รายละเอียดบทคัดย่อ


ยศ บริสุทธิ์ และ กัลยา มิขะมา . ระบบการจัดการลวงมองประมงพื้นบ้านแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนม ประเทศไทย และแขวงคำม่วน สปป. ลาว.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.117-125.

บทคัดย่อ

         การประมงพื้นบ้านเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบการจัดการลวงมองหรือเขตพื้นที่ไหลมองหาปลาในแม่น้ำโขงของชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดนครพนม ประเทศไทย และแขวงคำม่วน สปป. ลาว โดยได้ศึกษาด้วยวิธีการเชิงคุณภาพแบบ Multi-site case study ในพื้นที่ลวงมองในแม่น้ำโขงจำนวน 8 ลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ไหลมองหาปลาระหว่างประมงพื้นบ้านอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม กับ ประมงพื้นบ้านเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป. ลาว ผลการศึกษาพบว่า การบริหารจัดการทั้งไทยและลาวมีลักษณะเหมือนกันคือ มีหัวหน้าหรือประธานเป็นผู้นำในการบริหารจัดการลวงและสมาชิก โดยสมาชิกเป็นคนในพื้นที่หมู่บ้านที่ติดลวงปลานั้นๆ และมีแนวปฏิบัติของสมาชิกที่ตกลงรวมกันทั้งเฉพาะฝ่ายและแบบที่ตกลงร่วมกันระหว่างไทย-ลาว สำหรับการจัดการพื้นที่ลวงมอง พบว่า มี 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) ไทย-ลาวมีการบริหารจัดการร่วมกัน โดยไทย-ลาวมีพื้นที่ลวงมองในเขตลวงบริเวณน่านน้ำเดียวกันหรือเหลี่อมกัน มีการซาวลวงและการทำพิธีกรรมที่สำคัญร่วมกัน มีการจัดการคิวเข้าออกร่วมกันในการไหลมอง และ (2) ไทย-ลาวไม่มีการหริหารจัดการร่วมกัน โดยไทย-ลาวแบ่งพื้นที่ลวงมองตามเขตน่านน้ำ มีความเป็นอิสระจากกันในการบริหารจัดการ ซาวลวงและการทำพิธีกรรม การจัดการคิวกันเข้าออกในการไหลมองทั้งไทยและลาวต่างมีอิสระจากกันเนื่องจากบริเวณลวงมองแยกกันชัดเจน