รายละเอียดบทคัดย่อ


สาลี่ ชินสถิต วิไลลักษณ์ สมมุติ หฤทัย แก่นลา จรีรัตน์ มีพืชน์ และ ศรีนวล สุราษฏร์ . วิจัยและพัฒนาระบบผลิตพืชอินทรีย์ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.70-79.

บทคัดย่อ

         โครงการวิจัยและพัฒนาระบบผลิตพืชอินทรีย์ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก 7 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้เทคโนโลยี และระบบการปลูกพืชที่เหมาะสมสำหรับการผลิตพืชอินทรีย์ รวมทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการได้รับใบรับรองในการผลิตพืชอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น การดำเนินงานประกอบด้วยการให้บริการตรวจรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ตามมาตรฐานกรมวิชาการเกษตรและการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบผลิตพืชอินทรีย์ซึ่งสรุปผลได้ดังนี้ การให้การรับรองการผลิตพืชอินทรีย์ระหว่างปี พ.ศ.2545-2551 มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรองจำนวนทั้งสิ้น 276 ราย คิดเป็นพื้นที่ 1,588 ไร่ จังหวัดที่มีเกษตรกรได้รับการรับรองมากที่สุดได้แก่ จังหวัดสระแก้ว จำนวน 229 ราย คิดเป็นพื้นที่ 637 ไร่ รองลงมาได้แก่จังหวัดจันทบุรี 40 ราย พื้นที่ 392 ไร่ จังหวัดตราด 3 ราย พื้นที่ 229 ไร่ จังหวัดระยอง 2 ราย พื้นที่ 210 ไร่ และจังหวัดฉะเชิงเทรา 2 ราย พื้นที่ 120 ไร่ ผลการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบผลิตพืชอินทรีย์ในปีพ.ศ.2546-2548 ได้ระบบแตงกวา-ถั่วฝักยาว-ข้าวโพดอินทรีย์ โดยปลูกแตงกวาเป็นพืชแรก หลังจากเก็บผลผลิตแตงกวาแล้ว ปลูกตามด้วยถั่วฝักยาว ในหลุมเดิมที่เคยปลูกแตงกวา โดยใช้พื้นที่และค้างไม้ที่ใช้ปลูกแตงกวา เมื่อเก็บผลผลิตถั่วฝักยาวแล้วปลูกข้าวโพดในหลุมเดิมที่ใช้ปลูกแตงกวาและถั่วฝักยาว ดำเนินงานพื้นที่เกษตรกร อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี และอำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง มีเกษตรกรร่วมดำเนินงาน 10 ราย ได้ผลผลิตเฉลี่ย แตงกวา ถั่วฝักยาว และข้าวโพด 4,615, 1,405 และ 538 กิโลกรัม/ไร่ ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่ามีรายได้ จากการผลิตแตงกวา ถั่วฝักยาว และข้าวโพด 34,483 16,864 และ 5,383 บาท/ไร่ ตามลำดับ มีต้นทุนการผลิตแตงกวา ถั่วฝักยาว และข้าวโพด 17,082, 4,845 และ 1,912 บาท/ไร่ ตามลำดับ ทำให้ได้ผลตอบแทนจากแตงกวา ถั่วฝักยาว และข้าวโพด 17,401, 12,019 และ 3,470 บาท/ไร่ ตามลำดับ คิดเป็นผลตอบแทนรวมทั้งระบบแตงกวา-ถั่วฝักยาว-ข้าวโพดอินทรีย์ 32,891 บาท/ไร่ และมีค่าอัตราส่วนของรายได้ต่อการลงทุน (BCR) 2.38 แสดงว่าระบบพืชอินทรีย์ที่ดำเนินการนั้นมีกำไร มีความเสี่ยงน้อย สามารถทำการผลิตได้