1. ณัฏฐิณี ภัทรกุล รหัส 4528107
การเลี้ยงฝายหรือผีขุนน้ำ

นับตั้งแต่โบราณกาลมาประชาชนคนไทยส่วนมากได้อาศัยแม่น้ำลำธารเป็นที่นำน้ำเข้า หล่อเลี้ยงไร่นา ทำการเพาะปลูกตลอดมา สมัยที่บ้านเรือนยังไม่เจริญทางเทคโนโลยี ไม่มีการชลประทาน ซึ่งทำเป็นทำนบหรือเขื่อนใหญ่นั้น ประชาชนโดยเฉพาะทางภาคเหนือตอนบนนิยมใช้ชลประทานราษฎร์
คือชาวบ้านร่วมกันในการสร้างฝายหรือทำนบกั้นน้ำขึ้นมาเองเพื่อให้เอ่อขึ้นและไหลเข้าไปในลำเหมืองที่รับน้ำเข้านา

ความศรัทธาเชื่อถือของประชาชนล้านนาไทยโบรารถือว่าในขุนน้ำหรือต้นน้ำลำธารก็ดี บริเวณฝายหรือทำนบก็ดีมีเทวดารักษาอยู่ อาจจะอยู่ในกลุ่มของภูตผีเทวดา หรือปัพพตาเทวดา ที่พิทักษ์รักษาแหล่งแม่น้ำลำธารไว้ โดยแต่ละแห่งล้วนมีเทวดารักษาอยู่

ความเชื่อเดิมมีว่า เมื่อใดทำพิธีเลี้ยงผีฝาย จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีงานแก่ทุกคนที่เป็นเกษตรกร เพราะผีได้รับเครื่องพลีกรรมแล้ว ผีหรือเทพยดาเหล่านี้ก็จะชื่นชมยินดีอำนวยอวยชัยให้น้ำ ทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการทำการเกษตร

พิธีกรรมที่จัดทำนั้น จะทำร้านพลีกรรมหรือศาลเพียงตาขึ้นใกล้บริเวณฝายหรือขุนน้ำลำธาร เมื่อได้เวลาชาวบ้านก็จะนำเครื่องเซ่นสังเวยประกอบด้วย หัวหมู ไก่ต้ม ข้าวสุก ผลไม้ที่หาได้ในท้องถิ่นและดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นบุคคลผู้ประกอบพิธีซึ่งเป็นผู้รู้ภายในหมู่บ้านหรือชุมชนนั้น โดยมากเป็นน้อย-หนาน หรือทิดที่เข้าใจในจารีตประเพณี จะเข้าไปจุดธูปเทียน แล้วกล่าวคำสังเวยบอกกล่าวเทวดาที่รักษาต้นน้ำลำธารมีพระวิรุณเทพเป็นประธาน ขอบันดาลให้น้ำฟ้าสายฝนตกลงมา เพื่อจะให้แม่น้ำลำธารเต็มไปด้วยสายน้ำเพื่อให้เพียงพอแก่การนำไปหล่อเลี้ยงข้าวกล้าในนาตลอดฤดูกาล

หลังจากปู่อาจารย์ผู้ประกอบพิธีอยู่นั้น ประชาชนผู้ไปร่วมงานจะนั่งไหว้พร้อมกันจนเสร็จพิธี เมื่อตั้งเครื่องบวงสรวงไว้นานประมาณ 30 นาทีแล้ว ชาวบ้านก็จะนำเครื่องพลีกรรมเหล่านั้นมาแบ่งกันกิน การทำพิธีดังกล่าวผู้รู้ในหมู่บ้านกล่าวว่ามีคุณค่าดังนี้

- เพื่อให้เกิดกำลังใจในการทำงาน
- เพื่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจในชุมชน
- เพื่อจะช่วยกันดูแลรักษาต้นน้ำลำธาร
- เพ่อสืบทอดเป็นมรดกส่วนรวมต่อไป
- เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรม

ดังนั้นจะเห็นว่าประเพณีการเลี้ยงฝายหรือผีขุนน้ำนี้ นอกจากจะมีความสำคัญในด้านเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้เกษตรกรเกิดกำลังใจในการทำการเกษตรแล้ว ยังช่วยปลูกจิตสำนึกให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของแหล่งต้นน้ำลำธาร ช่วยกันดูแลรักษาไม่ให้แหล่งต้นน้ำนั้นถูกทำลาย รวมถึงรักษาระบบนิเวศอื่น ๆ ที่มีผลต่อต้นน้ำลำธารนั้นด้วย เช่น ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ทำไร่เลื่อนลอย ไม่เผาป่า เป็นต้น ทำให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ระบบนิเวศเหล่านี้ไม่ถูกทำลายไปด้วย
เนื่องจากนี้พิธีกรรมดังกล่าวยังทำให้เกษตรเกิดความกลัวว่าจะได้รับเคราะห์กรรมหรือถูกลงโทษจากเทพยดาฟ้าดินที่ปกป้องดูแลแหล่งน้ำอยู่ จึงไม่กล้าทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร ดังนั้นจะเห็นว่าบางพิธีกรรมหรือบางประเพณีต่าง ๆ ที่เกียวข้องกับการทำการเกษตรที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่อดีตนั้นมีประโยชน์ต่อการรักษาระบบนิเวศ ช่วยให้คนไม่ทำลายระบบนิเวศและยังช่วยให้คนดูแลรักษาระบบนิเวศนี้ให้คงอยู่ด้วย

 

2. นายจักรกฤษณ์ ขันทอง รหัส 4528103
ภูมิปัญญาชาวบ้านภาคอีสาน "เฮ็ดกินเฮ็ดอยู่

ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นแหล่งความรู้ที่ดีอย่างหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ชาวบ้านดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นเวลาช้านาน อาจเป็นร้อยเป็นพันปี เรียกว่ามีความยั่งยืน สิ่งใดจะยั่งยืนก็ต่อเมื่อมีดุลยภาพ วิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านคือการดำรงอยู่ด้วยกันอย่างได้ดุลยภาพ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เช่น จะทำมาหากินอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับธรรมชาติ จะต้องมีเอื้ออาทรและมีขนบธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติต่อกันอย่างไร คนทั้งหมดจึงจะอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ จะเคารพนับถืออะไรร่วมกัน ที่จะผูกพันจิตวิญญานของคนในชุมชนให้คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันและอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เช่น การรักษาป่าและต้นน้ำลำธาร ภูมิปัญญาเหล่านี้รวมเรียกว่า "วัฒนธรรม" วัฒนธรรมเป็นภูมิปัญญาที่สะสมมาจากการปฏิบัติจริงและถ่ายทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ความรู้ของมนุษย์ไม่ได้มีแต่ที่เกิดในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ความรู้อีกกระแสหนึ่งซึ่งเกิดมาก่อน คือความรู้ที่เกิดจากทดลองปฏิบัติจริงในห้องทดลองทางสังคม คือความรู้กระแสวัฒนธรรม หรือความรู้ดั้งเดิม (Traditional knowledge) หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน ความรู้เหล่านี้ที่ถูกค้นพบ ลองใช้ ดัดแปลง ถ่ายทอดกันมาด้วยเวลานานเป็นพัน เป็นหมื่นปีจึงมีค่ายิ่งนัก เป็นมรดกทางปัญญาของมนุษย์

ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน ของทางภาคอีสานของประเทศไทย โดยจะกล่าวถึงวิถีชีวิตที่พึ่งพาตนเองแบบ "เฮ็ดกินเฮ็ดอยู่"

ในการยังชีพโดยพึ่งพิงธรรมชาติแวดล้อมบนหลักพึ่งพาตนเอง ชาวอีสานได้ปรับตัวกับธรรมชาติ สั่งสมความรู้และประสบการณ์ต่างๆ จนพัฒนาขึ้นเป็นวิถีชีวิตของเขาเอง อันพอจะจับลักษณะเฉพาะ ซึ่งส่วนหนึ่งจะละม้ายคล้ายคลึงกับวิถีชีวิตของคนไทยในภูมิภาคอื่นๆ เพราะเป็นวัฒนธรรมข้าว (Rice culture) เหมือนกัน จะมีความแตกต่างกันไปตามสภาพลักษณะพื้นภูมิธรรมชาติแวดล้อมและประสบการณ์สั่งสมของการปรับตัวในพื้นที่ โดยพอจะลักษณะวิถีชีวิตได้ดังนี้

1. ชาวบ้านจะจัดเวลาทำการผลิตให้เหมาะแก่ฤดูกาล ด้วยการอนุโลมตามปัจจัยสำคัญคือ "น้ำ"ตามที่มีอยู่ในธรรมชาติ กล่าวคือจะทำนาน้ำฝนปีละครั้ง ในระยะแรกที่เริ่มหักล้างถางพงนั้น ดินจะอุดมดีโดยธรรมชาติ ชาวนาจะปลูกข้าวนาหยอด ซึ่งมักจะได้ข้าวมากเหลือเกิน พอเก็บไว้กินในยามแล้งและใช้ในงานพิธีกรรม ต่อมาในปีใดแล้งจัด ปลูกข้าวไม่ได้ผล หรือน้ำท่วมจนทำนาไม่ได้ ก็จะใช้ข้าวที่สะสมมาเลี้ยงดูเจือจานกันในยามยาก ไม่นิยมปลูกพืชไร่พืชสวนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพียงแต่ปลูกไว้กินเองบ้าง เนื่องจากภูมิอากาศและระบบนิเวศไม่สามารถรองรับการผลิตหมุนเวียนอย่างเข้มข้นได้ พืชที่นิยมปลูกไว้กินเองใช้เองได้แก่ หม่อน คราม ฟัก แตง กล้วย อ้อย ยาสูบ ฝ้าย และปอแก้ว

2. ก่อนจะถึงฤดูทำนาน้ำฝนในช่วงเดือนหกถึงเดือนเจ็ด ในเดือนสาม ขึ้นสามค่ำอันเป็น "วัน
ฟ้าเปิดประตูน้ำ" หรือ "วันฟ้าไขประตูน้ำฝน" ชาวนาจะเอาปุ๋ยคอกมากระจายใส่นาไว้ ต่อเมื่อ
ฝนมาหลังสงกรานต์จึงจะไถหว่าน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นดินก็จะสมบูรณ์เพียงพอที่จะทำให้ปลูกข้าวได้ผลดี ถึงกระนั้นก็ดี บางปีฝนแล้งจัดหรือแล้งต่อเนื่องกัน 2 - 3 ปี น้ำไม่พอทำนา ชาวบ้านก็ต้องขุดเผือกขุดมันมากิน และขอแบ่งปันข้าวและพืชผลอื่นๆ จากญาติพี่น้องมากินกัน ทำนอง "พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้" เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานาน

3. พืชผักที่เก็บมากินเป็นอาหาร นอกจากที่ปลูกกินเองเล็กน้อยในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะนิยมเก็บผักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ พืชผักพื้นบ้านในท้องถิ่นอีสานได้แก่ เห็ดต่างๆ แมลงต่างๆ นอกเหนือจากขิง ข่า ตะไคร้ โหระพา พริก มะเขือ ฯลฯ ที่ปลูกไว้กินข้าวรั้วบ้าน ส่วนเกลือ ปัจจุบันนิยมซื้อเช่นเดียวกับน้ำปลา และน้ำตาล แต่ในอดีตชาวบ้านที่ตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณแหล่งเกลือ จะ ช่วยกันเอาเกลือผิวดินไปต้มทำเกลือใช้เอง ทั้งเพื่อปรุงอาหารและถนอมอาหารด้วยการหมักดองต่างๆ

4. เครื่องมือเครื่องใช้หรือประดิษฐกรรมพื้นบ้านนานาชนิดไม่ว่าจะเพื่อทำไร่นา ล่าสัตว์ ปรุงอาหาร หรือใช้สอยในชีวิตประจำวันชาวบ้านจะผลิตเองเกือบทั้งสิ้นดังที่เคยเป็นมาแต่โบราณ มีเพียงไม่กี่อย่างที่ต้องซื้อหา ชาวบ้านมีความรู้ ความสันทัดในการนำเอาสิ่งที่หาได้ใกล้ตัวจากธรรมชาติมาประดิษฐ์ ดัดแปลงเป็นของใช้ เช่น เอากก ไผ่ มาทอสานเป็นเสื่อสาด กระบุง กระติบ เป็นต้น งานหัตถกรรมพื้นบ้านเหล่านี้เกิดขึ้นตามความจำเป็นและหน้าที่ใช้สอยของเครื่องมือทำงานนั้นๆ สอดคล้องกับพื้นภูมิของระบบนิเวศในบริเวณที่อาศัย

5. ชาวบ้านเลี้ยงวัวเลี้ยงควายไว้ใช้งาน หรือมีไว้เป็นทรัพย์สินสำหรับขายเมื่อยามจำเป็น วัวควายเหมือนเพื่อนร่วมชีวิตที่คนได้อาศัยแรงงานทำไร่ไถนา จนปีหนึ่งก็ต้อง "ฮ้องขวัญ" ปลอบประโลมขอขมาลาโทษเสียคราหนึ่ง อาจเป็นเพราะเหตุนี้จึงมีข้อสังเกตว่าชาวบ้านไม่ค่อยนิยมกินเนื้อวัวควายเท่าไรนัก

