รายละเอียดบทคัดย่อ


วรงศ์ นัยวินิจ Christophe Le Page มาณิชรา ทองน้อย และ Guy Trebuil . การสร้างและใช้แบบจำลองภาคี “บ้านหมากมาย” ร่วมกันกับเกษตรกร เพื่อบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นกับความรู้ทางทฤษฎีเกี่ยวกับปฎิสัมพันธ์ของการปลูกข้าวในเขตน้ำฝนกับการอพยพย้ายถิ่นของแรงงาน:กรณีศึกษาลุ่มน้ำลำโดมใหญ่ อุบลราชธานี.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.365-376.

บทคัดย่อ

         ร้อยละ 85 ของพื้นที่ปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่นาเขตน้ำฝน ที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะสภาพดินทราย และความไม่แน่นอนของการกระจายตัวของน้ำฝนทั้งในเชิงปริมาณและช่วงเวลา ทำให้ผลผลิตข้าวต่ำ และเกษตรกรสามารถทำนาได้เพียงแค่ 1 ครั้งต่อปี สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรในภูมิภาคนี้มีรายได้ต่อหัวที่ต่ำกว่าภูมิภาคอื่น การอพยพย้ายถิ่นไปทำงานนอกภาคเกษตร เพื่อหาเงินจุนเจือครอบครัวจึงเป็น การปรับตัวที่สำคัญของเกษตรกรรายย่อยที่มีฐานะยากจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้ให้สามารถขยายเวลาการเพาะปลูก โครงการของรัฐหลายโครงการเช่น โครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงที่มีมูลค่ากว่า 500,000 ล้านบาท ได้ถูกร่างขึ้นโดยขาดความเข้าใจปฎิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างการย้ายถิ่นของแรงงาน กับการจัดการทรัพยากรที่ดิน และแหล่งน้ำของเกษตรกรในภูมิภาคนี้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะทำความเข้าใจปฎิสัมพันธ์ดังกล่าว โดยนำการสร้างแบบจำลองแบบมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เรียกว่า “แบบจำลองเหมือนเพื่อนคู่คิด (Companion Modeling: ComMod)” มาใช้ ComMod เป็นกระบวนการคิดและสร้างความเข้าใจแบบหมุนวน จึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่สนับสนุนการศึกษาแบบบูรณาการด้วยแบบจำลองที่ยืดหยุ่นและผ่านการวิเคราะห์จากบุคคลหลายสาขา ทำให้เกิดการพูดคุยวิเคราะห์ผ่านแบบจำลองเสมือนจริง แล้วนำเอาข้อมูลความรู้จากการวิเคราะห์ที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบที่ทำการศึกษามาปรับปรุงประกอบเข้าเป็นแบบจำลองเดียวกัน กระบวนการนี้มีการนำเครื่องมือสองชนิดมาใช้ร่วมกัน คือ การสวมบทบาทในเกมส์ (Role-Playing Game: RPG) และแบบจำลองภาคี (Agent-Based Model: ABM) โดยพัฒนาร่วมกันกับเกษตรกรที่มีอาชีพทำนาในหมู่บ้านหมากมาย อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราขธานี เกษตรกรที่เข้าร่วมยอมรับว่าแบบจำลองภาคีที่ร่วมกันสร้างและให้ชื่อว่า BanMakMai (บ้านหมากมาย) สามารถเป็นตัวแทนของระบบสังคมเกษตรของหมู่บ้านหมากมายได้ และเกษตรกรสามารถใช้แบบจำลองนี้เพื่อวิเคราะห์ผลที่เกิดจากสถานการณ์สมมุติได้ เกษตรกรยังสามารถนำเสนอแบบจำลองนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