รายละเอียดบทคัดย่อ


ไพโรจน์ สุวรรณจินดา สำราญ สะรุโณ สุภาค รัตนสุภา นลินี จาริกภากร ศริณนา ชูธรรมธัช อุดร เจริญแสง อริย์ธัช เสนเกตุ สุนันท์ ถีราวุธ ศุกร์ เก็บไว้ ปัทมา พรหมสังคหะ สัมพันธ์ เกตุชู สุมณฑา ชะเลิศเพ็ชร พันธ์ศักดิ์ อินทรวงศ์ และ อำพา ขำประเสริฐ . การพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสับปะรดเพื่อบริโภคผลสดภาคใต้ตอนล่าง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.37-51.

บทคัดย่อ

         ผลการศึกษาพบว่าสับปะรดผลสดจังหวัดพัทลุงมีโอกาสทางการตลาดสูงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การปลูกสับปะรดของเกษตรกรจะใช้ภูมิปัญญาเฉพาะพื้นที่แตกต่างไปจากคำแนะนำทั่วไป เนื่องจากตลาดต้องการผลขนาดใหญ่ 1.5-2.5 กก./ผล เนื้อผลเป็นเนื้อแก้ว คำแนะนำเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม คือปลูกสับปะรดแซมยางพาราแบบแถวเดี่ยวห่างจากแถวยางพารา 1 เมตร ระยะปลูกระหว่างแถว 60-80 เซนติเมตร ระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร ประชากร 4,300-7,600 ต้น/ไร่ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-5-20 อัตรา 20 กรัม/ต้น 2 ครั้ง ในกาบใบล่าง เมื่ออายุ 1 - 3 เดือน และครั้งต่อไปห่างจากครั้งแรก 2 - 3 เดือน พ่นสารกำจัดวัชพืชด้วยไดยูร่อน 800 กรัม โปรมาซิล 500 กรัม ผสมน้ำ 80 ลิตร ประมาณ 2 ครั้ง ช่วงอายุ 1 - 3 เดือน และ 4 -6 เดือน บังคับดอกเมื่ออายุ 12 เดือน ด้วยสารเอทธิฟอน (39.5 %) จำนวน 8 มิลลิลิตร ผสมกับปุ๋ยยูเรีย 300 กรัม น้ำ 20 ลิตร หยอดยอด สับปะรดต้นละ 60 - 75 มิลลิลิตร 2 ครั้ง ห่างกัน 4-7 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60 อัตรา 10 กรัม/ต้น หลังบังคับดอก 3 เดือน และแกะจุกผลเมื่อผลอายุ 3 เดือน วิธีแนะนำนี้สามารถทำให้มีต้นออกดอกร้อยละ 90.5 สูงกว่าวิธีเกษตรกร ร้อยละ 13 ให้ผลผลิตรวม 6,677.8 - 11,823.2 กก./ไร่ (ขึ้นกับจำนวนประชากร) สูงกว่าวิธีเกษตรกรสูงสุดถึงร้อยละ 98.0 ให้คุณภาพผลผลิตเนื้อแก้วทั้งหมด ร้อยละ 56.0-68.2 ของผลผลิต สูงกว่าวิธีเกษตรกรร้อยละ 56.8 -114.1 ให้ผลขนาดใหญ่ ร้อยละ 85.1 สูงกว่าวิธีเกษตรกรร้อยละ 64.3 -116.2 และให้รายได้สุทธิ 49,326-57,119 บาท/ไร่ สูงกว่าวิธีเกษตรกร ร้อยละ 56.8 - 81.4 คือ มีรายได้สุทธิ 31,455.1 -31,489 บาท/ไร่ ความสำเร็จที่จะนำไปสู่การปรับปรุงเทคโนโลยีของเกษตรกรจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่เกิดจากการผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมกับความรู้ใหม่ พร้อมกับการสร้างทุนทางสังคม การมีส่วนร่วมของชุมชน การสนับสนุนจากภาครัฐ และมีการเผยแพร่ความรู้จากเกษตรกรสู่เกษตรกรในละแวกบ้าน