รายละเอียดบทคัดย่อ


ปราโมทย์ พรสุริยา และ พรทิพย์ พรสุริยา. 2539. ผลของสารสกัดจากสะเดา สารเชื้อแบคทีเรียและการปลูกผักชีเป็นพืชร่วมในการควบคุมแมลงศัตรูคะน้า.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 11 :ระบบเกษตรกรรมเพื่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม 2539 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำบีช รีสอร์ท อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี.  น.221-228.

บทคัดย่อ

         การศึกษาผลของการใช้สารสกัดจากสะเดา สารเชื้อแบคทีเรีย และการปลูกผักชีเป็นพืชร่วมในการควบคุมแมลงศัตรูคะน้า ทำการทดลองที่แผนกพืชผัก ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์บางพระ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ระหว่างวันที่ 4 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2538 วางแผนการทดลองแบบ RCB โดยจัดการทดลองแบบ 3x2 factorial+check มี 3 ซ้ำ 7 กรรมวิธีคือ การฉีดพ่นสารสกัดจากสะเดา+สารเชื้อแบคทีเรีย (Bt), สารเคมี (คาร์บาริล + เพอร์เมทริน) และการฉีดพ่นสารสกัดจากสะเดาเพียงอย่างเดียว ร่วมกับการปลูกและไม่ปลูกผักชีเป็นพืชร่วม และการไม่ฉีดพ่นสาร และไม่ปลูกผักชี เป็น check โดยมีแปลงหน่วยการทดลองขนาด 1.5x5 ม. ผลการทดลองพบว่าผลผลิตคะน้าในการฉีดพ่นสารเคมี (5.48 กก./3.75 ตร.ม) (เว้นแถวริม) สูงกว่าการฉีดพ่นสารสกัดพ่นสารสกัดจากสะเดา + สารเชื้อแบคทีเรีย และการฉีดพ่นสารสกัดจากสะเดาเพียงอย่างเดียว (4.64 และ 3.68 กก./ ตร.ม ตามลำดับ) โดยที่การปลูกผักชีเป็นพืชร่วมมีแนวโน้มทำให้ผลผลิตของคะน้าลดลงบ้างแต่ก็ไม่แตกต่างจากไม่ปลูก (4.29 และ 4.91 กก./ตร.ม ตามลำดับ) พบว่าในการปลูกผักชีให้ผลผลิตที่เสียหายจากแมลงน้อยกว่าการไม่ปลูกผักชี (0.49 และ 1.05 กก./3.75 ตร.ม ตามลำดับ) ปริมาณแมลงศัตรูจาการตรวจนับพบว่า การฉีดพ่นสารเคมีมีจำนวนหนอนกระทู้ผักน้อยกว่าการฉีดพ่นสารสกัดจากสะเดา และสรแบคทีเรีย โดยไม่พบความแตกต่างระหว่างการปลูกกับไม่ปลูกผักชีเป็นพืชร่วม ส่วนจำนวนกลุ่มไข่และกลุ่มตัวหนอนกระทู้ผักเพลี้ยอ่อน (กลุ่ม), หนอนเจาะยอดกะหล่ำ, หนอนคืบกะหล่ำ, และหนอนใยผัก พบว่ามีปริมาณไม่แตกต่างกันในทั้ง 2 ปัจจัย อย่างไรก็ตามพบว่า มีความแตกต่างระหว่างการฉีดพ่นสาร (treated) กับ check ในทุกข้อมูลที่ศึกษา ผลผลิตผักที่ใช้ได้จากการปลูกพืชร่วมระหว่างแถวของคะน้าประมาณ 3.5 กก. ตร.ม