 

3. ณัฐชยา ปิงอินถา รหัส 4528108
สังคมไทยเป็นสังคมกสิกรรมมาก่อน เดิมประชากรส่วนใหญ่นิยมเพาะปลูกข้าวเป็นหลักมาแต่โบราณ ข้าวเป็นทั้งพืชอาหารหลักและพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญที่สุด ข้าวมีความผูกพันกับคนไทยอย่างใกล้ชิด เรื่องราวของข้าวและสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยข้าว จึงย่อมจะเป็นเหตุปัจจัยพื้นฐานกำหนดลักษณะทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของคนไทย และย่อมเป็นเหตุปัจจัยสะท้อนลักษณะต่างๆทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมให้เห็นอย่างชัดเจน

ในสังคมกสิกรรมทุกสังคมมีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อบวงสรวง บูชา อ้อนวอนเทพเจ้าเกี่ยวกับพืชพรรณธัญญาหารและเทพเจ้าเกี่ยวกับดิน น้ำ ลม ไฟ ตลอดถึงธรรมชาติอื่นๆ อันเป็นหลักปฏิบัติที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดอาหารอุดมสมบูรณ์ เกิดความเป็นมงคลและความปลอดภัยมั่นคงแก่ชีวิต ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง เช่นพิธีบูชาเทพธิดาโพสวเทวีอีดีมิสเตอร์ของชาวกรีกโบราณ พิธีไหว้ฟ้าดินของชาวจีน พิธีสู่ขวัญแม่โพสพของชาวบาหลีประเทศอินโดนีเซีย พิธีเชิญขวัญข้าวโพดของชาวอินเดียนแดง เป็นต้น สำหรับสังคมไทยนั้นมีความผูกพันกับข้าวมาแต่โบราณ จนข้าวเป็นทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการกำหนดพฤติกรรม และวิถีชีวิตด้านต่างๆ ในไทยนั้นมีพิธีกรรมสำคัญหลายอย่างที่เกี่ยวกับข้าวและการทำนา ซึ่งมีความสำคัญดังนี้

พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวและการทำนา

- เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย หรือวัฒนธรรมไทยหรือวัฒนธรรมข้าวที่สังคมได้สร้างขึ้น เพื่อเป็นหลักให้เกิดความมั่นคงในการดำเนินชีวิต มีวัตถุประสงค์และแนวทางเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหาร และเพื่อความเป็นสิริมงคลตลอดถึงความอยู่เย็นเป็นสุขของคนและสิ่งที่เกี่ยวข้อง

-เป็นปฏิบัติการ ประการหนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพื่อให้เกิดสภาวะเหมาะสมทางนิเวศวิทยา เพื่อให้การอยู่ร่วมกันของธรรมชาติดังกล่าวรวมทั้งมนุษย์มีสันติสุข

-เป็นสัญลักษณ์แสดงวิวัฒนาการด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

อนึ่ง ในพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวและการทำนา หรือวัฒนธรรมข้าว น้ำเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐาน ดินอันอุดมสมบูรณ์และแรงงานทั้งคนและสัตว์ก็เป็นเรื่องสำคัญ มนุษย์จึงใช้ปัญญาสร้างพิธีกรรมและธรรมเนียมต่างๆในรูปแบบ วิธี อุบาย ให้สอดคล้องกับความเชื่อและสิ่งแวดล้อมไว้มากมาย ในการจำแนกพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวและการทำนานั้นเมื่อวิเคราะห์ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของพิธีกรรมแล้วสามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

1. พิธีกรรมเพื่อการบวงสรวง อ้อนวอน เสี่ยงทาย ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ให้ปราศจากภยันอันตราย ตลอดจนขอความเชื่อมั่นในการดำรงชีพในรอบปี พิธีกรรมส่วนนี้จะจัดขึ้นก่อนลงมือเพาะปลูก เช่น พิธีขอฝนโดยแห่นางแมว เทศน์พญาคันคาก สวดคาถาปลาช่อน พิธีบูชาแถน พิธีบุญบั้งไฟ พิธีบุญชำฮะ พิธีเซ่นบูชาหลักเมือง พิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ พิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ เป็นต้น

2. พิธีกรรมเพื่อการเพาะปลูก มีเป้าหมายเพื่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำพิธีในช่วงเวลาที่จะลงมือเพาะปลูก มีเจตจำนงเพื่อขอโอกาส ขออนุญาต (ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พืช วิญญาณที่ครองพื้นที่) บวงสรวง บนบาน บอกกล่าว ฝากฝัง ให้การทำนาทำไร่ในปีนั้นๆเป็นไปด้วยดี ทั้งคน ข้าว สัตว์ และเป็นความอ่อนน้อมต่อข้าวและสิ่งที่เกี่ยวข้อง พิธีกรรมส่วนนี้ได้แก่ พิธีแรกนา พิธีเลี้ยงตาแฮก พิธีบูชาภูมินา พิธีแรกไนตกกล้า พิธีแรกนาดำ พิธีปักข้าวตาแฮก พิธีหว่านข้าว พิธีเชิญแม่โพสพใส่ข้าวปลูก พิธีเชิญแม่โพสพลงนา พิธีบูชาแม่ธรณี พิธีเอาฝุ่นใส่นา เป็นต้น

3. พิธีกรรมเพื่อการบำรุงรักษา มีเป้าหมายเพื่อบำรุงรักษาต้นข้าวให้เจริญงอกงาม ปลอดภัยจากศัตรูพืชนานา และเพื่อแสดงความอ่อนน้อมต่อข้าวและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวเนื่อง พิธีกรรมเหล่านี้จัดขึ้นระหว่างเวลาการเพาะปลูกจนกระทั่งเก็บ ได้แก่ พิธีไล่น้ำ พิธีปักตาเหลว พิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ พิธีไหว้เจ้าที่ พิธีรับขวัญแม่โพสพ พิธีส่งข้าวบิณฑ์ พิธีคดข้าว พิธีไล่นก หนู เพลี้ย แมลง ปู หนอน ฯลฯ โดยน้ำมนต์ ผ้ายันต์ โดยหว่านทราย โดยเครื่องราง หรือโดยภาวนา เป็นต้น

4. พิธีกรรมเพื่อการเก็บเกี่ยว มีเป้าหมายเพื่อให้ได้ผลผลิต ให้คนปลอดภัยในการเก็บเกี่ยว และเพื่อแสดงความอ่อนน้อมต่อข้าวและสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้อง พิธีเหล่านี้จัดขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ได้แก่ พิธีรวบข้าว พิธีแรกเกี่ยวข้าว พิธีเชิญข้าวขวัญ พิธีทำลาน พิธีปลงข้าว พิธีขนข้าวขึ้นยุ้ง พิธีตั้งล้อม พิธีปิดยุ้ง พิธีเปิดยุ้ง เป็นต้น

5. พิธีกรรมเพื่อเฉลิมฉลอง มีเป้าหมายเพื่อเฉลิมฉลองผลผลิตที่ได้แก้บนหรือเซ่นสังเวยเทพยดาอารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้คุ้มครองคน สัตว์
และบรรดาพืชพรรณธัญญาหารให้ได้ผลดี ตลอดจนเลี้ยงอาหารตอบแทนน้ำใจเพื่อนบ้าน รวมทั้งขอขมาลาโทษและขออโหสิถ้าได้ล่วงเกินสิ่งใด ผู้ใด หรือสัตว์เลี้ยงที่ได้พึ่งพาอย่างวัวควาย ในการนี้จะมีพิธีเลี้ยงอุทิศส่วนกุศลให้เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปู่ย่าตายาย เจ้าที่เจ้าทาง เจ้ากรรมนายเวร ตลอดจนสรรพสัตว์ เป็นการตอบแทนบุญคุณแก่ผู้มีคุณทั่วหน้า พิธีกรรมเหล่านี้จัดขึ้นหลังการเก็บเกี่ยว ได้แก่ พิธีบุญคูนลาน พิธีสู่ขวัญข้าว พิธีเผาข้าว พิธีขอพร พิธีบุญกุ้มข้าวใหญ่ พิธีบุญข้าวจี่ พิธีกวนข้าวทิพย์ พิธีกวนข้าวยาคู พิธีสู่ขวัญข้าวขึ้นเล้า พิธีสู่ขวัญเกวียน พิธีสู่ขวัญควาย พิธีแห่ข้าวพันก้อน พิธีลาซัง พิธีกองข้าว เป็นต้น
พิธีกรรมแต่ละประเภทที่กล่าวมานั้น แต่ละท้องที่แต่ละชุมชนมีวิธีการปฏิบัติแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของพื้นที่และธรรมเนียมของชุมชนนั้นๆ ซึ่งในที่นี้จะขอยกตัวอย่างพิธีกรรมที่เกี่ยวกับข้าวและการทำนาของเกษตรกรที่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ พิธีสู่ขวัญข้าว

พิธีสู่ขวัญข้าว
เป็นพิธีกรรมในการเรียกขวัญข้าวหลังจากการเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นการขอขมาและขอบคุณพระนางเทพธิดาโพสพ ทางล้านนาเรียก แม่โกสก ซึ่งเป็นผู้บันดาลและดูแลข้าวกล้าในนา ทำให้เกิดผลดีผลเสีย คนโบราณถือว่าขึ้นอยู่กับความพอใจของเทพธิดาองค์นี้ และยังเป็นพิธีที่เชื่อกันว่าจะทำให้ข้าวไม่ให้หายและหมดไปจากยุ้งฉางเร็วอีกด้วย วันที่ทำพิธีโดยปกติถือเอาวันที่ขนข้าวขึ้นยุ้งเสร็จแล้ว หากไม่ทันก็อาจทำในวันรุ่งขึ้นก็ได้ การเรียกขวัญข้าวนั้นอาจทำได้ทั้งแบบเรียบง่ายและแบบใหญ่โตโดยขึ้นกับความนิยมในท้องถิ่นหรือความพร้อมของเจ้าของนา หากทำพิธีแบบใหญ่โตแล้วก็จะมีเครื่องบูชามากมาย โดยทั่วไปเครื่องพิธีจะมีไก่และเหล้าและเครื่องใช้ของผู้หญิงเช่นกระจก หวี แป้ง นำเครื่องพิธีดังกล่าวไปวางไว้ที่แท่นพิธีบริเวณที่เคยทำพิธีแรกนา แล้วก็มีคำอาราธนา คือคำสังเวยที่เป็นคำขอบคุณแก่พระแม่โพสพ ที่ช่วยให้ได้ผลผลิตเป็นข้าวมากมาย ถ้าเป็นพิธีใหญ่ส่วนมากเจ้าของนาจะกล่าวคำอาราธนาด้วยตัวเองไม่ได้ จึงต้องขออาจารย์ประจำหมู่บ้านเป็นผู้กล่าวคำอาราธนาแทน

ในการทำพิธีแบบง่ายนั้น เครื่องบูชา มีข้าว ไข่ต้ม กล้วย ๑ ผลขนมต่าง ๆ ดอกไม้ ธูปเทียน จัดใส่กระทงหรือพานเล็ก ๆ ผู้ที่เป็นพ่อนาจะเอาไม้ไผ่เฮี้ยยาวประมาณ ๒ เมตร ปล้องของไม้บนสุดทุบให้แตกเป็นซีก ๆ แล้วดุนให้ถ่างออกป่องตรงกลาง คล้ายกับที่เรียกกันว่ารังมดส้ม (มดแดง) เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วก็จะพากันขนเครื่องบูชาและเครื่องประกอบพิธี มีกระทงใส่เครื่องบูชาและทับพี ๑ อัน ไม้รังมดแดง และนำไม้นะโมตาบอด พร้อมด้วยรวงข้าวที่เก็บไว้ก่อนนั้นแล้ว ออกไปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไปถึงพ่อนาจะฝังหรือปักไม้เฮี้ยที่เป็นรังมดแดงนั้นที่กลางตาลางคือลานนวดข้าว เอากระทงเครื่องบูชาใส่ปลายไม้เฮี้ยที่เป็นรูปรังมดแดง ผูกรวงข้าวให้แขวนลงในกระทงนั้น ปักไม้นะโมตาบอดซึ่งเป็นเครื่องป้องกันมิให้ผีมาขโมยข้าวไว้ที่ ๔ มุมของลาน แล้วจุดธูปเทียน ผู้หญิงก็จะใช้ทัพพีกวักไปรอบ ๆ ในบริเวณนั้น เพื่อกวักเอาขวัญข้าวให้มาอยู่รวมกัน ด้วยการพูดเป็นโวหารเอาเอง ด้วยคำที่เป็นมงคลเมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงหยิบเอาเมล็ดข้าวที่ตกแถวนั้นสัก ๒-๓ เม็ด หรือจะหยิบเอาเศษฟางก็ได้สมมุติว่าเป็นขวัญของข้าวใส่ในกระทง นำเอากระทง และไม้นะโมตาบอดกลับบ้าน ปักไม้นะโมตาบอดไว้ที่ ๔ มุม ในยุ้งข้าวแล้วเอากระทงขวัญข้าววางไว้จุดใดจุดหนึ่งในหรือยุ้งข้าว แล้วเอากระดองเต่า หรือฟักหม่น คือฟักเขียว วางไว้ข้างบนข้าว เพื่อให้เต่าหรือฟักคอยกกฟักให้ข้าวอยู่นาน ๆ เหมือนกับเต่าฟักไข่ พร้อมกับกล่าวออกเสียงเบา ๆ ว่า

