โครงการวิจัย

การพัฒนานักวิจัยและการวิจัยเชิงปฎิบัติการไตรภาคีเพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชน ระยะที่ 1 : ภาคเหนือตอนบน

ที่มาและความสำคัญของโครงการ
โครงการฯ
รายชื่ออาจารย์ และผู้ช่วยวิจัยที่ดูแลกรณีศึกษา
รายชื่อกลุ่มกรณีศึกษา
รายชื่อเครือข่ายนักวิจัยท้องถิ่น
กิจกรรม
ระบบธุรกิจเกษตร

ที่มาและความสำคัญของโครงการ  
          จากผลงานวิจัยใน 3 โครงการได้แก่ แนวทางยกระดับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปพื้นบ้านภาคเหนือ (อารี วิบูลย์พงศ์ และคณะ, 2539) สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม "การปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปพื้นบ้าน จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน" (ทรงศักดิ์ ศรีบุญจิตต์ และคณะ, 2544) ซึ่งสนับสนุนโดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และ "การปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมหัตถกรรมพื้นบ้านในภาคเหนือตอนบน" (ทรงศักดิ์ ศรีบุญจิตต์ และคณะ, 2546) ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย พบว่า การวิเคราะห์เจาะลึกโดยการศึกษาเป็นรายกรณีของผู้ประกอบการหรือกลุ่มชุมชนนั้นได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ผลิต/กลุ่มธุรกิจชุมชนโดยตรง นั่นคือ ผลการวิจัยสามารถนำเสนอแผนการปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มชุมชน (หรือผู้ประกอบการ) ในทุกด้าน กลุ่มฯ ได้เรียนรู้ประเด็นต่างๆ ซึ่งไม่เคยคำนึงถึงโดยผ่านคำถามที่นักวิจัยสอบถาม และกลุ่มฯ ได้ร่วมเป็นผู้ตอบและค้นหาคำถามบางอย่างด้วยตนเองในฐานะนักวิจัย ประเด็นธุรกิจทุกด้านจึงถูกนำมาวิเคราะห์ (ซึ่งได้แก่ การจัดองค์กร การเงิน การจัดการการผลิตเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการตลาด เป็นต้น) และนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อการคิดอย่างเป็นระบบมากยิ่งกว่าเดิม
         
          กระบวนการเรียนรู้ได้เกิดขึ้นกับผู้วิจัยทั้งจากสถาบันการศึกษา ผู้ช่วยนักวิจัยและที่สำคัญคือสมาชิกของกลุ่มฯ ที่เข้าร่วมกระบวนการตั้งคำถาม ตอบคำถามและเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการตลอดระยะเวลาของโครงการ กระบวนการเรียนรู้นี้จำเป็นต้องดำเนินต่อไปเพื่อเป็นการให้ความรู้ซึ่งถือเป็นการศึกษาอย่างต่อเนื่องแก่กลุ่มฯ จากโครงการอาหารแปรรูปพื้นบ้านฯ กลุ่มผู้แปรรูปได้สร้างชมรมของตนเองและเข้ารับการอบรมจากคณะวิจัยอย่างต่อเนื่องและจากกรณีศึกษาจำนวน 40 กลุ่มนี้พบว่า บทเรียนจากงานวิจัยนี้มีส่วนผลักดันกลุ่มฯ ให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเช่น กลุ่มแปรรูปเกษตร อ.สารภี เป็นต้น

          ส่วนหนึ่งในกระบวนการของโครงการวิจัยหัตถกรรมฯ คือ การเผยแพร่ประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากโครงการนี้ เพื่อขยายผลในระดับภาคโดยจัดการประชุมอบรมหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่ เมื่อโครงการได้สิ้นสุดลงให้เข้าใจถึงวิธีวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ต่างๆ ตั้งแต่การผลิต การเงิน การตลาดไปจนถึงการจัดการองค์กร เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถนำไปวิเคราะห์ขยายผลเพื่อพัฒนาธุรกิจชุมชนต่อไป จากการประชุมครั้งนี้พบว่า เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสนับสนุน (พัฒนาชุมชน การศึกษานอกโรงเรียน และ NGOs) ให้ความสนใจต่อการประชุม (28 กุมภาพันธ์ 2546) และได้เข้าร่วมฟังการอบรมกลุ่มฯ (1 - 2 มีนาคม 2546) ด้วยความสนใจอย่างยิ่ง ด้วยเห็นประโยชน์จากการทำความเข้าใจในเนื้อหาของการฝึกอบรมในครั้งนี้ ดังนั้นผลของการประชุมต่อเนื่องนี้ทำให้โครงการวิจัยฯ นอกจากจะได้เครือข่ายกลุ่มฯ หัตถกรรมแล้ว ยังพบว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติของหน่วยงานสนับสนุนสนใจที่ขอเข้ารับการอบรมและประสงค์จะทำการวิจัยในลักษณะเดียวกันนี้ในพื้นที่ของตนด้วย เพื่อนำผลไปพัฒนาและวางแผนเศรษฐกิจชุมชน ตลอดจนการตั้งงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาโดยมีงานวิจัยและข้อมูลรองรับ อย่างไรก็ตามคณะวิจัยพบว่า การอบรมในระยะเวลาสั้นไม่เป็นการเพียงพอ เจ้าหน้าที่จากหน่วยปฏิบัติงานไม่สามารถดำเนินการเองได้และกลับมีความประสงค์ที่จะได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากมหาวิทยาลัย ในขณะที่คณะวิจัยมีประสบการณ์เป็นอย่างดียิ่งและมีความพร้อมที่จะปรับใช้ประสบการณ์ที่สะสมมานาน 10 ปี ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากรและเพิ่ม productivity, value added, และ competitive advantage ให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนในวงกว้าง

