รายละเอียดบทคัดย่อ


บุญเหลือ ศรีมุงคุณ พรพรรณ สุทธิแย้ม อรอนงค์ วรรณวงษ์ และ นาตยา จันทร์ส่อง . ความถี่ของการใช้น้ำหมักชีวภาพในการผลิตงาในสภาพนาอินทรีย์จังหวัดอุบลราชธานี.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.208-219.

บทคัดย่อ

         เพื่อศึกษาผลของการใช้น้ำหมักชีวภาพที่ความถี่ต่าง ๆ เพื่อควบคุมโรคและแมลงในการผลิตงาอินทรีย์ในระบบงาก่อนข้าว จึงดำเนินการทดลองขึ้นโดยวางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block มี 4 ซ้ำ 5 กรรมวิธี คือ 1) พ่นน้ำหมักจากผลไม้ (กล้วยน้ำว้า+ฟักทอง+มะละกอสุก+EM) ทุก 3 วัน 2) พ่นน้ำหมักจากผลไม้ทุก 7 วัน 3) พ่นน้ำหมักจากปลา (ปลา+กล้วยน้ำว้า+ฟักทอง+มะละกอสุก+EM) ทุก 3 วัน 4) พ่นน้ำหมักจากปลาทุก 7 วัน และ 5) ไม่พ่นน้ำหมักชีวภาพใด ๆ ทุกกรรมวิธี ปรับปรุงดินก่อนปลูกด้วยปุ๋ยหมักจุลินทรีย์ (โบกาฉิ) อัตรา 150 กก./ไร่ อัตราส่วนน้ำหมักต่อน้ำ 1: 200 ในกรรมวิธีที่ใช้น้ำหมัก โดยพ่นน้ำหมักสมุนไพร (อัตราส่วนต่อน้ำเท่ากัน) ควบคู่ไปด้วย เริ่มพ่นน้ำหมักเมื่องาอายุ ประมาณ 10 วันจนถึงอายุ 70 วันหลังงอก หลังเก็บเกี่ยวงาปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 ตามทุกกรรมวิธี ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี เป็นเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2549-2551 โดยปลูกงาในเดือนม.ค.-ก.พ. พบว่าทั้ง 3 ปี ต้นงาเป็นโรคต้นเน่าดำ หรือไหม้ดำ ( Ralsitonia Solanacearum) น้อยมาก โดยไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ ส่วนแมลงศัตรูพบน้อยมาก ผลผลิตงาที่ได้ไม่แตกต่างกันทางสถิติในแต่ละปีทั้ง 3 ปี เช่นกัน โดยเฉลี่ย 99.7 145.9 และ 81.5 กก./ไร่ ในปี 2549 2550 และ 2551 ตามลำดับ สำหรับผลผลิตข้าวที่ปลูกตามหลัง ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติในแต่ละปี เฉลี่ย 272 419 และ 151 กก./ไร่ในปี 2549 2550 และ 2551 ตามลำดับ