ขอบเขตของการวิจัย  
   
 
    ขอบเขตของการวิจัย  
   


โครงการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวนาปีโดยใช้ปุ๋ยพืชสดบำรุงดินและศึกษาการยอมรับของเกษตรกรได้ดำเนินการกับเกษตรกรจำนวน 53 ราย ในพื้นที่รับน้ำโครงการชลประทานแม่แตง แม่แฝก และ แม่กวง รวม 3 อำเภอ คือ อำเภอแม่แตง สันทราย และอำเภอสันกำแพงตามลำดับ โดยร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 เชียงใหม่ และ สถาบันวิจัยข้าว ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วย ( รูปภาพที่ 3.1 )

1. ขั้นเตรียมการ

1.1 จัดเตรียมทีมงานวิจัยและทำความเข้าใจร่วมกันในคณะทำงาน

  • ชี้แจงวัตถุประสงค์ แผนงานและความคาดหวัง
  • อบรมผู้ช่วยนักวิจัยในประเด็นต่างๆเช่น
  • การทำงานร่วมกับเกษตรกร
  • ระบบการผลิตโสนอัฟริกัน-ข้าวคุณภาพ
  • การวิเคราะห์ระบบฟาร์ม

1.2. การเลือกพื้นที่และคัดเลือกเกษตรกรร่วมโครงการ

  • ชี้แจงโครงการกับสำนักงานเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอ
  • คัดเลือกเกษตรกร 50 รายจาก 3 อำเภอ
  • ประชุมเกษตรกรเพื่อชี้แจง และอบรมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในแต่ละอำเภอในรายละเอียดเกี่ยวกับ การจัดการ และการติดตามผล
  • สุ่มเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่เกษตรกรเพื่อวิเคราะห์ธาตุอาหารก่อนหว่านโสน

2. ขั้นดำเนินการวิจัย

2.1 การวิเคราะห์สถานะภาพทางเศรษฐกิจของเกษตรกรที่ร่วมโครงการ 50 ครัวเรือน
โดยทำการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นด้านเศรษฐกิจ สังคม ระบบการผลิต ต้นทุนการผลิต ผลผลิต รายได้ ตลอดจนทัศนคติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแต่ละรายเกี่ยวกับการปลูกพืชบำรุงดิน เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบเมื่อสิ้นสุดโครงการ

2.2. การปลูกโสนอัฟริกันและการปลูกข้าวคุณภาพในแปลงเกษตรกร

  • สนับสนุนเมล็ดพันธุ์โสนให้แก่เกษตรกร 3 กก. ต่อเกษตรกร 1 ราย พร้อมทั้งวิธีการ
    กระตุ้นความงอกของเมล็ด และอัตราที่ใช้
  • เกษตรกรเยี่ยมชมแปลงโสนของศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร เพื่อ
    สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชีวภาพและการจัดการโสนเป็นปุ๋ยพืชสด
  • เกษตรกรดำเนินการปลูกโสนอัฟริกันรายละ 1 ไร่ โดยเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การปลูก จนกระทั่งไถกลบซึ่งโครงการจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย บางส่วนในการเตรียมดิน เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการพร้อมให้คำแนะนำ และติดตามผลการปฏิบัติของเกษตรกรทุกรายอย่างใกล้ชิด
  • ชี้แจงเกษตรกรถึงระยะที่เหมาะสมในการไถกลบโสนเป็นปุ๋ยพืชสด
  • สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ เช่นข้าวขาวดอกมะลิ 105 ข้าวคลองหลวง 1 ให้แก่เกษตรกรรายละ 5 กก.ต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่

3. ขั้นติดตามและประเมินผล


3.1 การติดตามผลในพื้นที่เกษตรกร

  • ติดตามให้คำแนะนำในการปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่เกษตรกร
  • สุ่มเก็บตัวอย่างชีวมวลของโสนก่อนทำการไถกลบในพื้นที่เกษตรกร
  • ติดตามการเขตกรรมการปลูกข้าวของเกษตรกรทั้งในแปลงโครงการและนอกโครงการ บันทึกการเจริญเติบโตของข้าว บันทึกการใช้ปัจจัยการผลิต แรงงาน และ ปัจจัยที่มีผลต่อการลดลงของผลผลิตข้าว เช่น หอยเชอรี่ ปู แมลงศัตรูข้าว โรค วัชพืช นก และหนู ฯลฯ
  • บันทึกข้อมูลผลผลิตข้าวในแปลงที่ปลูกและไม่ปลูกโสนอัฟริกันของเกษตรกร

3.2 การสำรวจข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เกษตรกรเพิ่มเติมหลังการเก็บเกี่ยวข้าว เกี่ยวกับระบบการผลิตโสนอัฟริกัน-ข้าวคุณภาพ

กับระบบการผลิตข้าวเดิมของเกษตรกร ตลอดจนทัศนคติของเกษตรกรเมื่อสิ้นสุดโครงการ และสมมุติฐานเพื่อทดสอบการ
ยอมรับมาตรการการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ดินในนาข้าว ดังนี้

