นิยามของคำว่า "นิเวศวิทยา"

     ปัจจุบันนี้เราจะพบ หรือได้ยินคำว่านิเวศวิทยา หรือ ระบบนิเวศ กันอย่างแพร่หลายในสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางหนังสือ ทางวิทยุ หรือทางโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพราะว่าประชากรของโลกเริ่มที่จะมีความสำนึกเกี่ยวกับการสูญเสียสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของโลกไปไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า หรือการปล่อยสารมีพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งผล กระทบ หรือ feedback ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรมนุษย์หรือแม้แต่ประชาการของสิ่งมีชีวิตทั่วไปในทางลบ ดังนั้นการรณณรงค์เพื่อที่จะปรับสภาพแวดล้อมที่สูญเสียไปให้ดีขึ้น หรือการอนุรักษ์ไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออยู่จึงเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบันไม่ว่าในส่วนของทางราชการ หรือเอกชน ปรกติแล้วคำว่านิเวศวิทยาในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้นหมายถึงสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตามความหมายของคำว่านิเวศวิทยา ซึ่งแปลมาจากคำศัพย์ภาษาอังกฤษคำว่า "Ecology" นั้นได้มีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้ให้คำจำกัดความต่าง ๆ กันออกไป ดังยกตัวอย่างเช่น

 

Andrewartha (1961): เสนอว่านิเวศวิทยาเป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการกระจาย และจำนวนความมากน้อยของสัตว์ ("the scientific study of the distribution and abundance of animals")

Odum (1971): ได้ให้ความหมายของนิเวศวิทยาว่า "the study of structure and function of nature" ซึ่งหมายถึงนิเวศวิทยานั้น คือการศึกษาธรรมชาติ โดยเฉพาะเป็นการศึกษาถึงโครงสร้าง และความเป็นอยู่ของธรรมชาติ กล่าวคือ โครงสร้างของธรรมชาติในที่นี้หมายถึงการกระจาย และจำนวนสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งถูกกำหนดโดยสิ่งแวดล้อม สำหรับความเป็นอยู่ของธรรมชาตินั้น คือความเป็นอยู่ของบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันตามธรรมชาติ เช่นการแก่งแย่งแข่งขัน (competition) การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (mutualisms) การตกเป็นเหยื่อ และผู้ล่าเหยื่อ (predation) และการถ่ายทอดพลังงาน เป็นต้น

Emlen (1973): กล่าวว่านิเวศวิทยาเป็นการศึกษาถึงการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ("the study of the adaptation of organisms to their environment")

Pianka (1983): ให้คำนิยายของนิเวศวิทยาว่า "the study of the relationships between organisms and totality of the physical and biological factors affecting them or influenced by them" ซึ่งหมายถึงว่านิเวศวิทยาเป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต และปัจจัยสภาพแวดล้อมทั้งหลายทั้งทางกายภาพและชีวภาพ ซึ่งควบคุมความเป็นอยู่ของบรรดาสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ในทางกลับกัน สิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็จะมีส่วนควบคุมสิ่งแวดล้อมด้วย

Putman and Wratten (1984): กล่าวถึงนิเวศวิทยาว่า "the study of organisms and their environment - and the interrelationships between the two" ซึ่งหมายถึงว่านิเวศวิทยาเป็นการศึกษาสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม และความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

Kingsland (1985): เสนอนิยามของนิเวศวิทยาว่า เป็นการศึกษาแบบแผนของธรรมชาติ กล่าวคือ ธรรมชาติที่เป็นอยู่ หรือปรากฎอยู่เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และการเปลี่ยนแปลงของแบบแผนของธรรมชาติสามารถเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและเวลาได้อย่างไร ("the study of the patterns of nature and how those patterns came to be, and how they change in space and time")

Ehrlich and Roughgarden (1987):
ให้คำนิยามของคำว่านิเวศวิทยาว่า "the study of the relationship between organisms and their physical and biological environments" ซึ่งก็มีความหมายคล้ายกับคำนิยามของ Pianka (1983) กล่าวคือ นิเวศวิทยาเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และชีวภาพ

     จากคำนิยามของคำว่า Ecology หรอ นิเวศวิทยา ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นคำนิยามที่นักวิทยาศาสตร์หลายท่านได้เสนอตามแนวความคิดของตนเอง แต่ก็มีความหมายคล้าย ๆ กัน ดังที่จะเห็นได้ว่าคำนิยามเหล่านี้ประกอบไปด้วยคำหลัก ๆ (key words) ได้แก่ ธรรมชาติ (nature) สิ่งมีชีวิต (organisms) สิ่งแวดล้อม (environment) ความสัมพันธ์ (relationship)