          จากประสบการณ์ที่ผ่านมาแม้ว่าโครงการวิจัยสองโครงการหลังได้ดำเนินการอย่างเต็มที่และรวดเร็วแล้วก็ตาม แต่ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี 6 เดือน เพื่อให้ได้กรณีศึกษาเพียงโครงการละ 40 กรณี การที่จะเร่งพัฒนาธุรกิจของชุมชนโดยอาศัยนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเป็นหลักย่อมไม่สามารถขยายผลได้รวดเร็วทันต่อความต้องการของสังคมและนโยบายของรัฐในอันที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์และธุรกิจของชุมชนที่เข้าสู่โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แล้ว และที่จะนำเข้าสู่โครงการ ให้ได้มาตรฐานระดับเดียวกับ One Village One Product
ของ Oita ได้

         การขยายการวิจัยในลักษณะกรณีศึกษาโดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติของหน่วยงานสนับสนุนในพื้นที่เป็นนักวิจัยร่วมจะเป็นการขยายผลการปรับปรุงธุรกิจของกลุ่มฯ ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และย่นระยะเวลาในการพัฒนาธุรกิจชุมชนบนฐานแห่งความรู้และข้อมูลได้โดยกองกำลังนักวิจัยธุรกิจจำนวนมาก

วัตถุประสงค์
 
          โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการคือ ประการที่แรก เพื่อสร้างนักวิจัยวิสาหกิจชุมชนรุ่นใหม่โดยผ่านกระบวนการวิจัย ประการที่สอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับ ผลิตภาพและเพิ่มประสิทธิภาพ และความเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรมทางด้านการผลิต การตลาด การเงิน และการจัดองค์กรของกลุ่มธุรกิจ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (และผู้ประกอบการ) หัตถกรรมและอาหารแปรรูปพื้นบ้าน อันจะส่งผลต่อการยกระดับรายได้ของกลุ่ม และการจ้างงานในท้องถิ่น และประการที่สาม เพื่อนำข้อมูลจากผลการศึกษาไปประกอบการวางแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและขยายผลไปสู่ภาคอื่นๆ

          เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้
          1. ผลิตนักวิจัยธุรกิจชุมชนจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน และนักวิชาการอันเป็นการขยายฐานการวิจัยเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในวงกว้างและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
          2. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและ องค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากสามารถเขียนรายงานผลการวิจัยและเขียนแผนปรับปรุงโครงสร้างองค์การ โครงสร้างการผลิต การตลาด การเงินและการจัดองค์กรหรือแผนธุรกิจที่เหมาะสมให้แก่กลุ่มฯ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง สามารถแบ่งปันและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
          3. เพื่ออบรมกระบวนการและเทคนิคในการจัดการวิสาหกิจชุมชนเพื่อเป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Oita ให้แก่ผู้ร่วมโครงการทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานโครงการให้เทียบเท่า One Village One Product ของ Oita
          4. เพื่ออบรมกลุ่มฯ ในด้านการดำเนินการผลิต การใช้เทคโนโลยีการผลิต การตลาด การเงิน และการจัดองค์กร ในส่วนของกลุ่มฯ ที่ยังมีความอ่อนแอตามผลการวิจัยที่ได้ศึกษามา เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มฯ ดังกล่าว
          5. เพื่อทราบถึงสภาพปัจจุบันและพัฒนาการของหัตถกรรมพื้นบ้านและอาหารพื้นบ้าน โดยเจาะลึกถึงกลุ่มฯ ในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น โครงสร้างการผลิต โครงสร้างการตลาด โครงสร้างทางการเงิน การระดมทุน ลักษณะการประกอบการ และรูปแบบการจัดองค์กร เป็นต้น รวมถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของกลุ่มฯ
          6. เพื่อจัดทำ (หรือขยาย) Website สำหรับใช้ในการส่งเสริมการขายให้แก่กลุ่มฯ หัตถกรรมและอาหารแปรรูปพื้นบ้าน และเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้กับหน่วยประกอบการในด้านเทคโนโลยี สถาบันการเงิน และการตลาด ที่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
          7. เพื่อทราบถึงศักยภาพความยั่งยืนของการดำเนินงานของกลุ่มฯ ระหว่างกลุ่มที่มุ่งทำกิจกรรมเพื่อตลาดเป็นหลัก และกลุ่มฯ ที่มุ่งเน้นกิจกรรมทางสังคม เช่น กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งอาจเป็นกิจการที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกรูปแบบหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในขณะเดียวกันก็เป็นกิจการที่ส่งเสริมให้ภูมิปัญญาในท้องถิ่นเป็นพลัง และเป็นทรัพยากรสังคม ในการจัดการกับเศรษฐกิจระดับชุมชนฐานรากของประเทศ
   


ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร(ศวพก.), คณะเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จ.เชียงใหม่ 50200
โทร 053-221275 แฟ็กซ์ 053-210000 Homepage: http://mccweb.agri.cmu.ac.th
.

| หน้าหลัก ศวพก. | วิสัยทัศน์ ศวพก. | ระบบเกษตรยั่งยืน |ระบบสนับสนุนการตัดสินใจทางเกษตร | ระบบธุรกิจเกษตร |
หลักสูตรเกษตรศาสตร์เชิงระบบ
| หน่วยสนับสนุนงานวิจัย | เครือข่ายระบบเกษตร | สืบค้นข้อมูล | สิ่งตีพิมพ์ | ข่าวสาร |