  • เกษตรกรที่มีที่ดินของตนเองจะยอมรับระบบโสน-ข้าวได้เร็วกว่าเกษตรกรที่
    ต้องเช่าที่ดินทำกิน
  • พื้นที่ถือครองมากจะยอมรับระบบโสน-ข้าวได้เร็วกว่า เกษตรกร
    ทีมีพื้นที่ปลูกข้าวจำกัด
  • ความต้องการที่จะลดการพึ่งพึงปุ๋ยเคมีจะมีผลต่อการยอมรับระบบโสน-ข้าว
    ของเกษตรกร
  • เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีเชิงพาณิชย์จะยอมรับระบบโสน-ข้าวได้เร็วกว่าเกษตรกร
    ที่ปลูกข้าวนาปีเพื่อบริโภค
  • การที่เกษตรกรต้องขยายเมล็ดพันธุ์ด้วยตนเองจะมีผลต่อการยอมรับระบบโสน
  • วิธีการปฏิบัติการใช้โสนเป็นปุ๋ยพืชสดจะมีผลต่อกายอมรับระบบโสน-ข้าว
  • ลักษณะทางกายภาพของดินจะมีผลต่อการยอมรับระบบโสน-ข้าว
  • เกษตรกรที่มีแปลงปลูกข้าวอิสระจากแปลงเพื่อนบ้านจะมีโอกาสยอมรับระบบโสน-ข้าว ได้เร็วกว่าเกษตรกรที่มีแปลงปลูกข้าว ซึ่งต้องอิงการจัดการของแปลงใกล้เคียง
  • ราคาโสน จะมีผลต่อการยอมรับระบบโสน-ข้าวของเกษตรกร
    ซึ่งการรวบรวมข้อมูลการยอมรับของเกษตรกรโครงการวิจัยฯ ได้นำระบบการผลิต โสนอัฟริกัน-ข้าวพันธุ์ดี แนะนำสู่เกษตรกร โดยได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์โสน ข้าวพันธุ์ดี และเงินทุนบางส่วนเพื่อเตรียมพื้นที่ แก่เกษตรกรในอำเภอแม่แตง สันทราย และสันกำแพง ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ทดลองนำไปปลูกในพื้นที่ โดยทีมวิจัยได้เข้าไปติดตามและเก็บข้อมูลมาตลอด และหลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ทีมวิจัยได้ดำเนินการสัมภาษณ์เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอีกครั้ง โดยใช้แบบสอบถามสัมภาษณ์เกษตรกรถึงข้อมูลครัวเรือน ข้อมูลการผลิต การใช้ปัจจัยการผลิต ตลอดจนความคิดเห็น และแผนการในอนาคตเกี่ยวกับการปลูกพืชบำรุงดิน รวมทั้งได้สัมภาษณ์เกษตรกรที่ไม่ได้ร่วมโครงการในปีนี้ ในทั้ง 3 พื้นที่จำนวนหนึ่งด้วย เพื่อประเมินถึงปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับการปลูกพืชบำรุงดิน ตลอดจนทัศนคติของเกษตรกรต่อการปลูกโสนอัฟริกันและพืชบำรุงดินอื่นๆ

3.2.1 จำนวนเกษตรกรตัวอย่าง


เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการวิจัยมีทั้งสิ้น 50 ราย แต่ในการสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายได้รวมเกษตรกรอีก 3 รายในอำเภอสันกำแพง ที่ได้ปลูกโสนอัฟริกันอยู่แล้วด้วย รวมเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ยอมรับระบบการปลูกพืชโสนอัฟริกันบำรุงดินก่อนการปลูกข้าวในปีการผลิต 2542 จำนวนทั้งสิ้น 53 ราย ประกอบด้วยเกษตรกรในพื้นที่อำเภอแม่แตง 20 ราย อำเภอสันทราย 18 ราย และอำเภอสันกำแพง 15 ราย สำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้ปลูกโสนอัฟริกันบำรุงดินหรือกลุ่มที่ไม่ยอมรับ ได้จากการสัมภาษณ์เกษตรกรในพื้นที่รอบข้างในทั้ง 3 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 60 ราย ประกอบด้วยเกษตรกร จากอำเภอแม่แตง 22 ราย อำเภอสันทราย 23 ราย และอำเภอสันกำแพง 15 ราย (ตารางที่ 3.1)

3.2.2 การวิเคราะห์ข้อมูล

  • ใช้วิธีพรรณนา โดยนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาวิเคราะห์ ประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของเกษตรกร รวมทั้งทัศนคติของเกษตรกรเกี่ยวกับ การยอมรับและผลกระทบของเทคโนโลยีการเกษตรเชิงอนุรักษ์ที่มีต่อผลผลิต และการใช้ปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เช่น แรงงาน
  • การวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์ ใช้วิธีวิเคราะห์งบประมาณบางส่วน (Partial budget) เปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนที่เกิดจาก การใช้โสนอัฟริกันในการฟื้นฟูดิน กับการผลิตโดยวิธีเดิมของเกษตรกร และประเมินปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อการยอมรับระบบโสนอัฟริกัน-ข้าวพันธุ์ดีด้วยแบบจำลอง Logit


 
    ......................................................................................................................................................................................  
    การถือครองที่ดินและขนาดพื้นที่ทำกิน  
    ......................................................................................................................................................................................  
 

 

 

 
  (กลับเกษตรที่ลุ่ม) :( เกษตรยั่งยืน) :( หน้าหลัก)