รายละเอียดบทคัดย่อ


พสุ สกุลอารีวัฒนา กาญจนา ทองนะ ศิริลักษณ์ สมนึก และ อุดม คำชา . การทดสอบพันธุ์และเทคโนโลยีกับปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน(จังหวัดหนองคาย).  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.182-188.

บทคัดย่อ

         ปาล์มน้ำมันเป็นพืชน้ำมันที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อมกราคม 2548 เห็นชอบแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบด้านการผลิต และกำหนดพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน จึงจัดให้มีโครงการนำร่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและคัดเลือกจังหวัดหนองคายเป็นพื้นที่นำร่องการปลูกปาล์มน้ำมัน ดังนั้นจึงมีการทดสอบพันธุ์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อศึกษาคัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จากการทดสอบปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 1-6 โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB มี 6 กรรมวิธี ปลูกทดสอบเมื่อมกราคม 2549 ปัจจุบันอายุ 3 ปี วางผังปลูกแบบสามเหลี่ยม ระยะ 9×9×9 เมตร ติดตั้งระบบน้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ใต้ทรงพุ่มต้น กำจัดวัชพืชรอบโคนต้นและภายในแปลงให้ปุ๋ยตามคำแนะนำในเอกสารวิชาการปาล์มน้ำมัน (กรมวิชาการเกษตร, 2547) บันทึกผลช่วงเดือน ตุลาคม 2551 ถึง มีนาคม 2552 จากข้อมูลการเจริญเติบโต การออกดอก และผลผลิต พบว่าการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมันลูกผสมสุราษฎร์ธานี (สฎ.) 1-6 ในแปลงทดสอบไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยจำนวนทางใบทั้งหมดมีค่าอยู่ระหว่าง 33.7-36.1 ใบ พันธุ์ สฎ.5 มีแนวโน้มมีจำนวนทางใบทั้งหมดมากที่สุดและพันธุ์ สฎ.1 มีน้อยที่สุด จำนวนทางใบเพิ่มมีค่าอยู่ในช่วง 15.5-16.5 ใบ พันธุ์ สฎ.6 มีแนวโน้มมีจำนวนทางใบเพิ่มมากที่สุดและพันธุ์ สฎ.5 มีน้อยที่สุด จำนวนใบย่อยอยู่ในช่วง 208.2-222.8 ใบ พันธุ์ สฎ.4 มีแนวโน้มมีจำนวนใบย่อยมากที่สุดและพันธุ์ สฎ.3 มีน้อยที่สุด ส่วนความยาวทางใบมีค่าระหว่าง 258.5-275.5 เซนติเมตร พันธุ์ สฎ.1 มีแนวโน้มมีความยาวทางใบมากที่สุดและพันธุ์ สฎ.3 น้อยที่สุด พื้นที่หน้าตัดแกนทางใบอยู่ในช่วง 4.2-5.9 ตารางเมตร พันธุ์ สฎ.2 มีแนวโน้มมีค่ามากที่สุดและพันธุ์ สฎ.1 มีค่าน้อยที่สุด พื้นที่ใบมีค่าระหว่าง 63.2-66.8 ตารางเมตร พันธุ์ สฎ.6 มีแนวโน้มมีค่าพื้นที่ใบมากที่สุดและพันธุ์ สฎ.4 มีค่าน้อยที่สุด ส่วนผลการศึกษาการออกดอกและให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมันพันธุ์ สฎ. 1-6 พบว่าการออกดอกของปาล์มน้ำมันพันธุ์ สฎ. 1-6 มีเปอร์เซ็นต์การเกิดช่อดอกเพศเมียของพันธุ์ สฎ. 1 สฎ. 2 สฎ. 4 และสฎ. 5 มากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนพันธุ์ สฎ. 3 และสฎ. 6 มีเปอร์เซ็นต์การเกิดช่อดอกเพศเมียอยู่ในช่วง 58 - 66 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนการให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันพันธุ์ สฎ. 2 มีแนวโน้มให้ผลผลิตทะลายสดสูงกว่าทุกพันธุ์ 581.1 กิโลกรัม/ไร่/ปี น้ำหนักต่อทะลาย 3.0 กิโลกรัม รองลงมาได้แก่ พันธุ์ สฎ. 1 มีค่าผลผลิตทะลายสด และน้ำหนัก ต่อทะลายเท่ากับ 534.8 กิโลกรัม/ไร่/ปี และ 2.8 กิโลกรัม ตามลำดับ ส่วนพันธุ์ สฎ. 3 มีแนวโน้มให้ผลผลิตต่ำสุด