รายละเอียดบทคัดย่อ


ยุภาพร ศิริบัติ บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล และ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ . ภาคนิทรรศการ (Poster) : ธุรกิจเกษตรการค้าชายแดนไทย- ลาว: รูปแบบการพัฒนาความเป็นภาคีหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนโดยองค์กรชุมชนท้องถิ่น.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.478-484.

บทคัดย่อ

         การค้าชายแดนทวีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งมีความจำเป็นต้องพึ่งพาความได้เปรียบของประเทศเพื่อนบ้านในเชิงปัจจัยการผลิต ดังนั้นการค้าชายแดนเป็นอีกช่องทางที่สำคัญในการแลกเปลี่ยน กระจายสินค้าและปัจจัยการผลิตทางเกษตรระหว่างสองประเทศตามแนวชายแดน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินงานและการบริหารองค์กรธุรกิจเกษตรการค้าชายแดนโดยชุมชนท้องถิ่นโดยวิธีการศึกษาแบบมีส่วนร่วม การสำรวจรูปแบบการจัดการ การประชุมกลุ่มย่อยเกษตรกร การสัมภาษณ์เกษตรกรรายครัวเรือนและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ จากกรณีศึกษาการค้าชายแดนไทย-ลาว ณ จุดผ่อนปรนกิ่วหก บ้านฮวก ต.ภูซาง อ.ภูซาง จ.พะเยา ของประเทศไทย และแขวงไชยะบุรีของประเทศลาว การศึกษาพบว่าการค้าชายแดนได้ก่อให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายด้านองค์กรระหว่างเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เพื่อขับเคลื่อนและสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ทั้งนี้เกษตรกร บ้านฮวกได้รวมกลุ่มเพื่อดำเนินธุรกิจเกษตรการค้าชายแดนไทย-ลาว มีการสร้างข้อตกลง กติกาภายในกลุ่มสมาชิก การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ และการปันผลตามกติกาของกลุ่ม โดยกลุ่มให้ความสำคัญกับการพึ่งพาซึ่งกันด้านการค้าการลงทุนระหว่างสมาชิกในกลุ่มเองและผู้ประกอบการฝั่งลาว โดยกลุ่มการค้าชายแดนของเกษตรกรบ้านฮวกนั้นได้เข้าไปลงทุนในลาวตามนโยบายส่งเสริมการทำเกษตรพันธะสัญญา ทำการปลูกพืชเกษตรและนำเข้าสินค้าเกษตร อาทิเช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง ลูกเดือย ฯลฯ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการในเขตแขวงไชยะบุรีเองก็มีการนำเข้าสินค้าวัสดุการเกษตรจากฝั่งไทย อาทิเช่น เครื่องจักรกลการเกษตร ปุ๋ย และวัสดุการเกษตรอื่น ๆ ซึ่งมูลค่าการค้าขายระหว่างชายแดนโดยผ่านจุดผ่อนปรนกิ่วหกมีมูลค่าประมาณเดือนละ 20-30 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของเกษตรกรชายขอบ ดังนั้นความสำเร็จและความยั่งยืนของการค้าชายแดนโดยองค์กรชุมชนนั้นควรคำนึงรูปแบบการดำเนินและกลไกในการบริหารจัดการองค์กร สมรรถนะและความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม รวมถึงกฎระเบียบและการจัดการของระหว่าง หน่วยงานของภาครัฐของทั้งสองประเทศที่จะสนับสนุนให้เกิดธุรกิจเกษตรการค้าชายแดนเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน