รายละเอียดบทคัดย่อ


สรศักดิ์ มณีขาว นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด พเยาว์ พรหมพันธุ์ใจ นวลจันทร์ ศรีสมบัติ วันเพ็ญ ศรีทองชัย นฤทัย วรสถิตย์ นาตยา จันทร์ส่อง บุญชู สายธนู ธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์ เสาวนี เขตสกุล และ อุดม คำชา . การทดสอบระบบการปลูกพืชเพื่อแก้ปัญหาโรครากปมพริกที่เกิดจากไส้เดือนฝอยในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.220-233.

บทคัดย่อ

         การแก้ปัญหาโรครากปมซึ่งเกิดจากไส้เดือนฝอย Meloidogyne incognita ในพื้นที่ปลูกพริก 1,629 ไร่ ของจังหวัด.อุบลราชธานี คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 50-80 ล้านบาท โดยทำการศึกษาทดลองวิธีการควบคุมรากปมในระดับโรงเรือนเพื่อให้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับพื้นที่การระบาด ได้แก่ใช้ความร้อนฆ่าไส้เดือนฝอย ในดินเพาะกล้า เพื่อได้กล้าพริกปราศจากจากปนเปื้อนของไส้เดือนฝอย การลดประชากรไส้เดือนฝอยในแปลงโดยปลูกปอเทืองที่อายุ 50 วัน และไถกลบก่อนปลูกพริก สามารถลดจำนวนประชากรไส้เดือนฝอยได้มากกว่า 70% โดยปอเทืองเป็นพืชที่ไม่ใช้พืชอาศัยของไส้เดือนฝอย เป็นผลให้ไส้เดือนฝอยที่อยู่ในแปลงปลูกตายเนื่องจากการขาดอาหาร นอกจากนั้นเมล็ดปอเทืองยังราคาถูก และเป็นปุ๋ยพืชสดช่วยปรับปรุงบำรุงดินโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและประสิทธิภาพในการลดจำนวนประชากรไส้เดือนฝอยได้ดี เทคโนโลยี ดังกล่าวนำไปใช้แก้ปัญหาการระบาดของโรครากปมพริกอย่างเป็นระบบ โดยทำการทดสอบในแปลงปลูกพริกของศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี และแปลงของเกษตรกรโดยวิธีเกษตรกรมีส่วนร่วมเป็นงานคู่ขนาน ให้สามารถนำมาปรับใช้ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรครากปมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีเกษตรกรร่วมทดสอบเทคโนโลยีจำนวน 10 ราย พบว่า การนำปอเทืองมาใช้ในระบบการปลูกพริกโดยไถกลบที่อายุ50วันก่อนปลูกพริก สามารถแก้ปัญหาการระบาดของโรครากปมช่วยลดจำนวนประชากรในแปลงปลูกพริก 120 วันได้ 24.5% แต่ในแปลงที่ไม่ปลูกปอเทือง พบจำนวนตัวอ่อนของไส้เดือนฝอยเพิ่มขึ้นถึง156 % มีผลทำให้ต้นพริกตายจำนวนมาก ผลการทดสอบที่ข้อมูลได้ครบและถูกต้อง มีเพียง 3 ราย ในการใช้ปอเทืองปลูกและไถกลบก่อนการปลูกพริกเนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ปอเทืองปลูกสลับโดยมีค่าBCR เฉลี่ย 3.08 ขณะที่ไม่ปลูกปอเทืองสลับ BCRเท่ากับ 2.3 รวมทั้งดัชนีการเกิดปมของรากพริกลดลง จากระดับการเกิดปม 4.1เป็น 2.8 เทคโนโลยีดังกล่าวได้ถ่ายทอดสู่เกษตรกรของจังหวัด ศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 169 ราย เกษตรกรเกิดความรู้ความเข้าใจสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาและควบคุมการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปมรากปมพริกภายในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