รายละเอียดบทคัดย่อ


บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล, พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ และ ยุภาพร ศิริบัติ . นวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นและการจัดการระดับองค์กรในการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาด:กรณีศึกษาธุรกิจเกษตรชายแดนไทย-ลาว.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.266-274.

บทคัดย่อ

         นวัตกรรมทางเกษตรแต่เดิมเน้นเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูป เช่น การพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ วิธีการจัดการศัตรูพืช การพัฒนาการใช้ประโยชน์ เป็นต้น แต่ปัจจุบันมิติด้านนวัตกรรมทางเกษตรได้คลอบคลุมนวัตกรรมทางสังคมและสถาบัน (social and institutional innovations) เช่น การพัฒนาด้านองค์กรหรือเครือข่ายระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค การรวมกลุ่มของเกษตรกร การจัดตั้งสหกรณ์ เป็นต้น นวัตกรรมเหล่านี้มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายระดับอาศัยพลังขับเคลื่อนทั้งจากภายในและภายนอก และอาศัยองค์ความรู้ที่มาจากหลายแหล่งเพื่อยกระดับการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงซึ่งมีผลต่อการดำเนินธุรกิจและวิถีชีวิตของเกษตรกร งานวิจัยนี้ได้ใช้กรณีศึกษากลุ่มเกษตรกรบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา ที่รวมตัวดำเนินธุรกิจการค้าชายแดนไทย-ลาว งานวิจัยมีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์โอกาสในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มการค้าชายแดนบ้านฮวก โดยคำถามหลักของงานวิจัยคือ 1. การปรับเปลี่ยนจากการผลิตทางเกษตรมาเป็นการรวมกลุ่มทำธุรกิจเกษตรได้ส่งผลต่อสมาชิกและชุมชนอย่างไร? 2. ปัจจัยใดที่เกื้อหนุนต่อความก้าวหน้าในดำเนินธุรกิจชุมชน และ 3. ในการพัฒนาระบบการจัดการองค์กรธุรกิจชุมชนที่เชื่อมโยงการผลิตและการตลาดให้ดีขึ้สมาชิกต้องมีสมรรถนะด้านใดบ้าง? ผลการศึกษาพบว่า ชุมชนชายแดนบ้านฮวกและเมืองคอบ แขวงไซยะบุรีของสปป.ลาว มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจกันมานาน ความสัมพันธ์ดังกล่าวได้กลายเป็นทุนดำเนินธุรกิจชายแดนที่สำคัญ เมื่อบ้านฮวกได้พัฒนาเป็นจุดผ่อนปรนตามนโยบายการจัดระบบเศรษฐกิจตามแนวชายแดนระหว่างประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา และการผลักดันระบบเกษตรพันธะสัญญาตามกรอบ ACMECS เกษตรกรบ้านฮวกได้รวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “กลุ่มการค้าชายแดนบ้านฮวก” ซึ่งในระยะแรกเน้นธุรกิจข้าวโพดและถั่วลิสง โดยมีหลักการดำเนินงานของกลุ่มคือ การใช้กลไกทางสังคมเพื่อประสานประโยชน์ของสมาชิกที่ดำเนินธุรกิจเกษตรในลาว โดยใช้ การทำงานยุธศาสตร์กลุ่มเพื่อลดต้นทุนด้านการจัดการ และลดความขัดแย้งอันเนื่องจากการแข่งขันด้านราคารับซื้อจากลาวระหว่างกลุ่มย่อย ในขณะเดียวกันกลุ่มมีโครงสร้างประกอบด้วย 9 หน่วยย่อยที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยมีสมาชิกผู้มีประสบการณ์รับผิดชอบในแต่ละหน่วย มีประธานและรองประธานกลุ่มเป็นผู้ประสานงานทั้งภายในและภายนอก การวิเคราะห์อย่างมีส่วนร่วมถึงสถานภาพของกลุ่มการค้าชายแดนบ้านฮวกได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ ภาพรวมของระบบการจัดการธุรกิจชายแดนให้กับสมาชิก พร้อมทั้งระบุจุดอ่อนของกลุ่มและประเด็นที่ต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกในการเสริมสร้างสมรรถนะของสมาชิกและการบริหารองค์กร ความยั่งยืนของกลุ่มขึ้นอยู่กับนวัตกรรมองค์กร ที่ให้ความสำคัญกับลักษณะการพึ่งพาซึ่งกันและกัน (interdependence) ระหว่างสมาชิกภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่มกับผู้ประกอบการของลาวในห่วงโซ่อุปทาน ความเข้าใจด้านกลไกการประสานงานและความสัมพันธ์ที่มีลักษณะพึ่งพาซึ่งกันและกันเชื่อว่าจะช่วยให้หน่วยงานรัฐได้ให้การสนับสนุนที่สอดคล้องกับองค์กรชุมชนที่ต้องการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนตามกรอบนโยบายเกษตรพันธะสัญญา