"ขอให้ข้าวจงอยู่ในนี้เน่อ อย่าได้ออกไปทางใด เพราะว่าเดือน ๔ เพิ่นจักปล่อยช้างปล่อยม้า เดือน ๕ เพิ่นจักปล่อยงัวปล่อยควาย"

ซึ่งเป็นการสอนและเตือนข้าวไม่ให้ออกไปเที่ยวเล่น เกรงว่าจะถูกช้างม้าวัวควายเหยียบเอา

เมื่อนำข้าวเข้าเก็บแล้ว ที่ประตูยุ้งข้าวจะมี ปักขทืนกระด้าง หรือปักขทืนวันจกเข้า คือปฏิทินกำกับวันข้างขึ้นข้างแรมที่ควรหรือไม่ควรตักข้าวออกจากยุ้ง เชื่อกันว่าหากมิได้ปฏิบัติตามพิธีดังกล่าวมาข้างต้น ข้าวจะเปลือง หรือหมดเร็ว เพราะมีผีมาขโมยเอาไปกิน เมื่อนำข้าวเข้าเก็บแล้วเป็นอันเสร็จพิธี

การประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวและการทำนา เป็นการกระทำหนึ่งที่มีบทบาทต่อระบบนิเวศวิทยา กล่าวคือ เป็นการสอนให้มนุษย์ให้อยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น รวมถึงธรรมชาติในลักษณะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันสอนให้มนุษย์รู้จักเคารพในการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ในการดำรงชีวิตเฉพาะเท่าที่จำเป็นต่อการบริโภคและอุปโภคเท่านั้นไม่ละเมิด ไม่โลภ และนอกจากนี้ยังเป็นการสอนให้มนุษย์รู้จักป้องกัน แก้ปัญหาอันตรายต่างๆ ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ไม่มุ่งทำลายล้าง โดยสมมุติสรรพสิ่งว่ามีเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูแลคุ้มครองอยู่ ทำให้ลดการทำลายธรรมชาติ จึงทำให้เกิดความสมดุลทางนิเวศวิทยา

 

4.ชุติมา สุรีพิทักษ์ รหัส 4528106
ประเพณีสังเวยการกำจัดศัตรูพืช

ประเพณีการส่งเครื่องสังเวยเพื่อกำจัดศัตรูพืช เกิดขึ้นเพราะความห่วงใยในทรัพย์สินของเกษตรกรที่จะถูกศัตรูพืชมาทำลายจนย่อยยับ และมีความเชื่อว่า ตัวเพลี้ยก็ดี ตัวหนอนก็ดี หรือแมลงต่างๆ ที่ลงมากินพืชผลข้าวกล้าของชาวไร่ชาวนาที่ปลูกกำลังงอกงามในท้องทุ่งนั้น ถูกสิ่งชั่วร้ายคือ ศัตรูที่มาในร่างของตัวหนอน หรือตัวเพลี้ย หรือตัวแมลงที่มาทำลายพืชผลของเกษตรกร หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เทพอสูรพิโรธ ส่งบริวารมามากยิ่งขึ้น ข้าวของก็จะถูกทำลาย จนไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อให้ศัตรูที่มาทำลายข้าวหยุดการทำการหรือกลับหลังไปทางอื่น ชาวไร่ชาวนาจึงพากันตั้งเครื่องพลีกรรมสังเวย โดยการสร้างร้านไม้ไผ่ ประกอบศาลเพียงตาขึ้นบนผืนนาที่ถูกหนอนหรือเพลี้ยลงทำลายพืช แล้วทำสะตวงหรือกระทงขนาดใหญ่ 4 เหลี่ยมจัตุรัสกว้างประมาณ 1 ศอกคืบ ใส่เครื่องสังเวย ข้าวสุก แกงส้ม แกงหวาน ผลไม้ หมากพลู บุหรี่ ดอกไม้ ธูปเทียน ช่อสีดำ

บางแห่งเครื่องสังเวยเป็นประเภทอาหารดิบ เช่นข้าวเปลือก ข้าวสาร เนื้อ หมู ปลาดิบทั้งหมด แม้ผลไม้ก็เอาที่ยังดิบอยู่ มีความเชื่อว่าได้ส่งอาหารเป็นเครื่องสังเวยพลีกรรมแก่พวกยักษ์ หรืออสูรยักษ์ หรืออสูรทั้งหลายได้มากินเครื่องสังเวย แล้วจะได้เรียกบริวารให้กลับไป

ความเชื่อเกี่ยวกับการทำสังเวย

1. เชื่อว่าตัวเพลี้ยหรือตัวหนอนมีเจ้าของ
2. เมื่อได้รับการสังเวยแล้วจะยุติการสังเวย
3. ให้มีที่พึ่งอื่นนอกจากบวงสรวงอ้อนวอน
4. ความเชื่อที่ไม่มีเหตุผลพิสูจน์แต่ก็ยังช่วยบรรเทาความทุกข์ให้ผ่อนคลายจากใจ
5. การที่ตัวหนอนหรือเพลี้ยหายไปอาจเป็นวัฎจักร แต่ชาวบ้านกลับคิดว่าเป็นสิ่งวิเศษ
6. เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคม

ประเพณีความเชื่อที่เป็นการแสดงถึง ความตระหนักในคุณค่าของพืชผลและทรัพยากรธรรมชาติ แม้ความเชื่อเหล่านี้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่ก็ทำให้เกษตรกรลดความวิตกกังวลได้ หากเกิดการสูญเสียความเชื่อพื้นบ้านต่างๆนี้ ก็อาจเกิดผลกระทบต่อสมดุลย์ของระบบนิเวศวิทยา กล่าวคือ หากชาวบ้าน เกษตรกรปฏิเสธเทพเจ้าแห่งน้ำ ดิน ลมฟ้าอากาศ ป่าไม้ ฯลฯ รวมถึงการแสดงพฤติกรรมที่แสดงว่าตนเองเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นสามารถบังคับให้ข้าวมีผลผลิตสูง บังคับให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามต้องการ เป็นต้น เหล่านี้คือพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความเป็นนายธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดการทำลายความสมดุลย์ทางนิเวศวิทยาอย่างกว้างขวาง ดังเช่นตัวอย่างการทำพิธีการสังเวยการกำจัดศัตรูพืชในอดีต ก็เพื่อให้พืชผลไม่ถูกทำลายโดยศัตรูพืช แต่ปัจจุบันนี้นิยมการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช ซึ่งการใช้สารเคมีไม่เพียงแต่ทำลายเพลี้ยและตัวหนอนเท่านั้น แต่ยังทำลายระบบนิเวศวิทยาในไร่นาและพื้นที่ใกล้เคียงให้เสียสมดุลย์ไปด้วย และแม้แต่ชาวบ้านหรือเกษตรกรเองก็ได้รับสารเคมีและสารตกค้างเหล่านี้

 

5.ชนิดา แทนธานี รหัส 4528105

ภูมิปัญญาชาวบ้านและความเชื่อของชาวล้านนา


ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรู้ของชาวบ้าน ซึ่งเรียนรู้มาจากปู่ ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้อง และความเฉลียวฉลาดของแต่ละคน หรือผู้มีความรู้ในหมู่บ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นเรื่องการทำมาหากิน เช่น การจับปลา การจับสัตว์ การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การทอผ้า การทำเครื่องมือการเกษตร

ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นความรู้ความสามารถที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และถ่ายทอดมาให้เรา มีวิธีการหลายอย่างที่ทำให้ความรู้เหล่านี้เกิดประโยชน์แก่สังคมปัจจุบัน ซึ่งภูมิปัญญาชาวบ้านนี้จะมีปรากฎอยู่ในทุกสังคมและวิถีชีวิตของคนเรา เช่น การประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิต ประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อ เป็นต้น

ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ผู้คนสมัยก่อนพึ่งพาอาศัยธรรมชาติแทบทุกด้าน ตั้งแต่อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่พัฒนาก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ ยังไม่มีระบบการค้าแบบสมัยใหม่ ไม่มีตลาด ชาวบ้านมีหลักเกณฑ์ในการใช้สิ่งของในธรรมชาติ ไม่ตัดไม้อ่อน ทำให้ต้นไม้ในป่าขึ้นแทนที่ถูกตัดไปได้ตลอดเวลา

ชาวบ้านยังไม่รู้จักสารเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ฆ่าหญ้า ฆ่าสัตว์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สิ่งของในธรรมชาติให้เกื้อกูลกัน ใช้มูลสัตว์ ใบไม้ใบหญ้าที่เน่าเปื่อยเป็นปุ๋ย ทำให้ดินอุดมสมบรูณ์ น้ำสะอาดและไม่เหือดแห้ง ชาวบ้านเคารพธรรมชาติ เชื่อว่ามีเทพมีเจ้าสถิตอยุ่ในดิน น้ำ ป่า เขา สถานที่ทุกแห่งจะทำอะไรต้องขออนุญาตและทำด้วยความเคารพและพอดีพองาม ชาวบ้านรู้คุณธรรมชาติ ที่ได้ให้ชีวิตแก่ตน พิธีกรรมต่าง ๆ ล้วนแสดงออกถึงแนวคิดดังกล่าว เช่น งานบุญพิธีที่เกี่ยวกับ น้ำ ข้าว ป่าเขา รวมถึงสัตว์ บ้านเรือน เครื่องใช้ต่าง ๆ มีพิธีสู่ขวัญข้าว เป็นต้น

ในสังคมของชาวล้านนามีความเชื่อเรื่องผี ซึ่งความเชื่อเรื่องผีนี้มีมานานแล้ว นอกจากจะเชื่อเรื่องผีที่เป็นวิญญานหลังความตายแล้ว ยังเชื่อในเรื่องผีว่ามีอยู่ ๒ ประเภท คือ ผีดี และผีร้าย ผีดี คือผีที่คอยปกป้องดูแลรักษาคนในครอบครัวและชุมชนให้อยู่ดีมีสุข ผีประเภทนี้ได้แก่ ผีประจำตระกูล เรียกว่า "ผีปู่ย่า" ผีบ้านผีเมือง (ผีที่คอยดูแลรักษาบ้านเมือง) ผีเสื้อวัด (อารักษ์วัด) ผีเสื้อนา (อารักษ์นา) ผีเหมืองฝายผีขุนน้ำ เป็นต้น แต่ทั้งนี้บุคคลจะต้องปฎิบัติตามครรลองที่ดีของครอบครัวและชุมชน จึงได้รับการปกป้องดูแลรักษา ส่วนผีร้ายนั้น มักหมายถึงผีที่เป็นวิญญานเร่ร่อนตามที่ต่าง ๆ ตายแล้วไม่ได้ไปผุดเกิด ซึ่งอาจทำร้ายผู้คนให้เกิดความเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไปล่วงเกินโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งนี้หากมีการล่วงเกินผีทั้ง ๒ ประเภทแล้วจะต้องไหว้ผีหรือเลี้ยงผี คือการเซ่นไหว้ด้วยข้าวปลาอาหารตามที่มีการกำหนดกันไว้ เช่น เซ่นด้วยเหล้า ๑ ไหล ไก่ ๑ คู่ เป็นต้น ความเชื่อในเรื่องเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านระมัดระวังที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ลำธาร

 

6. สยาม กันธา รหัส 4528112

การเลี้ยงผีขุนน้ำ


นับตั้งแต่โบราณคนไทยมได้อาศัยแม่น้ำลำธารเป็นที่หล่อเลี้ยง ไร่นา ทำการเพาะปลูกมาตลอด ในสมัยที่ยังไม่มีระบบชลประทานหลวง ประชาชนส่วนใหญ่ในภาคเหนือจะนิยมทำทำบนกั้นน้ำเพื่อนำน้ำมาเข้านา

ความศรัทธาเชื่อถือของชาวล้านนาโบราณเชื่อว่าในขุนน้ำหรือต้นน้ำลำธารมีเทวดารักษาอยู่ คอยปกป้องรักษาต้นน้ำลำธารซึ่งมีทุกแห่ง

ความเชื่อเดิม เมื่อทำพิธีเลี้ยงผีฝาย จะเกิดสิ่งดีงามแก่ทุกคนที่เป็นเกษตรกรเพราะผีได้เครื่องพลีกรรมแล้ว
พิธีกรรมที่จัดนั้น จะร้านหรือศาลเพียงตาขึ้นใกล้บริเวณ ฝายหรือขุนน้ำลำธาร เมื่อได้เวลาชาวบ้านก็จะนำเอาเครื่องเส่นหรือเครื่องสังเวยประกอบด้วย หัวหมู ไก่ต้ม ข้าวสุก ผลไม้ที่หาได้ ดอกไม้ธูปเทียน แล้วบอกกล่าวคำสังเวยว่า ขอบันดาลให้น้ำสายฟ้าสายฝนตกลงมา เพื่อจะให้แม่น้ำลำธารเต็มไปด้วยสายน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปเลี้ยงข้าวกล้าในตลอดฤดูกาล ประชาชนจะนั่งไหว้พร้อมกัน เมื่อตั้งเครื่องบวงสรวงประมาณ 30นาที ชาวบ้านก็จะนำเครื่องบวงสรวงมาแบ่งกันกิน

