีย และสารโบลาสแพร่กระจายไปตามลำน้ำความยาวถึง 30 กิโลเมตร ก่อให้เกิดสภาวะน้ำเสียจนทรัพยากรสัตว์น้ำไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ โดยน้ำเสียได้ไหลจากลำน้ำพองลงสู่น้ำชี แม่น้ำมูล และไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี ผ่านจังหวัดต่างๆ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ซึ่งมีระยะทางกว่า 520 กิโลเมตร โดยผ่านพื้นที่การเกษตรรวม 215 อำเภอ 2,000 หมู่บ้าน สร้างความเสียหายในพื้นที่น้ำกว่า 33,000 ไร่ ซึ่งการไหลผ่านของน้ำเสียทำให้สัตว์น้ำประมาณ 60 ชนิด ต้องมึนเมาและตายไปเป็นจำนวนมาก ในขั้นต้นนี้จากรายงานของกรมประมง ( 2535 ) ได้ประเมินมูลค่าของพ่อพันธุ์สัตว์น้ำตายไปแล้วประมาณ 20 ล้านบาท ส่วนความเสียหายต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพประมงขนาดเล็ก และความเสียหายของสัตว์น้ำวัยต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาหลายปีที่จะสามารถฟื้นตัวให้คงสภาพดังเดิมได้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมก็คือ ชาวชนบทที่ได้อาศัยปลา และสัตว์น้ำอื่น ๆ เป็นอาหารและรายได้ ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างมากในเหตุการณ์นี้

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วก็คือ ปัญหาน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในช่วงแล้ง ประเวศ ( 2536 ) ในปี 2530 เคยเกิดกรณีพิพาทระหว่างชาวนากับชาวนากุ้งในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางตั้งแต่จังหวัดสุพรรณบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม จนถึงฉะเชิงเทรา ซึ่งมีพื้นที่เพาะลี้ยงกุ้งก้ามกรามประมาณ 50,000 ไร่ เฉพาะสุพรรณบุรีมีกว่า 30,000 ไร่ ปัญหาในครั้งนั้นเกิดจากชาวนากุ้งปล่อยน้ำเสียเข้าไปในนาข้าวทำให้ข้าวเกิดอาการข้าวเฝือใบ ต้นหักล้ม เมล็ดลีบจนถึงไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เลย นอกจากนี้การเลี้ยงสัตว์ในลักษณะของอุตสาหกรรม เช่น การเลี้ยงสุกรจำนวนมาก โดยไม่มีระบบการกำจัดน้ำเสีย ซึ่งเกิดจากมูลและปัสสาวะสุกรที่ดีพอ ก็จะก่อให้เกิดมลภาวะ

จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่าเกษตรกรได้รับความเสียหายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินชีวิตประจำวัน ผลผลิตทางการเกษตร รายได้ของเกษตรกร ในระดับประเทศก็มีผลเสียทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่ดีเท่าที่ควร ก็เพราะได้รับผลกระทบจากสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นนี้เหมือนกัน


เอกสารอ้างอิง

กรมประมง ( 2535 ) รายงานการประชุมคณะอนุกรรมการการฟื้นฟูระบบนิเวศน์วิทยา และสัตว์น้ำ, ครั้งที่ 1 / 2536 วันที่ 6 พฤษภาคม 2535 ณ ห้องประชุมกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

การพัฒนาที่ดิน ( 2528 ) รายงานประจำปี 2527 กรุงเทพ ฯ, ประเทศไทย, หน้า 92

กองสิ่งแวดล้อมประมง รายงานสรุปผลการศึกษาสาเหตุการเน่าเสีย ลำน้ำพองในช่วง 20-21 พฤษภาคม 2536, คณะทำงานแก้ไขปัญหาน้ำพองเน่าเสีย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ขวัญชัย สมบัติศิริ ( 2527 ) ยาฆ่าแมลง ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จิราภรณ์ คชเสนี และสุทัศนีย์ บุญคง ( 2525 ) การศึกษานิเวศน์วิทยาเปรียบเทียบของสัตว์ระหว่างป่าชายเลนที่ถูกตัดฟันกับป่าชายเลนธรรมชาติ,รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เสนอสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( 2516 ) รายงานการสำรวจสภาวะทางเคมีบางประการของน้ำเสียในอ่าวไทย

ณิฐารัตน์ ปภาวสิทธิ์ ( 2534 ) ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อระบบนิเวศน์ป่าชายเลน เอกสารวิชาการการพัฒนาแบบยั่งยืน วราพร ศรีสุพรรณ ( บรรณาธิการ ) คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, มหาลัยมหิดล หน้า 27-44

ณิศ กีรติบุตร และสุธรรม อารีกุล ( 2519 ) รายงานผลการวิจัยเรื่องพิษยาฆ่าแมลงในพืชกับการป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นาท ตัณฑวิรุฬห์ ดร ( 2524 ) "นิเวศน์วิทยาและนิเวศน์พัฒนา" สารสิ่งแวดล้อม 8:1 ตุลาคม 2524

นาท ตัณฑวิรุฬห์ ดร ( 2531 ) แนวคิดการพัฒนาระบบนิเวศน์ป่าชายเลน จุลสารสภาวะแวดล้อม ปีที่ 7 เล่มที่ 5 : 10-12 2531

นวลศรี ทยาพัชร ( 2527 ) ผลงานวิจัยที่น่าสนใจเรื่องสารมีพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ข่าวกีฏและสัตววิทยา 4 ( 1 ) : 5-7 2527.

