รายละเอียดบทคัดย่อ


ณิชานันท์ กาบเกษร และ กาญจนา ชาญสง่าเวช . ภาคนิทรรศการ (Poster) : การใช้มัลติเพล็กซ์พีซีอาร์ทำนายศักยภาพการเข้าสร้างปมของไรโซเบียมถั่วเหลือง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.451-458.

บทคัดย่อ

         วิธีการดั้งเดิมในการหาศักยภาพการตรึงไนโตรเจนของไรโซเบียมถั่วเหลือง ได้แก่ การเติมไรโซเบียมถั่วเหลืองลงบนเมล็ดถั่วเหลืองที่เลี้ยงในโหลเลียวนาร์ด ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงถั่วเหลืองประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นนำลำต้นและใบถั่วเหลืองมาหาปริมาณไนโตรเจนโดยวิธีเคดัล วิธีนี้ใช้เวลานาน ต้องใช้พื้นที่ในโรงปลูกพืชทดลองและต้องใช้วิธีเคดัลวิเคราะห์ปริมาณไนโตรเจนในลำต้นและใบ เพื่อใช้ปริมาณไนโตรเจนของถั่วเหลืองแทนศักยภาพการตรึง ไนโตรเจนของไรโซเบียมถั่วเหลือง วิธีนี้จึงไม่เหมาะสำหรับใช้ในการคัดเลือกไรโซเบียมถั่วเหลืองแบบ large scale screening วัตถุประสงค์ของการวิจัย เพื่อหาวิธีรวดเร็วในการคัดเลือกสายพันธุ์ไรโซเบียมถั่วเหลืองด้านความสามารถในการเข้าสร้างปม หลังจากนั้นจะคัดเลือกไรโซเบียมถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพตรึงไนโตรเจนภาคสนาม โดยคัดเลือกจากสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกด้านความสามารถในการเข้าสร้างปม ยีนที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการเข้าสร้างปมของไรโซเบียมถั่วเหลือง มีหลายชนิด เช่น nodD1 และ nodYABC ซึ่งเรียงต่อกันบนโครโมโซมของไร โซเบียมถั่วเหลืองประเภทเพิ่มจำนวนช้า ในการทดลองนี้ได้ใช้มัลติเพล็กซ์พีซีอาร์ซึ่งใช้ไพร์เมอร์ 4 ชนิดได้แก่ nodD1F, nodD1R, nodYF และ nodYR เพื่อเพิ่มจำนวนชิ้นส่วนของยีน nodD1 (317 คู่เบส) และ nodY (340 คู่เบส) โดย ใช้ไรโซเบียมถั่วเหลืองจำนวน 24 สายพันธุ์ที่แยกได้จาก 8 ตำบลในอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ผลการวิจัยพบรูปแบบการเรียงตัวหลังจากการทำ agarose gel electrophoresis ของผลิตภัณฑ์พีซีอาร์ 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่หนึ่ง : ผลิตภัณฑ์พีซีอาร์ขนาด 317 คู่เบสและ 657 คู่เบส รูปแบบที่สอง : ผลิตภัณฑ์พีซีอาร์ขนาด 340 คู่เบสและ 657 คู่เบส ผลการหาลำดับนิวคลีโอไทด์ของผลิตภัณฑ์พีซีอาร์ขนาด 657 คู่เบส พบว่าประกอบด้วยยีน nodD1 เรียงต่อกับยีน nodY ผลการหาความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนและชนิด (crown หรือ distal nodules) ของปมที่รากถั่วเหลืองกับรูปแบบการเรียงตัวของผลิตภัณฑ์พีซีอาร์ พบว่าไรโซเบียมถั่วเหลืองสายพันธุ์ที่มีการเรียงตัวรูปแบบที่สองของผลิตภัณฑ์พีซีอาร์จากการทำมัลติเพล็กซ์พีซีอาร์ สามารถเข้าสร้าง crown nodules ได้จำนวนมากกว่าสายพันธุ์ที่มีรูปแบบที่หนึ่ง ผลการวิจัยนี้ต้องยืนยันนัยสำคัญทางสถิติ โดยจะใช้ในการทำนายศักยภาพการเข้าสร้างปมของไรโซเบียมถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200 สายพันธุ์ที่มีในห้องปฏิบัติการของคณะผู้วิจัยซึ่งสายพันธุ์เหล่านี้มีลายพิมพ์ดีเอ็นเอที่หาโดยวิธี RAPD-PCR แตกต่างกัน