ผลของพิธีกรรมนี้จากผู้รู้ได้กล่าวว่า

- เพื่อไห้เกิดกำลังใจในการทำงาน
- เพื่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจในชุมชน
- เพื่อจะช่วยกันดูแลต้นน้ำลำธาร
- เพื่อสืบทอดเป็นมรดกต่อไป

ผลของพิธีกรรมนี้มีผลต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือรักษาระบบนิเวศเนื่องจากทำให้คนหมู่บ้าน มีความรักต้นน้ำลำธารเนื่องจากมีความเชื่อที่ว่า มีว่าต้นน้ำลำธารมีเทวดาปกป้องรักษาดูแลอยู่ จะทำลายหรือทำให้เสียหายไม่ได้ จึงเกิดความเกรงกลัวที่จะทำให้เสียหาย จึงเป็นวิธีการรักษาต้นน้ำของชาวบ้านเพื่อไม่ให้ถูกทำลายอีกวิธีหนึ่งที่เกิดจาก ภูมิปัญญาชาวบ้านหรือความเชื่อของชาวบ้าน

 

7. อัตถ์ อัจฉริยมนตรี รหัส 4428408

คติโบราณพื้นบ้าน หรือความเชื่ออะไรบ้างที่สัมพันธ์กับนิเวศวิทยา

1. คติเรื่องแม่โพสพ หรือโคสก กับระบบนิเวศน์

ในเรื่องของคติชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวซึ่งมักจะกล่าวถึงเรื่องตำนานพระแม่โพสพ หรือโคสกที่ความเชื่อยังนำมาปฏิบัติและถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลานสืบต่อกันมาในยุคสมัยต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของคติพื้นบ้านเกี่ยวกับข้าวที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงมาจากการเริ่มปฏิวัติเขียว (Green Revolution) บางส่วนและเป็นแบบพัฒนา (Development) บางส่วน กล่าวคือ บางส่วนเกิดขึ้นโดยฉับพลันจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าว และการทำนา นิทาน และความเชื่อเกี่ยวกับข้าว แต่บางส่วนก็เป็นไปตามแผนพัฒนา เช่น องค์ความรู้เรื่องข้าว เป็นต้น ชาวบ้านได้รับแนวคิด ความรู้ และวิทยาการใหม่เข้าใช้ในด้านการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น ประกอบกับชาวบ้านสามารถควบคุมปัจจัยสำคัญในการทำนาได้ เช่น น้ำ การเพิ่มผลผลิต การเตรียมดิน และฤดูการทำนา ทำให้ชาวบ้านละเลยวัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าวในส่วนนี้ไปมาก

การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลกระทบด้วนกันหลาย ๆ ด้านทั้งทางด้านสังคม ด้านจริยธรรมและวัฒนธรรม ทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือทางนิเวศวิทยา การสูญเสียคติพื้นบ้านเกี่ยวกับข้าว และการทำนามีผลกระทบต่อความสมดุลทางนิเวศวิทยา กล่าวคือ ไม่เพียงแต่ทำให้มนุษย์ปฏิเสธเทพเจ้าแห่งดิน น้ำ ลมฟ้าอากาศ ข้าว ป่าไม่ ฯลฯ เท่านั้น หากแต่ยังมีพฤติกรรมที่แสดงว่าตัวเอง "เป็นเจ้านาย" ของทรัพยากรสิ่งแวดล้อม หรือ ดิน น้ำ ลม ฟ้า อากาศ ป่าไม้ ด้วย มนุษย์พยายามควบคุมให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามความต้องการ เช่น บังคับน้ำให้ไหลไปตามท่อขึ้นเหนือลงใต้ บังคับให้ข้าวมีผลผลิตสูง บังคับดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ตามต้องการ เหล่านี้คือพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความพยายามเป็นนายธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการทำลายความสมดุลทางนิเวศวิทยาอย่างกว้างขวาง ตัวอย่าง แต่เดิมเมื่อข้าวเป็นโรคเพลี้ยลง วิธีป้องกันคือการแผ่เมตตา ภาวนาคาถาอาคม หรือจัดพิธีกรรมต่าง ๆ ขึ้น เพื่อให้ข้าวหายจากโรคต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันนิยมใช้สารเคมีปราบเชื้อโรคหรือเพลี้ยเหล่านั้น ซึ่งสารเคมีไม่เพียงแต่ฆ่าทำลายเพลี้ยและตัวหนอนเท่านั้น แต่ยังทำลายระบบนิเวศวิทยาในทุ่งนา และพื้นที่ใกล้เคียงให้สูญเสียความสมดุลไปด้วย และแม้แต่มนุษย์เองก็ถูกสารเคมีซึมซับเข้าร่างกายอีกด้วย

องค์ความรู้พื้นบ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบจิตใจมาเป็นองค์ความรู้สมัยใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบธุรกิจ แตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบจิตใจอย่างเดียวกัน นั่นคือ แต่เดิมคติเกี่ยวกับข้าวและการทำนาก่อตัวขึ้นบนพื้นฐานของความเชื่อพื้นบ้าน เช่น ความเชื่อเรื่องผีตาแฮก ผีทุ่ง ผีนา ผีบ้าน ผีเรือน ผีฟ้า ผีประจำต้นไม้ ฯลฯ ต่อมาเมื่อศาสนาพราหมณ์ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นจึงแพร่หลายเข้ามีอิทธิพลเหนือความเชื่อที่มีอยู่เดิมจึงเกิดเทวดาต่าง ๆ ขึ้น มีพระฤๅษี พระพิรุณ มีแม่คงคา แม่ธรณี แม่โพสพ ฯลฯ มาทำหน้าที่เพิ่มขึ้นซึ่งทำให้มนุษย์มีความรัก และเคารพในธรรมชาติต่าง ๆ

การนำรถไถนาเดินตามมาใช้แทนแรงงานควายนั้น พฤติกรรมที่แสดงออกต่อเครื่องจักรแตกต่างจากพฤติกรรมที่แสดงออกต่อควาย เช่นไม่ต้องห่วงใยอาทรต่อความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียหิวโหยเหมือนควายขณะไถนา สามารถบังคับรถไถได้ตามความต้องการต่างจากควายที่คอยขัดใจให้คนต้องข่มใจ อดทนรอคอยอยู่เรื่อย เมื่อใช้งานเสร็จแล้วชาวนาต้องเลี้ยงดูควายให้ได้กินอาหารอิ่ม ได้ที่นอนเหมาะสม แต่รถไถนาเดินตามไม่ต้องทำอะไรเลยนี้ก็เป็นผลกระทบของการปฏิวัติต่อระบบนิเวศ และสังคมในปัจจุบัน

2. ทรัพยากรป่าไม้ ต้นน้ำลำห้วย ความเชื่อ พิธีกรรม และระบบนิเวศน์

ปัจจุบันปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาผลกระทบในทางสิ่งแวดล้อมและต่อคุณภาพชีวิตของประชนโดยทั่วไปอันเนื่องมาจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมระบบนิเวศน์อื่น ๆ ให้ทำงานต่อไปได้อย่างมีเสถีรภาพได้ปรากฏขึ้นในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น ความแห้งแล้งและน้ำท่วม ความแตกต่างของอุณหภูมิทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันในการรักษาป่านอกจาหน่วยงานคือ กรมป่าไม้แล้วกลุ่มชาวบ้านยังได้ร่วมมือกันอนุรักษ์ป่าไม้ของชุมชนนั่นคือ "ป่าชุมชน" นั้นคือสถานภาพของการเป็นเจ้าของทรัพยากรที่มีในป่าของชุมชนหนึ่ง ๆ ซึ่งชุมชนนั้น ๆ ได้ร่วมกันดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ร่วมกัน

การอนุรักษ์ป่ามีแนวความคิด ความเชื่อ พิธีกรรม กฎข้อห้าม อันเกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านหลายประการ ซึ่งจะยกตัวอย่างในเขตภาคเหนือตอนบน ประกอบไปด้วยกลุ่มคนหลากหลายชนเผ่า ชุมชนเมืองโดยส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ตามที่ราบริมลำน้ำต่าง ๆ ที่ตั้งชุมชนจะเป็นชัยภูมิที่น้ำท่วมไม่ถึงตามเนินเขา ไหล่ที่ดอน ส่วนกลุ่มชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ จะตั้งถิ่นฐานบนภูเขาสูงขึ้นไป ตามแนวลำน้ำสาขาต่าง ๆ อีกทอดหนึ่ง (ปริศนา และมนตรี, 2541)

ในกรณีของคนพื้นเมืองนั้น จะเบิกที่นาในบริเวณใกล้ที่ราบลุ่มขนาดใหญ่โดยพัฒนาระบบชลประทานของตนเองขึ้นมาเรียกว่า "ระบบเหมืองฝาย" ซึ่งจะผันน้ำจากลำน้ำต่าง ๆ เข้าสู่แปลงนามีระบบการจัดการจัดสรรน้ำกันอย่างยุติธรรม ซึ่งจะมีการทำพิธีเซ่นไหว้ "ผีขุนน้ำ" เป็นประจำทุกปี โดยวัฒนธรรมนั้นป่าที่ชุมชนได้รักษาไว้ก็จะเป็นป่าขุนน้ำ ป่าช้า ป่าผีเสื้อบ้านและป่าหัวไร่ปลายนา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งไม้ใช้สอยต่าง ๆ ของชุมชน

ในกรณีของชาวไทยภูเขานั้นในกลุ่มที่มีทั้งไร่และนา ได้แก่ ปกากะญอ ลัวะ ความสัมพันธ์กับป่าที่ผ่านระบบเหมืองฝายจะคล้ายกับคนพื้นเมือง การทำไร่หมุนเวียนนั้นคนพวกนี้จะรู้ว่าพื้นที่ตรงไหนที่ลุ่มทำนาได้ เขาก็ทำนา ตรงไหนเป็นที่ป่าที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ วัฒนธรรม เขาก็จะรักษาป่าธรรมชาติเอาไว้ เช่น ป่าสะดือ เป็นต้น ทั้งสองกรณีที่กล่าวมานี้เป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในอดีตที่ได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งบางอย่างก็ตกถอดมาถึงปัจจุบัน (เสน่ห์ และยศ, 2536)

ในทั้งสองกรณีที่กล่าวมานี้ก็เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่สูงซึ่งเกี่ยงข้อโดยตรงกับสภาพนิเวศป่าไม้ ดังนั้นจึงได้ศึกษาถึงภูมิปัญญา และลักษณะของความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม ที่คนมีต่อป่า ซึ่งจะได้พูดถึงป่าที่มีลักษณะต่าง ๆ ต้นน้ำลำห้วย และดิน ดังนี้

1. ป่าตามประเพณี และพิธีกรรม

เป็นสิ่งที่ผูกพันกับพิธีกรรมและความเชื่อทางศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ป่าที่ตั้งหอผีอารักษ์ต่าง ๆ ป่าช้า ป่าที่ตั้งพระธาตุ ป่าดงเซ้ง (คนม้ง) ชาวบ้านถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่อนุญาตให้ผู้ใดล่วงล้ำกล้ำกลายเข้าไปรบกวนความสงบ พื้นที่ป่าประเภทนี้จะเล็กกว่าป่าประเภทแรกชนิดอื่นก็จริงแต่ยังเป็นป่าที่คงสภาพสมบูรณ์อยู่

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าอีก เช่น ความเชื่อเรื่องผีเจ้าที่เป็นความเชื่อที่มีต่อพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตป่าที่ชาวบ้านดูแลรักษาอยู่ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวมีอิทธิพลต่อคนในชุมชนมากเช่นพื้นที่ป่าดงเซ้งของชนเผ่าม้ง และพื้นที่อื่น ๆ ของกะเหรี่ยง เช่น

1. ต่าเดโด่ง เป็นบริเวณกิ่วดอยชาวบ้านเชื่อว่าเป็นทางเดินของผี ชาวบ้านจะไม่เข้า
ไปทำการเพาะปลูกเลย เนื่องจากกลัวว่าผีจะโกรธและทำร้ายให้เจ็บป่วย

2. ป่าหัวนา ชาวบ้านเชื่อถือว่ามีผีนาอาศัยอยู่ชาวบ้านจะรักษาและไม่ถางป่าบริเวณ
หัวนาเป็นอันขาด

3. ป่าขุนห้วย เป็นบริเวณที่ชาวบ้านถือว่าผีบริเวณนี้แรงมาก

4. ตาขัวโข่ เป็นบริเวณป่าช้าเก่าของหมู่บ้านมีผีบรรพบุรุษอาศัยอยู่

5. ป่าโท่หลุ่ยเปกวดอเหลาะ ชาวบ้านจะไม่เข้าไปถางป่าหรือทำไร่ในพื้นที่นี้โดยเด็ดขาด แต่สามารถเข้าไปเก็บหาของกินได้ลักษณะเฉพาะของพื้นที่คือเป็นดอยตั้งอยู่ตรงกลาง โดยมีลำห้วยสายเล็ก ๆ ขนาบข้างซ้าย-ขวาต่ำลงมาข้างล่างจะเป็นพื้นที่นา ดอยนี้จะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเพียงเท่านั้น ในช่วงเช้าที่พระอาทิตย์เริ่มทอแสง แสงจะส่องไปที่ภูเขาและสะท้อนแสงลงไปที่ทุ่งนา