นวลศรี ทยาพัชร และคณะ ( 2519 ) การศึกษาวิจัยวัตถุมีพิษตกค้างในน้ำและดินตะกอน รายงานการวิจัยกองวิจัยวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร

บรรพต ณ ป้อมเพชร ( 2524 ) หลักการควบคุมแมลงศัตรูพืชความรู้พื้นฐานและความปลอดภัยเกี่ยวกับยาปราบศัตรูพืช ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชชีวินทรีย์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ประยูร ดีมา, นวลศรี ทยาพัชร และเจ้าหน้าที่วัตถุมีพิษการเกษตร อุบัติภัยจากสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตร กองวัถตุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตร (ไม่ระบุปีที่พิมพ์)

ประยูร ดีมา .( 2517 ) วัตถุมีพิษที่ใช้ในการเกษตรและการสาธารณสุข เอกสารทางวิชาการที่ 14 กรมส่งเสริมการเกษตร กรุงเทพ ฯ โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์การขายและการซื้อแห่งประเทศไทย

ประเวศ แสงเพชร ปัญหาน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในช่วงแล้ง คอลัมน์เกร็ดเกษตร หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 21 มกราคม 2536

พูนสุข หฤทัยธนาสันต์ ปัจจัยที่ทำให้เกิดสารมีพิษตกค้างในพืช ข่าวสารวัตถุมีพิษ 10 ( 4 ) : 100 2526

มนู โอมคุปต์ และ เล็ก มอญเจริญ ( 2534 ) รายงานกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เลอศักดิ์ จตุรภุช ( 2526 ) มูลเหตุสำคัญทำให้เกิดปัญหาจากวัตถุมีพิษ เอกสารวิชาการประกอบการอบรมหลักสูตรการใช้วัตถุมีพิษทางการเกษตรอย่างปลอดภัย ครั้งที่ 1 วันที่ 2-6 พฤษภาคม 2526 กองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

วิภา เมฆสุด ( 2523 ) การวิเคราะห์คุณภาพและปริมาณวัตถุมีพิษในแหล่งน้ำจากสภาพการใช้ที่ดินแบบต่าง ๆ บริเวณสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สถิติการเกษตรของประเทศไทยปีเพาะปลูก 2515 / 16, 2520 / 21, 2525 / 26, 2530 / 31 และ 2531 / 32 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพ ฯ ประเทศไทย

อนนท์ บุญศรี และ คิด จินดากุล ฟื้นฟูชีวิตสัตว์น้ำ คืนความใสสะอาดแด่ลำน้ำพอง ชี มูล คอลัมน์แด่ดวงใจสีเขียว หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 1 สิงหาคม 2536

Arbhabhirama, A., D, Phantunvanit, J.Elklngton, Phaitoon Jngkasuwan. ( 1988 ) . Thailand Natural Resources Profite. Oxford University Press. Oxford, New York. 431 pp.

Arnoldus, H.M.J ( 1977 ). Predicting Soil Loss Due to Sheet and Rill Erosion. Food and Agriculture Organization ( FAO ) Conservation Guide Volume I. p.88-98, edited by Kumkle, S.H. Rome.

Chomchan, S and Panichapong, S. ( 1986 ). Soil Erosion Study in the Ping and Nan River Basin, Land Development Department, Bangkok, 1-23

Harlan, J.R. ( 1975 ). Crops and Man. Amer. Soc. Agron. Madison. Wisconsin, 295 pp.

Norman, B.W. ( 1984 ) Report on the Comparison of New and Old Development Areas.Thai-Australia-World Bank Land Development Project, Chiang Mai, Thailand

Smith, R.F and R. van den Bosch. ( 1967 ) .Integrated Control. Pest Control. Edited by W. Kilgore and R. doutte. Academic Prees.298-299 pp.

Srikhajon et al ( 1980 ). Soil Erosion in Thailand, Department of Land Development, Bangkok, Thailand.

Ventura W., Mascarina, G.,Furoc R., Wattanabe, I. ( 1987 ). Azolla and Sesbania as biofertilizers for lowland rice, Paper presented at Los Banos, College, Laguna, Philippines.


1/  ชนวน รัตนวราหะ เกษตรกรรมเชิงระบบ ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพในระบบเกษตร 2540 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์