รายละเอียดบทคัดย่อ


บุญช่วย สงฆนาม ปรีชา แสงโสดา สำนอง นวลอ่อน กิติพร เจริญสุข อมฤต วงษ์ศิริ ศศิธรประพรม และ จันทร์สว่าง ศรีหาตา . การทดสอบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.52-62.

บทคัดย่อ

         การทดสอบมีวัตถุประสงค์เพื่อหาเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังที่มีความสอดคล้องกับสภาพเงื่อนไขทางภูมิสังคมและสภาพเงื่อนไขของเกษตรกร สามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างต่ำร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการของเกษตรกร กระบวนการดำเนินงานใช้การมีส่วนร่วมของเกษตรกรตามขั้นตอนของระบบการทำฟาร์ม ผลจากการศึกษาวิเคราะห์พื้นที่ พบว่าผลผลิตเฉลี่ยมันสำปะหลังในพื้นที่เป้าหมายอยู่ระหว่าง 2.5- 4.5 ตันต่อไร่ เฉลี่ย 3.227 ตันต่อไร่ ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการผลิตมันสำปะหลัง ได้แก่ ผลผลิตต่ำ การงอกไม่ดี ดินเสื่อม ฝนแล้งและฝนทิ้งช่วง ต้นทุนในการผลิตสูง ราคาขายต่ำและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้รับซื้อ จากประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงได้ทำแปลงทดสอบเพื่อแก้ไขปัญหาประกอบด้วย การใช้ระบบการปลูกพืช การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ การใช้แนวทางสู่ 30 ตันต่อไร่ และการปรับปรุงดินโดยใช้เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ ผลการดำเนินงาน พบว่า ผลผลิตเฉลี่ยในวิธีการ ทดสอบคือ 6.726 ตันต่อไร่เปรียบเทียบกับวิธีการเกษตรกรเฉลี่ย 3.721 ตันต่อไร่ ซึ่งต่ำกว่าวิธีการทดสอบคิดเป็นร้อยละ 81 มีผลให้รายได้รวมและกำไรต่อไร่ในวิธีการทดสอบสูงกว่าวิธีการเกษตรกร โดยมีต้นทุนการผลิตต่อกิโลกรัมลดลงแต่ต้นทุนการผลิตต่อไร่กลับเพิ่มสูงกว่าวิธีการของเกษตรกรคิดเป็นร้อยละ 23 เพราะการเพิ่มผลผลิตยังต้องลงทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้นแนวทางในอนาคตจึงต้องหาแนวทางการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่และลดต้นทุนการผลิตโดยรวมต่อพื้นที่ลงมาด้วย