6. ป่าเคล่อ ป่าที่มีต้นไทรหรือต้นโพธิ์ขึ้น ถือว่ามีเจ้าที่รักษาและคุ้มครองอยู่

7. ป่าบวช คือผืนป่าสมบูรณ์ที่ชาวบ้านทำพิธีบวชป่า เพื่อคืนเจ้าที่ป่า และให้ป่าผืนนี้กลายเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญต่อไป สาเหตุของการบวชเกิดจากความล้มเหลวในการใช้อำนาจรัฐในด้านการใช้กฎหมายควบคุมและการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า ทั้งนี้เพราะมีการบุกรุกป่า ในการตัดไม้ จับจองที่ดิน จากบุคคลภายนอก ดังนั้นพิธีกรรมการบวชย่อมได้รับความเคารพในคนชาวพุทธ นับถือจากประชาชนในหมู่บ้าน ดังนั้นถ้าจัดพิธีบวชป่าแล้วก็น่าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ น่าเคารพยำเกรงแก่ผู้บุกรุก ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงได้เลือกวิธีการบวชป่าเป็นอีกวิธีหนึ่งในการต่อต้านผู้บุกรุกทำลายป่า

8. ทีเปอะเถาะ ชาวบ้านจะไม่ยุ่งในพื้นที่นี้เพราะจะทำให้ผีโกรธทำให้น้ำแห้งทั้ง
หมู่บ้านก็จะเดือดร้อน

หรืออาจจะเป็นความเชื่อเรื่องป่าพิธีกรรม ซึ่งเป็นความเชื่อต่อพื้นที่บางส่วนในเขตป่าชุมชนที่มีความสำคัญในพิธีกรรมต่าง ๆ ตามจารีตประเพณีของชุมชน ได้แก่

1. ป่าหัวบ้านที่ใช้เป็นพิธีกรรมขอฝน และประกอบพิธีกรรมขอขมาต่าง ๆ บริเวณนี้มักจะมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามีผีอาศัยอยู่ ชาวบ้านจะรักษาป่าผืนนี้ไว้ห้ามให้ใครเข้าไปแผ้วถางเด็ดขาด

2. ป่าเดปอ เป็นป่าที่ชาวบ้านนำสะดือของเด็กที่เกิดใหม่ไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ที่ยังไม่มีคนอื่นแขวน โดยจะถือว่าต้นไม้ต้นนั้นเป็นที่รักษาขวัญของเด็กคนนั้นไปจนตาย และคนอื่นในหมู่บ้านจะไม่ตัดฟันต้นไม้ต้นนั้นเลย ความเชื่อดังกล่าวน่าจะได้รับการอนุรักษ์เพราะจำทำให้รักษาต้นไม้ ชีวิตคน 1 คน เท่ากับต้นไม้ 1 ต้น ถ้า 1,000 ชีวิต ก็เท่ากับต้นไม้ 1,000 ต้นเช่นกันป่าเล็กก็จะกลายเป็นป่าใหญ่ การได้รับปัจจัย 4 จากระบบนิเวศป่าก็มากขึ้น

3. ป่าปาโล เป็นผืนป่าที่ชาวบ้านนำเสื้อผ้าเครื่องใช้ของคนที่ตายแล้วไปฝังไว้ซึ่งจะไม่ใช้ป่าเดียวกันกับป่าช้า

ความเชื่อหลายอย่างเป็นข้อห้ามเพื่อให้เกิดการดำรงชีวิตแบบพอมีพอกิน และรักษาธรรมชาติไว้ เพื่อเป็นแหล่งทำกินตลอดไป เช่น ห้ามตัดไม้ไผ่ กอละไม้เกิน 2 ต้น หน่อไม้เก็บได้กอละ 2 หน่อ ถ้าเก็บเกินเป็นบาป และมีผลร้ายต่อผู้เก็บไม้ นอกจากนี้ไม้ที่เกี่ยวกับคนตายรวมทั้งไม้ในป่าช้าห้ามมิให้คนเกี่ยวข้อง เช่น ห้ามตัดไม้ซึ่งเอาใบห่อข้าวให้คนตาย ไม้ที่ใช้แขวนเสื้อผ้าของคนตายในวัยหนุ่มสาว ไม้หามคนตาย ไม้ซึ่งตัดแล้วใช้ประโยชน์ได้น้อย เช่น ไม้ต้นแผด ต้นไม้ที่ได้ทำพิธีกรรมเอาไว้ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าเฉพาะป่าความเชื่อที่ชาวบ้านไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวที่กล่าวมาข้างต้นก็มีพื้นที่มากแล้ว นั้นย่อมแสดงว่าความเชื่อเหล่านี้มีผลต่อการเหลืออยู่ของป่าจำนวนมากอย่างแน่นอน และมีอิทธิพลต่อการรักษาป่าของชาวบ้านโดยตรงโดยเฉพาะเรื่องผีเจ้าที่ซึ่งยังคงมีอยู่อย่างเข้มแข็ง นอกเหนือจากความเชื่อเหล่านี้แล้วชุมชนยังมีนิทาน เช่นเพบงอีทา และคำสั่งสอนต่าง ๆ อีกมากมายที่ถูกถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่องเพื่อปลูกจิตสำนึกในการดำรงอยู่อย่างสอดคล้องและสมดุลร่วมกับระบบนิเวศธรรมชาติรอบข้าง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนิทานหรือคำสั่งสอนล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายของสรรพสิ่งรอบกายไม่ว่าจะเป็น สัตว์ ป่า ต้นไม้ ชนเผ่าอื่น ข้าว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยไม่มีการแบ่งแยก สิ่งเหล่านี้ในอนาคตอาจจะสูญหายไปเนื่องจาก การปฏิวัติทั้งทางเกษตร และสังคม ล้วนมีผลกระทบต่อนิเวศ และทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ มาก ดังนั้นเราจึงควรที่จะถ่ายทอดเรื่องราวทางพื้นบ้านให้รุ่นลูกหลานได้ฟัง

2. ความเชื่อในต้นน้ำลำห้วย

เช่นเดียวกันกับพวกกระเหรี่ยง ที่มักเรียนรู้เรื่องน้ำพบว่าพวกกระเหรี่ยงจัดประเภทน้ำออกเป็น 5 ประเภทตามความเชื่อดังนี้

1. น้ำซับ เป็นน้ำที่ซึมซับอยู่ตลอดเวลา มีน้ำซึมอยู่มักเป็นป่าดงมีต้นไม้ขนาดใหญ่ไม่มีใครเข้าไปรบกวนมีผีเจ้าที่คอยรักษาอยู่

2. น้ำโป่ง คือน้ำที่เกิดขึ้นบริเวณที่ลุ่มของลำห้วย พื้นที่ดังกล่าวเป็นโคลนลึก มีน้ำขังตลอดปีชาวบ้านเชื่อว่ามีผีดุมากถ้าไม่จำเป็นชาวบ้านจะไม่กล้าเข้าไปใกล้ เชื่อว่าผีโป่งจะออกมาให้เห็นในรูปของสัตว์ เช่น ควาย

3. ลำห้วย เชื่อว่ามีผู้รักษาอาศัยอยู่ในลำห้วยจะรักษาน้ำโดยที่จะไม่ทำลาย และนำสิ่งของสกปรกทิ้งลงห้วยถ้าทำอาจให้เกิดการเจ็บป่วยไข้ได้ง่าย

4. น้ำผุด เป็นน้ำที่ไหลผุดขึ้นมาจากดินอยู่ตลอดเวลา (น้ำออกรู) บริเวณดังกล่าวจะอุดมสมบูรณ์ ห้ามเข้าไปรบกวนหรือทำลายป่า ถือว่ามีเจ้าของหรือผีดุรักษาอยู่หากใครเข้าไปรบกวนอาจทำให้มีอันเป็นไป
ข้อห้ามและความเชื่อเกี่ยวกับแหล่งน้ำที่เป็นที่อาศัยของผีน้ำการใช้น้ำจึงต้องมีพิธีกรรมขอโทษผีน้ำ น้ำไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ ห้ามกัก เก็บน้ำ นี่คือความเชื่อที่ตรงกันของชาวไทยและกะเหรี่ยง ดังนั้นถ้าหากมีการสร้างฝายจึงต้องมีหอผีบริเวณหัวฝายทำให้คนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น และไม่ทำลายระบบนิเวศในบริเวณนั้นโดยการทิ้งสิ่งสกปรกสงสู่สายน้ำนั้น ๆ บริเวณผีขุนน้ำของทุกหมู่บ้านจะเป็นป่าอนุรักษ์ หรือป่าพิธีกรรม ดังนั้นชาวบ้านจะรักษาป่าอย่างดี บางหมู่บ้านมีการปลูกป่าเพิ่มเติมบริเวณต้นน้ำ การรักษาผีขุนน้ำจึงเป็นการรักษาป่าควบคู่ไปด้วย

3. ความเชื่อในการใช้ดิน

ข้อห้ามเกี่ยวกับดินกะเหรี่ยงมีข้อห้ามเกี่ยวกับดินก็มีหลายประการเช่นกันห้ามแตะต้องดินที่เป็นหลุมใหญ่ ดินร่องน้ำ ดินบริเวณร่องน้ำพบกัน ดินจอมปลวก ดินปากถ้ำ ดินยอดดอย หรือยอดภูเขา และดินริมฝั่งแม่น้ำ การห้ามดังกล่าว เป็นการป้องกันการรบกวนของมนุษย์ที่มีต่อผีซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว และเป็นการป้องกันการพังทลายของดินในเวลาต่อมาด้วย

4. การห้ามล่าสัตว์
ข้อห้ามการล่าสัตว์มีมากมาย เช่น ห้ามยิงสัตว์บนต้นไทรเพราะมีสัตว์หลายชนิด หรือหลังจากเสร็จพิธีแต่งงานห้ามล่าสัตว์ 3 วัน ผู้หญิงท้องห้ามสามีล่าสัตว์ เป็นต้น กฎข้อห้ามต่าง ๆ มีเหตุผลในเชิงระบบนิเวศเกี่ยงกับการอยู่ร่วมกัน การต่อสู้แข่งขัน และการพึ่งพิงซึ่งกันและกัน แมลงเป็นสัตว์ที่มีมากที่สุดในโลก แมลงบางชนิดกัดกินพืชผล ดังน้ำการห้ามฆ่านกหลายชนิด รวมทั้งจิ้งจกตุ๊กแกซึ่งเป็นสัตว์กินแมลงก็เท่ากับการปรับระบบนิเวศให้สมดุล สัตว์ใกล้ตัวเช่น แมว สุนัข หรือสัตว์คล้ายคน เช่น ชะนี ไม่ควรฆ่าเพราะสอนให้มีเมตตาโอบอ้อมอารี ในปัจจุบันปัญหาการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่านอกจากสาเหตุที่มาจากการล่าและค้าสัตว์ป่าแล้ว สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การลดลงของพื้นที่ป่า การสูญเสียพันธุ์พืชซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ป่า สัตว์ป่าหลายชนิดสูญพันธุ์ไปในที่สุด

ท้ายนี้ ผมมี Website เพิ่มเติมให้อาจารย์ครับ เป็นวิชาการสอนนิเวศวิทยาสำหรับพระสงฆ์ซึ่งมีวิธี และแนวคิดเชิงระบบเหมือนกันนะครับอาจารย์ ที่ Website: [http://mcu.rip.ac.th/mcu/mcu21/23/course.html]. และWebsiteเกษตรยั่งยืนที่ Website: [http://www.agri.cmu.ac.th/trfn/e_magazine/03042545.pdf]

เอกสารอ้างอิง

โครงการบวชป่าชุมชน 50 ล้านต้น, บวชป่า ภูมิปัญญาในการฟื้นฟูธรรมชาติ. กรุงเทพฯ ; กรมส่งเสริม
คุณภาพสิ่งแวดล้อม, 2539.

ชูสิทธิ์ ชูชาติ. 2538. การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งของ
ประเทศไทย. ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.

ปริศนา พรหมมา และมนตรี จันทวงศ์. 2541. ชุมชนท้องถิ่นกับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ.
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำภาคเหนือโดยองค์กรชุมชน, เชียงใหม่.

ยศ สันตสมบัติ. 2542. ความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน. ศูนย์
ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน. ภาควิชา
สังคมวิทยา และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.

เอกวิทย์ ณ ถลาง. 2544. ภาพรวมภูมิปัญญาไทย ใน ภูมิปัญญาชาวบ้านกับกระบวนการเรียนรู้ และการ
ปรับตัวของชาวบ้านไทย. มูลนิธิภูมิปัญญาไทย. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, กรุงเทพ.

เอี่ยม ทองดี. 2538. ข้าว และวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลง. สภาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท
มหาวิทยาลัยมหิดล. สำนักพิมพ์มติชน, กรุงเทพฯ.

 

8. จิราวัฒน์ ปัญญาเทียม รหัส 4528104

ภูมิปัญญาชาวบ้าน


ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ความรู้ ความคิด ความเชื่อ ความสามารถอันชัดเจน ที่กลุ่มชนได้จากประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ใน การปรับตัวและดำรงชีพในระบบนิเวศ หรือ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ได้มีการสืบต่อกันมา เป็นผลของการใช้สติปัญญาปรับตัวกับสภาวะต่างๆ ในพื้นที่กลุ่มชนนั้นตั้งหลักถิ่นฐานอยู่ และได้มีการแลกเปลี่ยนสังสรรค์ทางวัฒนธรรมกับกลุ่มชนอื่น แล้วรับเอา หรือปรับเปลี่ยน หรือแก้ปัญหาได้ และเกิดจากการเรียนรู้สะสมถ่ายทอดประสบการณ์ที่ยาวนานของผู้คนในท้องถิ่น ซึ่งทำหน้าที่ชี้นำว่าการจะใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนถาวร กับดิน น้ำ ป่าไม้ หรือธรรมชาติรอบตัว พร้อมกันนี้ก็มีปัญญาที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแบบแผนหรือวิธีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรอบคอบ เหมาะสมกับเงื่อนไขทางธรรมชาติและสังคมเพื่อความมั่นคงและยืนยาว เพื่อความสัมพันธ์ของทั้งสิ่งทั้งปวง

ตำนานข้าวเป็น "แม่บท"สำหรับความเชื่อและพิธีกรรมอันเนื่องด้วยข้าวซึ่งล้วนแล้วแต่วางอยู่บนรากฐานความเชื่อที่ว่า ต้องปฏิบัติต่อแม่โพสพด้วยความเหมาะสมและด้วยความเคารพนับถือ ข้าวเป็นตัวแทนธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่เกื้อกูลให้มนุษย์ดำรงชีพเผ่าพันธ์ได้ตลอดมาข้าวจึงมีบุญคุณต่อมนุษย์ การสื่อค่าและความหมายเช่นนี้ในสังคมประเพณีจึงผูกไว้เป็นตำนานที่มีบทบาทสำคัญในการดำรงชีพ

พิธีกรรมเพื่อการเพาะปลูก มีเป้าหมายเพื่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะซึ่งจะทำพิธีในช่วงเวลาที่จะลงมือทำการเพาะปลูก มีเจตจำนงเพื่อขอโอกาส ขออนุญาต (ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พืช) บวงสรวง บนบาน บอกกล่าว (เจ้าที่เจ้าทาง) ฝากฝัง ให้การทำไร่ในปีนั้นๆ เป็นไปได้โดยสวัสดี ทั้งต่อคน ข้าว สัตว์ ปราศจากภยันอันตรายใดๆ และเป็นการแสดงคารวะต่อแม่โพสพ-แม่ข้าวขวัญ พิธีกรรมส่วนนี้ได้แก่ พิธีแรกนา พิธีเลี้ยงตาแฮก พิธีบูชาภูมินา พิธีแรกขวัญตกกล้า พิธีแรกดำนา พิธีปักข้าวตาแฮก พิธีเชิญแม่โพสพลงนา พิธีบูชาแม่ธรณี เป็นต้น

ภูมิปัญญาชาวบ้านในการรักษาระบบนิเวศ กรณีการทำการเกษตรแบบผสมผสานในจังหวัดน่าน ในรูปแบบการ ปลูกพืชผสมกับการเลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงปลา ปศุสัตว์และการปลูกพืช โดยวิธีการนำเอาวัสดุในแปลงเกษตรมาคลุมดิน การปรับปรุงดินโดยการใส่ปุ๋ยคอก การปลูกพืชหมุนเวียน การกำจัดศัตรูพืชใช้วิธีการเขตกรรมโดยใช้แรงงาน เช่น การตัด การถอน หรือถาง

 

9. พิกุล ซุนพุ่ม รหัส 4528117
ภูมิปัญญาพื้นบ้าน

ภูมิปัญญาพื้นบ้านหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นระบบความคิดและวิธีการแก้ปัญหาต่างๆของมนุษย์ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและวัฒนธรรมซึ่งเกิดจากการสังเกต การลองผิดลองถูก หรือใช้วิธีการอย่างอื่นจากประสบการหลายๆครั้งแล้วสรุปเป็นบทเรียนภายใต้กรอบความคิดความเชื่อของบุคคลในสังคม ระบบความคิดเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในลักษณะนามธรรมแสดงออกในเรื่อง ความเชื่อ ความศรัทธา ความกลัวหรือแนวความคิดอื่นๆที่ยึดมั่นร่วมกันและเป็นอุดมการณ์ในการดำรงชีวิต อีรูปแบบหนึ่งเป็นลักษณะของรูปธรรมที่แสดงออกมาเห็นได้ชัดเจน เช่น รูปแบบกรรมวิธีในการเพาะปลูก ลักษณะของภูมิปัญญาพื้นบ้านที่แสดงออกเป็นรูปธรรมย่อมมีสิ่งที่เป็นนามธรรมสนับสนุนอยู่เบื้องหลังดังนั้นบุคคลจะแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างไรในการประกอบอาชีพ การดำรงชีวิต หรือพิธีกรรมต่างๆย่อมมีแนวคิดและความเชื่อเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังพฤติการรมนั้น ๆ

ภูมิปัญญาซึ่งแสดงออกในลักษณะแนวความคิด ความเชื่อ สามารถยกตัวอย่างได้ในเรื่องของแนวความคิด การดำเนินชีวิตและแนวคิดในการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่า

การนับถือผีเป็นประเพณีของชาวเขาทุกเผ่าในภาคเหนือ ซึ่งมีความเชื่อแบะพิธีกรรมแตกต่างกันออกไป ชาวเขาและคนไทยมีความเชื่อว่า ผีสามารถคุ้มครองให้มีความสงบสุขและร่มเย็น แต่ในบางครั้งผีอาจจะให้โทษ จึงต้องมีการขออนุญาต และคารวะต่อผีเพื่อแสดงถึงการยอมรับในการอยู่ร่วมกัน

ดังนั้นป่าจึงเป็นระบบนิเวศน์สังคม พืช สัตว์ มนุษย์ ผี และสิ่งลึกลับเหนือธรรมชาติ อยู่ร่วมกัน และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้ระบบนิเวศน์นั้นมีความสงบสุข ระบบนิเวศป่าในทรรศนะของชาวบ้านจึงแตกต่างกับระบบนิเวศน์ป่าในด้านวิทยาการสมัยใหม่ เพราะเกิดจากพื้นฐานของปรัชญาที่แตกต่างกัน การทำลายผีจึงเป็นการทำลายระบบนิเวศป่าให้ย่อยยับเหมือนกับการทำลายพืชให้สูญพันธุ์ 1 ชนิด อาจทำให้เกิดการสูญเสียพันธุ์ของสัตว์จำนวนหนึ่ง 20-40 ชนิด (Myer, 1958 :154 อ้างในสุมาสี เทพสุวรรณ, 2537 : 15)

พิธีกรรมเป็นการปฏิบัติตามความเชื่อที่มีต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อให้อำนาจดังกล่าวคุ้มครองปกปักรักษาให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ประสบผลสำเร็จในการกระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีพิธีกรรมอันเกิดจากความเชื้อต่ออำนาจเหนือธรรมชาติหลายอย่างที่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ป่าหรือระบบนิเวศน์ป่า เพื่อให้การรักษาระบบนิเวศน์ป่าดำเนินไปควบคู่กันไปทั้งวิธีการทางวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ เพราะทั้งสองกระแสความคิดดังกล่าวแล้วมีส่วนเกี่ยวข้องกับป่าและสามารถรักษาป่าไว้ได้ ตัวอย่างเช่น

การเกิดพิธีกรรมในการเกิดสามารถสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่า ตามประเพณีของกะ เหรี่ยง เมื่อทารกคลอดแล้วผู้ทำคลอดจะให้มีดปาดผิวไม้ไผ่ในครัวนำมาตัดสายสะดือเด็กแล้วบรรจุกระบอกไม้ไผ่ ถ้าเด็กคลอดในเวลากลางคืนก็ผูกติดไว้ที่เตาไฟจนเช้าตรู่ จึงนำสายสะดือใส่กระบอกไม้ไผ่ผูกติดกับต้นไม้ใหญ่ เช่น มะม่วงป่า ไม้ก่อ หรือไม้ยืนต้นอื่น ๆ ยกเว้นต้นไทร ถ้าเด็กคลอดหลังเวลาเช้าตรู่ก็ต้องรอจนกระทั่งเช้าตรู่ของวันต่อไป ในวันที่นำสายสะดือใส่กระบอกไม้ไผ่ผูกติดกับต้นไม้ ทุกคนในหมู่บ้านต้องหยุดการทำงานในไร่ นา หลังจากเก็บไว้ 7 วันที่ต้นไม้จึงนำไปทิ้ง

ต้นไม้ที่เก็บสายสะดือทารกเปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่เก็บขวัญของทารก ถ้าใครตัดฟันต้องถูกปรับเป็นไก่ 1 ตัว สุรา 1 ขวด ถ้าต้นไม้ถูกฟ้าฝ่าตายต้องผูกข้อมือเด็กเพื่อรับขวัญ ความเชื่อดังกล่าว จะทำให้กะเหรี่ยงรักษาต้นไม้ ชีวิตคน 1 คน เท่ากับต้นไม้ 1 ต้น ถ้า 1000 ชีวิต ก็เท่ากับ ต้นไม้ 1000 ต้น ป่าเล็กก็จะกลายเป็นป่าใหญ่ การได้รับปัจจัย 4 จากระบบนิเวศน์ป่าก็มากขึ้นแต่ไม่ใช้ตัดฟันเพื่อขายท่อนไม้ ในระบบนิเวศป่าพิธีกรรมซึ่งประกอบด้วยสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ดิน ภูเขา แม่น้ำ ฯลฯ สิ่งมีชีวิตได้แก่ สัตว์ พืช มนุษย์ และผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น ผีสาง เทวดา ฯลฯ อาศัยอยู่ร่วมกัน และประกอบเป็นระบบนิเวศ นโยบายในการแก้ปัญหาป่าไม้ควรใช้มัติทางวัฒนธรรมและทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพราะส่วนประกอบของระบบนิเวศมีแนวความคิด 2 ด้าน ผสมผสานอยู่ด้วยกัน
พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตรและความอุดมสมบูรณ์ของภาคเหนือมีวัตถุประสงค์เพื่อความอุดมสมบูรณ์เป็นผลผลิตที่เกิดจากความขัดแย้งในความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติเป็นความคาดหวังของมนุษย์ที่ต้องการจัดสมดุลยภาพของการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างตนเองกับธรรมชาตินั่นเองวัตถุประสงค์ของการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตรและความสมบูรณ์ของภาคเหนือมีลักษณะเป็นข้อมุ่งต้องการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้านการผลิต ดังนี้

1. เพื่อบังคับให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พิธีกรรมที่ประกอบขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ข้อนี้ไดแก่ พิธีแห่นางแมวขอฝน และพิธีฟังธรรมปลาช่อน
2. เพื่อให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอแก่การผลิตเช่นพิธีไหว้ผีฝาย
3. เพื่อระดมแรงงานในการผลิตเช่นพิธีไหว้ผีปู่ย่า
4. เพื่อป้องกันภัยเบียดเบียนพืชผลและให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้แก่ พิธีเรียกขวัญข้าว ไหว้เจ้าที่สวน
5. เพื่อตอกย้ำบทบาทหน้าที่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในการบันดาลความอุดมสมบูรณ์และฉลองชัยในการเอาชนะธรรมชาติได้แก่พิธีทานข้าวใหม่ ยี่เป็ง ปีใหม่(สงกรานต์)
6. เพื่อให้เกิดความมั่นใจที่จะได้รับความอุดมสมบูรณ์ในโลกหน้า ได้แก่ พิธีทานข้าวใหม่ ปีใหม่(สงกรานต์)

ตัวอย่างพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตรและความอุดมสมบูรณ์ของภาคเหนือ
พิธีแห่นางแมวขอฝน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล ไร่นามีน้ำอุดมสมบูรณ์โดยใช้แมวตัวเมียสีดำ ในพิธีกรรมแมวมีบทบาทในการร้องขอฝนหรือทำให้ฝนตกได้ สีดำของแมวจึงน่าจะหมายถึงเมฆฝนหรือความอุดมสมบูรณ์

 

10. ปราฌัญ จันทร์เป็งผัด รหัส 4568101

ความเป็นมาและความหมายของภูมิปัญญาชาวบ้าน



ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่มีคุณธรรม สอนให้คนเป็นคนดีสอนให้คนเคารพธรรมชาติ รู้จักพึ่งพาอาศัยธรรมชาติโดยไม่ทำลาย ให้เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และคนที่ล่วงลับไปแล้ว

ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นความรู้เรื่องการทำมาหากิน เช่น การจับปลาการจับสัตว์ การทอผ้า ทอเสื่อ การสานตะกร้าและเครื่องใช้ด้วยไม้ไผ่ ด้วยหวาย การทำเครื่องปั้นดินเผา การทำเครื่องมือทางการเกษตร
นอกจากนั้น ยังมีศิลปะดนตรี การฟ้อนรำ และการละเล่นต่าง ๆการรักษาโรคด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การใช้ยาสมุนไพร การนวด เป็นต้น

