รายละเอียดบทคัดย่อ


ศักดิ์ดา จงแก้ววัฒนา . การใช้ Stella ในการจำลองระบบเกษตร.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.346-355.

บทคัดย่อ

         ระบบเกษตรเป็นระบบที่มีความซับซ้อน ทั้งนี้เพราะมีองค์ประกอบในส่วนของทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น ดิน น้ำ และธาตุอาหารสำหรับพืช ) ระบบการจัดการพืชและสัตว์ รวมทั้งศัตรูธรรมชาติของพืชและสัตว์ที่ผลิต นอกจากนั้นยังรวมถึงระบบเศรษฐกิจและสังคม เช่นการตลาด การรวมกลุ่มของเกษตรกร เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาระบบเกษตรโดยวิธีการสำรวจ เพื่อเก็บข้อมูลเป็นวิธีการที่ต้องใช้เวลา และไม่สามารถควบคุมองค์ประกอบของระบบ ให้เป็นไปตามความต้องการของนักวิจัยได้ เช่น การเปลี่ยนชนิดหรือพันธุ์พืชและสัตว์ การกำหนดช่วงระยะเวลาการเพาะปลูก และการจัดการธาตุอาหารพืชและน้ำ เป็นต้น ปัจจุบันการใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ (computer-base model) ที่เป็นแบบจำลองเชิงปริมาณประเภท Mechanistic model ได้มีบทบาทอย่างยิ่งในการนำมาใช้เพื่อการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระบบเมื่อมีผลกระทบจากตัวแปรภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงการวิเคราะห์สถานการณ์ (scenario analysis) ของระบบเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบภายใน รวมถึงปัจจัยภายนอกระบบด้วย Stella เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานเฉพาะในด้านการสร้างแบบจำลอง (simulation software) ที่สามารถเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ ภายในระบบเชิงคณิตศาสตร์ อีกทั้งสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร นอกระบบที่เรียกว่า driven variable ที่สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของระบบได้ ดังนั้นการวิเคราะห์พฤติกรรมของระบบที่เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากผลกระทบของตัวแปรภายนอก หรือการวิเคราะห์สถานการณ์ จึงทำได้โดยง่ายถ้าหากว่ามีการสร้างแบบจำลองที่ดีและถูกต้องmการศึกษาครั้งนี้เป็นตัวอย่างการพัฒนาแบบจำลองระบบเกษตรที่ประกอบด้วยระบบการปลูกข้าว การเลี้ยงสัตว์ ปลา และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ โดยใช้โปรแกรม Stella ในการสร้างแบบจำลอง ผลการจำลองพบว่าในระบบการปลูกข้าวนั้น แบบจำลองสามารถจำลองระยะพัฒนาการ ผลผลิต และมวลชีวภาพของข้าวได้เป็นที่น่าพอใจ ส่วนการจำลองระบบอื่นนั้น แบบจำลองสามารถจำลองพฤติกรรมได้ถูกต้องตามผลที่คาดว่าจะได้รับ แต่ไม่สามารถ ตรวจสอบความถูกต้องของผลดังกล่าวได้เนื่องจากไม่มีข้อมูลจากงานวิจัยเพื่อนำมาใช้ในการ Validate อย่างไรก็ตามแบบจำลองดังกล่าวสามารถพัฒนาและตรวจสอบความถูกต้องของการจำลองได้ต่อไป นอกจากนั้นแบบจำลองนี้สามารถใช้เป็นตัวอย่างการศึกษาการวิเคราะห์สถานการณ์ได้