รายละเอียดบทคัดย่อ


สมชาย ชาญณรงค์กุล, อภิพรรณ พุกภักดี, นาถ พันธุมนาวิน และ เฉลิมศักดิ์ ประสิทธิสุวรรณ. 2533. การถ่ายทอดเทคโนโลยีถั่วเขียวให้แก่เกษตรกรในโครงการอีสานเขียว.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 7 : . ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2533 ณ โรงแรมวังใต้ จ. สุราษฎร์ธานี.  น.588-602.

บทคัดย่อ

         มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยภาควิชาพืชไร่นา และสำนักงานส่งเสริมและฝึกอบรมได้ร่วมมือกับ กองส่งเสริมพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานการเกษตรจังหวัดนครราชสีมาดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรในโครงการอีสานเขียว โดยได้เลือกพื้นที่ของตำบลท่าอ่าง อำเภอโชคชัย และอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่เป้าหมายวัตถุประสงค์ของโครงการได้แก่การแนะนำให้เกษตรกรได้ใช้พันธุ์เขียวที่ดีเช่นพันธุ์กำแพงแสน 1 การแนะนำให้ใช้เครื่องหยอดเมล็ดถั่วเขียวเป็นแถว เพื่อเพิ่มผลผลิตถั่วเขียว ตลอดจนปรับปรุงและให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการจัดการที่เหมาะสมต่าง ๆ เช่น การเตรียมดิน วันที่ปลูกเหมาะสม การป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ในการดำเนินการของโครงการนั้น ได้มีการเก็บข้อมูลของพื้นที่อย่างละเอียด ทั้งข้อมูลทุติยภูมิและปฐมภูมิ ตลอดจนการสัมภาษณ์เกษตรกรในโครงการ ทั้งนี้เพื่อสามารถนำมาซึ่งข้อมูลที่จะชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดการผลิตถั่วเขียวและแนวทางการแก้ไข การถ่ายทอดเทคโนโลยีประกอบด้วย การฝึกอบรมเกษตรกรเพื่อให้มีความรู้ในการปลูกถั่วเขียว การสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ สารเคมี คำแนะนำที่ถูกต้องโดยนักวิชาการการจัดวันสาธิตถั่วเขียว เพื่อขี้ให้เห็นถึงความสำเร็จของเกษตรกรในการปลูกถูกเขียวกำแพงแสน 1 และผลของการใช้เครื่องหยอดเมล็ด ตลอดจนการกระตุ้นให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการเป็นวิทยากรท้องถิ่นเพื่ออธิบายถึงการปลูกถั่วเขียวที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแก่เกษตรกรรายอื่น ๆ ในฤดูฝน พ.ศ. 2532 นั้น เกษตรกรในอำเภอโชคชัย และอำเภอสูงเนิน ที่ร่วมโครงการปลูกถั่วเขียวทั้งสิ้น 103 ไร่ ซึ่งเป็นการปลูกถั่วเขียวในฤดูฝนที่เกษตรกรไม่เคยปฏิบัติมาก่อนผลผลิตที่ได้รับอยู่ระหว่าง 85 - 110 กก./ไร่ ในฤดูแล้ง พ.ศ. 2533 นี้ เกษตรกรในอำเภอสูงเนินในโครงการได้ดำเนินการปลูกถั่วเขียวในพื้นที่ 400 ไร่ และก่อนที่จะมีการปลูกนั้น โครงการได้จัดให้มีการฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับเทคโนโลยีถั่วเขียวเช่นกัน