ภูมิปัญญาเหล่านี้เป็นความรู้ความสามารถที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์และถ่ายทอดมาให้เรา มีวิธีการหลายอย่างที่ทำให้ความรู้เหล่านี้เกิดประโยชน์แก่สังคมปัจจุบันด้วย คือ
การอนุรักษ์ คือ การบำรุงรักษาสิ่งที่ดีงามไว้

การฟื้นฟู คือ การรื้อฟื้นสิ่งที่ดีงามที่หายไป เลิกไป หรือกำลังจะเลิก ให้กลับมาเป็นประโยชน์ เช่น การรื้อฟื้นดนตรีไทย

การประยุกต์ คือ การปรับ หรือการผสมผสานความรู้เก่ากับความรู้ใหม่เข้าด้วยกัน ให้เหมาะสมกับสมัยใหม่ เช่น การใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาล ประสานกับการรักษาสมัยใหม่ การทำพิธีบวชต้นไม้ เพื่อให้คนร่วมมือกันอนุรักษ์ป่า

ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นความรู้ที่มีคุณธรรม สอนให้คนเคารพผู้อื่นเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เคารพธรรมชาติ พึ่งพาอาศัยธรรมชาติโดยไม่ทำลาย
ความเชื่อเรื่องผี มีความหมายถึงกฎเกณฑ์ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมาการละเมิดกฎเกณฑ์นั้น จึงเรียกว่า ผิดผี ต้องมีการขอขมา และมีการลงโทษโดยคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษเป็นผู้แนะนำและดำเนินการเช่น ประเพณีสอนให้คนหนุ่ม สาวที่ยังไม่แต่งงานไม่ให้ถูกเนื้อต้องตัวกันเป็นการป้องกันมิให้กระทำเกินกว่าสมควร ถ้าใครทำผิด ก็เรียกว่า ผิดผีต้องมีการ เสียผี คือ มีการชดใช้การกระทำผิดนั้น

ภูมิปัญญาชาวบ้านยังมีเรื่องประเพณีต่าง ๆ ซึ่งทำให้ชุมชนร่วมใจกันทำกิจกรรม ที่เป็นการรื้อฟื้นแนวทางในการดำเนินชีวิต เช่น งานบุญตามเทศกาล งานพิธีการเกิด การสู่ขวัญ การแต่งงาน และงานศพ เป็นต้น

มนุษย์สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยอาศัยภูมิปัญญาของตัวเอง ภูมิปัญญา(Wisdom) หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน(Popular wisdom) ภูมิปัญญาเกิดจากการสะสมการเรียนรู้เป็นระยะเวลายาวนาน มีลักษณะเชื่อมโยงกันไปหมดในทุกสาขาวิชา ไม่แยกเป็นแบบรายวิชาที่เราเรียน ฉะนั้นวิชาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจอาชีพความเป็นอยู่ เกี่ยวกับการใช้จ่าย เกี่ยวกับการศึกษาวัฒนธรรม มักจะกลมกลืนเชื่อมโยงกันไปหมด

ภูมิปัญญาชาวบ้าน(Popular wisdom) ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่านแต่พอจะสรุปได้ดังนี้

ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดได้เองที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหา เป็นสติปัญญา เป็นองค์ความรู้ทั้งหมดของชาวบ้าน ทั้งกว้าง ทั้งลึก ที่ชาวบ้านสามารถคิดเองทำเอง โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตได้ในท้องถิ่นอย่างทันสมัย และได้ให้แนวคิดในเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านว่าภูมิปัญญาเป็นเรื่องของการสืบทอดประสบการณ์จนถึงปัจจุบันไปอย่องต่อเนื่องไม่ขาดสายเป็นธรรมชาติของชาวบ้านที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ต่อกันมิได้ขาด เป็นลักษณะของความสัมพันธ์ภายในโดยชาวบ้านเอง โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตได้ในท้องถิ่นซึ่งภูมิปัญญาชาวบ้านสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ใน 3 ลักษณะที่ใกล้เคียงกันคือ

1. ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับโลก สิ่งแวดล้อม สัตว์ พืช ธรรมชาติ

2. ความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ที่ร่วมกันในสังคม หรือในชุมชน

3. ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ สิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้

ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านการเกษตร

การทำมาหากิน อาชีพดั่งเดิมของชาวนครราชสีมาคือ อาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา การทำสวนทำไร่ เป็นต้น ผู้อยู่ใกล้แหล่งน้ำก็มักจับปลามาเป็นอาหาร มีภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน ดังนี้

การทำนา คนไทยรู้จักการปลุกข้าวมาหลายพันปี ภูมิปัญญาด้านการทำนาจึงพัฒนามาโดยลำดับ สามารถใช้พันธุ์ข้าวได้เหมาะสมกับพื้นที่ ลักษณะดินและปริมาณน้ำ ถ้าเป็นนาลุ่ม หรือนาหนอง มักใช้พันธุ์ข้าวหนัก ปลูกโดยวิธีปักดำ แต่ถ้าเป็นนาโคก นาเขิน (นาในที่สูง) มีปริมาณน้ำน้อยหรือไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ก็มักใช้พันธุ์ข้าวเบา มีช่วงระยะการเก็บเกี่ยว โดยใช้วิธีไถหว่านแทนการไถคราดแล้วจึงปักดำ ในอดีตขั้นตอนในการทำนาตั้งแต่ต้นจนจบจะเป็นกระบวนการใช้แรงงานคนและสัตว์คือ วัว ควาย ซึ่งต้องพึงพากัน ด้วยเมตตาธรรม สามัคคีธรรมและความกตัญญู นอกจากสัตว์จะช่วยเป็นแรงงานให้แล้ว มูลสัตว์ยังเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ช่วยบำรุงดินไปในตัวด้วย

ขั้นตอนและเครื่องมือการทำนามีดังนี้

การคัดเลือกพันธุ์ข้าว ถ้านาเป็นลุ่มน้ำมากจะใช้พันธุ์ข้าวลอยเมล็ดสั้น ชื่อนางปทุม ถ้านาธรรมดาใช้พันธุ์ข้าวธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าเป็นนาน้ำน้อยจะใช้พันธุ์ข้าวเบา
การเลือกวันประกอบพิธีทำนา ได้แก่ วันแรกนา ซึ่งเรียกว่า พิธีแรกนาเอาฤกษ์ คือ ไถเวียนขวาสามรอบ โดยเริ่มจากทิศอีสานของนาแปลงแรก เสร็จแล้วไถเป็นเส้นทแยงมุมจากทิศอีสานมาด้วนทิศหรดี หลังจากนั้นจะเลือกวันทำพิธีหว่านกล้า มักกำหนดเป็นวันเสาร์เพราะต้องการต้นใบ ส่วนพิธีดำนา มักกำหนดเอาวันศุกร์ ถือว่าเป็นวันที่จะทำให้พิธีออกผลมากมาย

คุณค่าภูมิปัญญาชาวบ้านต่อระบบนิเวศเกษตร

ความเชื่อในกฎเกณฑ์ประเพณีเป็นระเบียบทางสังคมของชุมชนดั้งเดิมความเชื่อนี้เป็นรากฐานระบบคุณค่าต่าง ๆ ความกตัญญูรู้คุณต่อ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ความเมตตาเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติรอบตัวและในสากลจักรวาล

ความเชื่อ " ผี " หรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติเป็นที่มาของการดำเนินชีวิตทั้งของส่วนบุคคลและของชุมชนโดยรวม การเคารพในผีปู่ตา หรือผีปู่ย่าซึ่งเป็นผีประจำหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นลูกหลานของปู่ตาเดียวกัน รักษาป่าที่มีบ้านเล็ก ๆ สำหรับผีปลูกอยู่ติดหมู่บ้าน ผีป่าทำให้คนตัดไม้ด้วยความเคารพ ขออนุญาต เลือกตัดต้นไม้แก่และปลูกทดแทนไม่ทิ้งสิ่งสกปรกลงแม่น้ำด้วยความเคารพในแม่คงคา กินข้าวด้วยความเคารพในแม่โพสพ คนโบราณกินข้าวเสร็จจะไหว้ข้าวหรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนคนจะเดินทางไกล หรือกลับจากการเดินทาง สมาขิกใหม่ในชุมชน คนป่วยหรือกำลังฟื้นไข้ คนเหล่านี้จะได้รับพิธีสู่ขวัญ เพื่อให้เป็นสิริมงคล มีความอยู่เย็นเป็นสุข นอกนั้นยังมีพิธีสืบชะตาชีวิตของบุคคลหรือของชุมชน

นอกจากพิธีกรรมกับคนแล้ว ยังมีพิธีกรรมกับสัตว์และธรรมชาติ มีพิธีสู่ขวัญข้าว สู่ขวัญควาย สู่ขวัญเกวียน เป็นการแสดงออกถึงการขอบคุณการขอขมา พิธีดังกว่าวไม่ได้มีความหมายถึงว่าสิ่งเหล่านี้มีจิตมีผีในตัวมันเองแต่เป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์กับจิตและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นสากล ในธรรมชาติทั้งหมด ทำให้ผู้คนมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกสิ่ง

ผู้คนสมัยก่อนมีความสำนึกในข้อจำกัดของตนเอง รู้ว่ามนุษย์มีความอ่อนแอและเปราะบาง หากไม่รักษาความสัมพันธ์อันดีและไม่คงความสมดุลกับธรรมชาติรอบตัวไว้ เขาคงไม่สามารถมีชีวิตได้อย่างเป็นสุขและยืนนานผู้คนทั่วไปจึงไม่มีความอวดกล้าในความสามารถของตน ไม่ท้าทายธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และรักษากฎระเบียบประเพณีอย่างเคร่งคัด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความชาญฉลาดของบรรพบุรุษของเราที่มีแนวคิดที่แยบยล มองการณ์ไกล ถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นต่อไป

 

11. วิทย์ อนุสศาสนะนันทน์ รหัส 4428134

ภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาต

การทำการเกษตรของไทยแต่โบราณมามีลักษณะแฝงไว้ซึ่งความเชื่อในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เล่าสืบต่อและถือปฏิบัติกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ แต่หากเราได้วิเคราะห์ถึงการปฏิบัติต่างๆของเกษตรกรแล้วจะเห็นได้ว่าการปฏิบัติดังกล่าวมีลักษณะเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า เป็นวิธีการที่แยบยลในการสืบทอดภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน

ตัวอย่างเช่นประเพณีรับท้องข้าว เป็นประเพณีที่ทำมาแต่โบราณนิยมทำในวันเข้าพรรษาหรือลาพรรษา หลังจากเสร็จพิธีทำบุญพรรษาแล้ว แต่ละบ้านจะทำพิธีรับท้องข้าว ต่างคนต่างทำในที่นาของตน ประเพณีนี้จะทำในเดือน 12 หลังจากเกี่ยวข้าวนวดข้าว นำข้าวเข้ายุ้งแต่ละบ้านที่เก็บเกี่ยวได้จะทำ พิธีรับขวัญ หรือเรียกขวัญข้าว โดยเลือกผู้หญิงที่มีเรือนและมีวัยวุฒิ ให้คอนกระบุงข้าวขึ้นบ่าเดินไปที่ลานแล้ววางกระบุงลง จุดธูปกล่าวเชิญแม่โพสพ จากนั้นจะมีคนช่วยนำฟางข้าวมาผูกเป็นรูปหุ่น มีแขน ขา ลำตัว ศีรษะขนาดสูงประมาณ 1 ฟุต สมมติว่าเป็นแม่โพสพ วางลงในกระบุงกล่าวเชิญเสร็จก็คอนกระบุงกลับยุ้งมีเคล็ดลับว่าตลอดทางห้ามพูดกับใคร ห้ามทักใคร คอนกระบุงมาเข้ายุ้งข้าวแล้วนำหุ่นฟางแม่โพสพไปตั้งไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งบนกองข้าวในยุ้งเหมือนให้แม่โพสพตาม จากนามาอยู่ในยุ้งข้าวด้วย ในอีกหลายท้องที่มีประเพณีการทำขวัญข้าวโดยเกษตรกรจะทำการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวจากกอที่ดีที่สุดในระยะน้ำนมประมาณเดือน 12 มาเข้าพิธีซึ่งหากวิเคราะห์ดูแล้วก็คือการคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้สามารถดำรงพันธุ์ข้าวไว้ได้ตลอดไป

หรือการที่ผู้เฒ่าผู้แก่นำเกลีอไปโรยรอบๆรัศมีทรงพุ่มของต้นมะพร้าว มะนาวหรือส้มโดยเชื่อว่าจะทำให้ได้ผลที่มีน้ำและเนื้อหวานชื่นใจ หากวิเคราะห์หลักการเหตุผลทางวิทยาศาสตร์จะพบว่ามะพร้าว และพืชตระกูลส้มมีความสามารถในการใช้เกลือแกง(Nacl) ทดแทนการใช้โปรแตสเซียม( K) ซึ่งมีผลต่อการเจริญและการสร้างผล

การที่เกษตรกรจุดไฟรมควันแก่ไม้ผลในระยะติดดอก หากวิเคราะห์เหตุผลทางวิทยาศาสตร์จะพบว่าควันไฟจะเพิ่มปริมาณคาร์บอนทำให้อัตราส่วนระหว่างคาร์บอนกับไนโตรเจนในอากาศ(C:N Ratio) เปลี่ยนไปโดยคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นจะดึงไนโตรเจนในต้นไม้ออกมาเพื่อรักษาสภาพของ C:N Ratio พืชเมื่อเสียไนโตรเจนไปก็จะชงักการเจริญทางลำต้น การเคลื่อนย้าย(Translocate) ของอาหารจากแหล่งผลิต(Source) ของพืชคือใบก็จะส่งไปยังดอกและผลทำให้มีการติดดอกผลมากขึ้น

