รายละเอียดบทคัดย่อ


บัญชา สมบูรณ์สุข Benedicte Chambon ไชยยะ คงมณ และ กนกพร ภาชีรัตน์ . ระบบกรีดยางพาราและการจัดการแรงงานภายใต้ระบบการทำฟาร์มสวนยางพาราในภาคใต้ประเทศไทย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.136-153.

บทคัดย่อ

         ภายใต้ภาวะราคายางที่ผันผวนในปัจจุบันส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางมีการปรับตัวโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตและการเก็บเกี่ยวที่มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ จากการศึกษาพบว่า เขตนิเวศน์เกษตรสวนยางพาราขนาดเล็กเป็น 3 เขตนิเวศน์หลักได้แก่ เขตนิเวศน์การทำสวนยางที่ราบลุ่ม เขตนิเวศน์การทำสวนยางที่ควนหรือที่ลอนลาดและเขตนิเวศน์การทำสวนยางที่สูง หรือพื้นที่ภูเขา การปลูกยางพาราได้ขยาย พื้นที่ปลูกในทุกเขตนิเวศน์เกษตรและมีการขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม มีการใช้เทคโนโลยีผลิตที่แตกต่างกัน เช่น การจัดการผลิต การจัดการแรงงาน และการใช้ระบบกรีดยางพารา เป็นต้น ในแต่ละเขตนิเวศน์เกษตรมีระบบการทำสวนยางพาราเชิงเดี่ยวสัดส่วนสูง และระบบเกษตรมีความหลากหลายมากขึ้นในเขตนิเวศน์การทำสวนยางที่ราบลุ่มและเขตนิเวศน์การทำสวนยางที่ราบสูงหรือที่ลอนลาด ระบบกรีดยางพาราในพื้นที่แบ่งออกเป็นสองระบบกรีดหลักคือ ระบบกรีดตามข้อแนะนำของสถาบันวิจัยยาง และระบบกรีดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ระบบกรีดที่นิยมใช้ได้แก่ ระบบกรีด 1/3S 3d/4 1/2S 2d/3 1/2S 3d/4 1/2S d/2 และ 1/3S 2d/3 โดยเกษตรกรชาวสวนยางพาราขนาดเล็กมุ่งเน้นเพิ่มผลผลิตและรายได้ด้วยการเลือกใช้ระบบกรีดที่มีความถี่กรีดสูง แรงงานกรีดยางมีทั้งแรงงานครัวเรือน และแรงงานจ้างกรีด และพบว่า แรงงานกรีดครัวเรือนมีประสิทธิภาพสูงกว่าแรงงานจ้างกรีด เกษตรกรชาวสวนยางพารามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบผลผลิตจากการผลิตยางแผ่นดิบมาเป็นการผลิตน้ำยางสด ซึ่งการผลิตน้ำยางสดมีจำนวนชั่วโมงการทำงานน้อยกว่าการผลิตยางแผ่นดิบประมาณ 2 ชั่วโมงต่อครัวเรือน ผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของระบบกรีดเกษตรกรที่นิยมใช้พบว่า ระบบกรีด 1/3S 3d/4 ได้รับผลตอบแทนมากกว่าเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่เลือกใช้ระบบกรีดยางพาราระบบกรีดอื่นๆ แต่มีประสิทธิภาพแรงงานต่ำกว่าระบบกรีด 1/2S 2d/3