รายละเอียดบทคัดย่อ


มาณิชรา ทองน้อย Guy Trebuil นันทิยา หุตานุวัตร วรพงษ์ สุริยภัทร วรงค์ นัยวินิจ . การประเมินผลแบบจำลองเพื่อนคู่คิดสำหรับการเกษตรผสมผสานและการจัดการทรัพยากรทดแทนอย่างยั่งยืนในเขตลุ่มน้ำลำโดมใหญ่จังหวัด อุบลราชธานี.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.377-385.

บทคัดย่อ

         แบบจำลองเพื่อนคู่คิด (Companion Modelling, ComMod) ซึ่งเป็นวิธีการแบบมีส่วนร่วมวิธีหนึ่ง ได้ถูกนำมาใช้เพื่อศึกษาความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการพื้นที่ การจัดการน้ำและแรงงาน ในระบบนิเวศที่ราบลุ่มนาน้ำฝนของลุ่มน้ำลำโดมใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี ในระหว่าง ปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2551 โดยมีเกษตรกรจากบ้านหมากมาย ตำบลกลาง อำเภอเดชอุดม จำนวน 11 ครอบครัวเข้าร่วม ซึ่งแบ่งเป็น 3 รูปแบบตาม การถือครอง คือ เกษตรกรที่มีที่นาขนาดเล็ก (type A) เกษตรกรที่มีที่นาขนาดปานกลาง (type B) และเกษตรกรที่มีที่นาขนาดใหญ่ (type C) เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในแบบจำลองเพื่อนคู่คิด ได้แก่ เกมส์บทบาทสมมุติ (Role-playing game = RPG) และ แบบจำลองคอมพิวเตอร์ (Agent-based model = ABM) ในการศึกษาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยดังกล่าวข้างต้น โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อติดตามและประเมินผลการใช้แบบจำลองเพื่อนคู่คิดที่มีผลต่อผู้เข้าร่วม 2) เพื่อทดสอบวิธีการติดตามและประเมินผลแบบต่างๆและ 3) เพื่อให้ข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุงแบบจำลองเพื่อนคู่คิดและการประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ในการเก็บข้อมูลได้ดำเนินการตลอดช่วงกิจกรรมของการใช้แบบจำลองเพื่อนคู่คิด ในระยะเวลา 3 ปี (2549 ถึง 2551)โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ กล่าวคือ การสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์รายบุคคล และการเล่าเรื่อง การวิเคราะห์ใช้วิธีเชิงคุณภาพ โดยเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรแต่ละครอบครัวในฟาร์มประเภทเดียวกันและต่างประเภทกัน และ เปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นกับตัวแทนองค์การบริการส่วนตำบลกลาง (อบต.กลาง) และตัวแทนหน่วยงานรัฐ ผลการศึกษาพบว่า 1)แบบจำลองเพื่อนคู่คิด ที่ประกอบด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์และเกมส์บทบาทสมมุติเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดและความเข้าใจแบบมีส่วนร่วมระหว่างเกษตรกรและนักวิจัยได้ 2) แบบจำลองเพื่อนคู่คิดช่วยให้ผู้เข้าร่วมเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรและความเข้าใจต่อความคิดและสถานการณ์ของผู้เข้าร่วมคนอื่นดีขึ้น 3) ความรู้ที่เพิ่มขึ้นในเรื่องน้ำ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตในฟาร์มและการปรับปรุงการใช้น้ำ 4) สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในแบบจำลองเพื่อนคู่คิด พบว่า เกมส์บทบทบาทสมมุติให้รายละเอียดขั้นตอนของการทำนาและกระตุ้นการเรียนรู้โดยการลงมือทำ อย่างไรก็ดีผู้เข้าร่วมที่มีอายุมากบางคนเห็นว่า เกมส์บทบาทสมมุติมีความซับซ้อนและสับสน 5) ส่วนแบบจำลองคอมพิวเตอร์ พบว่า เป็นวิธีการที่ทำให้การเชื่อมโยงจินตนาการและการประมวลความคิดของผู้เข้าร่วมง่ายขึ้น แต่ผู้เข้าร่วมบางคนเห็นว่าแบบจำลองคอมพิวเตอร์เป็นทฤษฏีมากเกินไป และเหมาะสมกับเกษตรกรที่มีอายุน้อย และ 6) ผู้เข้าร่วมที่ไม่ใช่เกษตรกร พบว่าตัวแทน อบต.ได้เรียนรู้วิธีการใหม่สำหรับการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมที่มีประโยชน์สำหรับการวางแผนและตัวแทนหน่วยงานรัฐได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการกิจกรรมแบบจำลองเพื่อนคู่คิด สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดแบบมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการใช้แบบจำลองเพื่อน คู่คิดสำหรับการเกษตรผสมผสานและการจัดการทรัพยากรทดแทนอย่างยั่งยืนให้ได้ผลยิ่งขึ้น คือ ผู้เข้าร่วมจะมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น ถ้าได้เข้าร่วมในช่วงการวิเคราะห์ปัญหาและในช่วงการเตรียมสื่ออุปกรณ์ นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมที่เป็นคนใหม่ควรจะเข้าร่วมในเกมส์บทบาทสมมุติสองครั้งเป็นอย่างน้อยก่อนเข้าร่วมในแบบจำลองคอมพิวเตอร์