หลังการตอนลูกสุกรตัวผู้เกษตรกรจะเอาขี้เถ้าเข้ายัดในแผลหลังการตอนซึ่งจากประสบการณ์การออกส่งเสริมชาวบ้าน ผู้เขียนได้แนะนำชาวบ้านว่าควรเป็นขี้เถ้าจากการเผาใหม่ๆจะได้ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ขี้เถ้ามีความเป็นด่างจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้

จากตัวอย่างต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าภูมิปัญญาต่างๆของชาวบ้านจะมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มารับรอง นอกจากนี้คนโบราณยังมีความเชื่อซึ่งถือปฏิบัติต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันซึ่งมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและสิ่งแวดล้อมเช่น

ความเชื่อเรื่องการขอฝน เนื่องด้วยชาวไทยในเขตลุ่มแม่น้ำป่าสักมีอาชีพเกษตรกรรม จึงต้องอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเพื่อให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามจึงมีวิธีการขอฝน ตัวอย่างวิธีขอฝนคือ

การแห่นางแมวขอฝน มักทำในเดือน 9 เดือน 10 หลังจากดำนาหรือหว่านข้าวแล้ว ชาวบ้านจะนำแมวใส่กรงขังไว้แล้วเดินแห่แมวไปยังหมู่บ้าน ขณะแห่จะร้องเพลงแห่นางแมว เนื้อร้องจะมีคำร้องเป็นการขอเรียกฝน การทำให้ฝนตกโดยวิธีการท่องคาถาขอฝน มี 2 คาถา คือ สวดหรือท่องคาถาหัวใจร้อยแปด จะแก้เหตุร้ายภัยพิบัติรวมทั้งฝนแล้งได้ด้วย คาถาที่ 2 สวดคาถาปลาช่อน ก่อนสวดปลาช่อนต้องทำบุญตักบาตร 3 วัน

การพายเรือบนบก เป็นการทำต่อเนื่องคาถาปลาช่อน และสุดท้ายการปั้นไอ้เมฆ คือการปั้นหุ่นดินเหนียว เพศหญิงชาย แล้ววางทั้งไว้ที่ทาง 3 แพร่ง ขอเรียกฝน

ความเชื่อเกี่ยวกับสวัสดิมงคลในการดำเนินชีวิต
มักเป็นความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับอาชีพเกษตรกรรม เป็นสำคัญ เช่น ห้ามสวมรองเท้าเดินลุยผ่านลานข้าว จะทำให้พระแม่โพสพโกรธหรือการเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ใช้งาน ไม่นิยมเลี้ยงวัว 5 ม้า 6 ตัว ตามลำดับ ถือว่าอัปมงคล ให้นำไปปล่อยอย่าเลี้ยงลูกของมันเด็ดขาด เป็นต้น

ตัวอย่างที่ดีของภูมิปัญญาชาวบ้านที่ช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติก็คือการปลูกข้าวด้วยตอซังของเกษตรกรที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานีในปี2539

เหตุผลหลักในการปลูกข้าวด้วยตอซังหรือแบบล้มตอซัง เกิดจากต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงขึ้นคือจาก1,951บาทต่อไร่ในปี2539มาเป็น2,152บาทต่อไร่ในปี2540 หากเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตเช่นลดการเตรียมดินลง ไม่มีการไถพรวนก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

การปลูกข้าวด้วยตอซังเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ช่วยลดการจัดการซ้ำซากอันมีผลต่อโครงสร้างของทรัพยากรดิน ลดต้นทุนลงได้ประมาณ350 ถึง 500บาทต่อไร่
การปลูกข้าวด้วยตอซังทำให้ไม่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ และไม่ต้องเตรียมดิน พันธุ์ข้าวที่จะใช้ปลูกควรมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ120วันปรับพื้นผิวนาให้ราบเรียบ โดยครั้งแรกปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตมและต้องเก็บเกี่ยวระยะ "พลับพลึง"หลังจากนั้น เกลี่ยฟางข้าวกระจายให้ทั่วแปลงแล้วย่ำตอซังให้ล้มราบติดพื้นนาโดยในช่วงนั้นดินต้องมีความชื้นหมาดๆเรียกว่าข้าวตอที่ 1 อายุเก็บเกี่ยว 90 วันผลผลิตสูงประมาณ 800ถึง 900กิโลกรัมต่อไร่ และสามารถปลูกข้าวด้วยตอซังอีกครั้งหนึ่งเรียกว่าข้าวตอที่ 2 การปลูกข้าวด้วยตอซังควรมีการชลประทานที่ดีสามารถทดน้ำเข้าออกแปลงนาได้สะดวก โดยไม่มีน้ำท่วม 15ถึง20 วันหลังล้มตอซัง มีการเกลี่ยฟางข้าวให้ทั่วทั้งแปลงซึ่งจะช่วยทำให้ตอซังล้มลงไปติดนาบแนบกับพื้นดิน รากของต้นข้าวที่เกิดใหม่จากตอซังที่เรียกว่า "ลูกข้าว"จะสามารถหาอาหารเลี้ยงต้นข้าวได้รวดเร็ว ระบบรากเกิดใหม่มีจำนวนมากและแข็งแรง ต้นข้าวที่เกิดใหม่จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ติดดอกออกรวงพร้อมกัน เมล็ดสมบูรณ์ ผลผลิตสูงกว่าลูกข้าวที่เกิดจากตอซังที่ล้มไม่ติดนาบกับผิวดิน ฟางข้าวที่ย่อยสลายจะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี ช่วยรักษาระดับความชื้นในดิน นอกจากนี้ในฟางข้าวยังมีธาตุซิลิคอนช่วยทำให้ต้นข้าวแข็งแกร่ง แมลงศัตรูไม่สามารถเข้าทำลายได้

ภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องการปลูกข้าวด้วยตอซังจึงสามารถลดการจัดการอันจะมีผลต่อโครงสร้างของดิน การลดการใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งอาจทำให้เกิดการตกค้างในดิน และส่งผลเสียต่อผู้บริโภคนอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น

เอกสารอ้างอิง
จิราภา เมืองคล้าย.2542. การใช้ปุ๋ยในนาข้าว. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.32 หน้า
เจริญ ท้วมขำ. 2543.ปลูกข้าวด้วยตอซังลดต้นทุนการผลิต. หน้า609-612.หนังสือพิมพ์กสิกร ปีที่ 73 ฉบับที่ 6 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2543.(ISSN 0125-3697) กรมวิชาการเกษตร.

 

12. กมล กองคำ รหัส 4528101
ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่า

ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งหมายถึงภูมิปัญญา ซึ่งเกิดจากแนวความคิด ประสบการณ์และการเรียนรู้ของชาวบ้าน แล้วสรุปเป็นบทเรียน, แนวทางในการปฎิบัติหรือแนวทางในการดำเนินชีวิต ภูมิปัญญาดังกล่าวมีทั้งเป็นแนวความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์หรือเป็นลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งจะแสดงออกมาในรูป การประกอบอาชีพ การดำรงชีวิต การทำมาหากิน ประเพณี พิธีกรรมและกฏข้อห้าม ต่างๆ

พิธีกรรมแบบอย่างในการอนุรักษ์ป่า
พิธีกรรมเป็นการปฎิบัติตามความเชื่อที่มีต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อให้อำนาจดังกล่าวคุ้มครองปกปักรักษาให้ดำเนินชีวิตอย่างอยู่เย็นเป็นสุข มีพิธีกรรมหลายอย่างที่มีประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อการณ์อนุรักษ์ป่าหรือระบบนิเวศน์ป่า พิธีกรรมที่ควรรักษาไว้ เช่น

1. การเกิด ตามประเพณีของกะเหรี่ยงเมื่อทารกคลอดแล้ว หมอตำแยจะใช้ผิวไม้ไผ่มาตัดสายสะดือใส่กระบอกไม้ไผ่ไปผูกติดไว้กับต้นไม้ใหญ่ เช่นมะม่วงป่า ไม้ก่อ หรือไม้อื่นๆ ยกเว้นต้นไทร หลังจากเก็บไว้ 7 วัน ที่ต้นไม้ จึงนำไปทิ้งหรือนำไปฝัง ต้นไม้ที่เก็บสายสะดือทารก เปรียบเหมือนต้นไม้ที่เก็บขวัญของทารก ถ้าใครตัดฟันต้องถูกปรับเป็น ไก่ 1 ตัว สุรา 1 ขวด หรืออาจจะมากกว่านี้ ถ้าต้นไม้ถูกฟ้าฝ่าตายต้องผูกข้อมือเด็กเพื่อรับขวัญ ความเชื่อดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้กะเหรี่ยงรักษาต้นไม้ ผลมาจากชีวิตคน 1 คน เท่ากับต้นไม้ 1 ต้น ถ้า 1,000 ชีวิต ก็เท่ากับต้นไม้ 1,000 ต้น ป่าเล็กก็จะเป็นป่าใหญ่

2. การเลี้ยงผีขุนน้ำ ชาวไทย กะเหรี่ยง ลัวะ และชาวเขาเผ่าอื่นๆ มีความเชื่อในเรื่องผีขุนน้ำลำน้ำทุกสายจะมีผีรักษาอยู่ตลอดสายน้ำ
และผีขุนน้ำจะบันดาลให้น้ำไหลตลอดปี ผีขุนน้ำมีหลายระดับ ตั่งแต่ผีขุนน้ำรักษาห้วยเล็กๆ จนกระทั่งลำน้ำสายใหญ่ บริเวณใดที่เป็นขุนน้ำ ชาวบ้านจะรักษาป่าไว้เป็นอย่างดี เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำ และมีการเลี้ยงผีขุนน้ำ เพื่อเป็นการแสดงความเครพนับถือต่อสิ่งที่เกื้อกูลประโยชน์และปกป้องรักษาสายน้ำ บริเวณผีขุนน้ำของทุกหมู่บ้านจะเป็นป่าอนุรักษ์หรือป่าพิธีกรรม ดังนั้นชาวบานจะรักษาป่าเป็นอย่างดี บางหมู่บ้านมีการปลูกป่าเพิ่มเติมบริเวณต้นน้ำ การรักษาผีขุนน้ำจึงเป็นการรักษาป่าควบคู่ไปด้วย

3. การบวชป่า การบวชป่าเป็นพิธีกรรมทางศาสนา ที่พระสงฆ์ในภาคเหนือ ประยุกต์ใช้กับการอนุรักษ์ป่า การบวชป่าจะทำพิธีโยงสายสิณจน์ไปตามภูเขาต้นไม้ ทำพิธีอัญเชิญเทวดาอารักษ์ ผีป่า ผีเขาให้มารับรู้ และบอกผีให้ช่วยกันรักษา และปลูกศาลเพียงตาสำหรับรุกขเทวดาให้อยู่เฝ้า ถ้าหากผู้ใดตัดไม้ทำลายป่า ก็ขอให้มีอันเป็นไป ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อ ในการบวชเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธ บุคคลที่ผ่านพิธีกรรมทางการบวช ย่อมได้รับความเครพ นับถือจากประชาชน ดังนั้นถ้าจัดพิธีบวชป่าแล้วป่านั้นจะเป้นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ น่าเครพยำเกรงแก่ผู้บุกรุกทำลายป่า

4. แนวกันไฟ (ว่าเหม่โต) เป็นแนวป้องกันไฟลุกลาม บริเวณแนวกันไฟกว้าง ตั้งแต่ 5 เมตร ถึง 10 เมตร เป็นบริเวณที่โล่งเตียน ชาวไทย กะเหรี่ยง ลัวะ และชาวเขาเผ่าอื่นๆ รู้จักทำแนวกันไฟเมื่อเผาไร่ กิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี นักพัฒนาชาวเขาเผ่าเย้า ได้สรุปลักษณะโครงสร้างหมู่บ้าน และแบบแผนการดำเนินชีวิตของชาวเขาไว้ 6 ชั้น คือ หมู่บ้าน ป่าชุมชน นา ไร่ ป่าแนวกันไฟ และป่าอนุรักษ์ ดังภาพโครงสร้าง

จากโครงสร้างดังกล่าว หมู่บ้านเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและเรียนรู้วัฒนธรรมจากผู้อาวุโส ป่าชุมชนเป็นแหล่งจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น เชื้อเพลิง ที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค ฯลฯ เป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์ของหมู่บ้านและเป็นพื้นที่ของชาวบ้านต้องดูแลรับผิดชอบร่วมกัน ไร่ นา เป็นแหล่งผลิตผลผลิตทางการเกษตร ให้แก่หมู่บ้าน แนวกันไฟเป็นด่านป้องกัน มิให้ไฟจากไร่ไหม้ลามเข้าสู่ป่าอนุรักษ์ และขณะเดียวกันก็ป้องกันไฟเข้าสู่ผลิตทางการเกษตรด้วย แนวกันไฟจึงเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่ชาวไทยและชาวเขาคิดสร้างขึ้น