รายละเอียดบทคัดย่อ


นงลักษณ์ สุพรรณไชยมาตย์ และ ฮิโรมาสะ ฮามาดะ  . การจัดการระบบฟาร์มซึ่งมีสระน้ำประจำไร่นา: กรณีศึกษาบ้านหนองแซง อำเภอ บ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.236-246.

บทคัดย่อ

         สระน้ำประจำไร่นาเป็นแหล่งน้ำผิวดินสำคัญที่เกษตรกรในภาคคะวันออกเฉียงเหนือต้องการ เพราะส่วนใหญ่มีพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ลักษณะการใช้สระน้ำประจำไร่นาขึ้นอยู่กับสภาพกายภาพและเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนของเกษตรกร การศึกษานี้เป็นการศึกษาระบบการจัดการสระน้ำประจำไร่นาของเกษตรกร จำนวน 5 ครัวเรือน ประกอบด้วย ครัวเรือนที่มีแรงงานสตรีเป็นหลักและทำเกษตรผสมผสาน จำนวน 3 ครัวเรือน อีกจำนวน 2 ครัวเรือน มีแรงงานชายเป็นหลัก ศึกษาโดยวิธีบันทึกข้อมูลการใช้สระน้ำรายวันระหว่างตุลาคม 2549-กันยายน 2550 เกษตรกรใช้แรงงานครัวเรือนเต็มเวลา 1-2 คน ได้รับการสนับสนุนสระน้ำมาตรฐานขนาด 1,260 ลบ.ม. จากทางราชการ ผลการจัดการฟาร์มวัดด้วย รายได้เงินสดที่เกิดจากพืชหรือสัตว์ที่ใช้สระน้ำเสริมโดยเฉพาะในฤดูแล้ง (พฤศจิกายน-เมษายน) วัดการผสมผสานกิจกรรมเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ และการกระจายรายได้ครัวเรือนตลอดปี ด้วย Diversity Index (DI) และ Relative Time Dispersion Index (RTD) ผลการศึกษา พบว่า เกษตรกรใช้น้ำสระเพื่อลดความเสี่ยงจากความแปรปรวนของฝนในฤดูทำนา ด้วยการสูบน้ำเพาะกล้าและปักดำให้ทันฤดูกาล และสูบน้ำเสริมได้บางส่วนหากเกิดฝนทิ้งช่วงโดยเฉพาะปลายฤดูฝน มีการใช้สระน้ำในการปลูกผักฤดูแล้งและปลายฤดูฝน การใช้น้ำเพื่อปลูกผัก เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ ช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือน 19,000 บาท/ปี สำหรับเกษตรกรที่ใช้น้ำเสริมในการตัดแต่งกิ่งไม้ผลด้วยใช้น้ำสระสูงสุด แต่ช่วยเพิ่มรายได้ 30,000 บาท/ปี เกษตรกรที่ใช้น้ำเพื่อเลี้ยงสัตว์อย่างเดียวใช้น้ำน้อยแต่ให้รายได้สูงสุดในกลุ่มถึง 46,000 บาท อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้จากกิจกรรมที่ใช้สระน้ำมีร้อยละ 15-24 ของรายได้ครัวเรือนที่เกิดจากการเกษตร เกษตรกรที่ทำเกษตรผสมผสานมีระบบการจัดการฟาร์มที่ดีกว่า โดยวัดจากดัชนีผสมผสาน (DI) 0.3-0.65 และดัชนีวัดการกระจายตัวของรายได้ (RTD) 0.025-0.3 พบว่า เกษตรกรที่ทำเกษตรผสมผสานได้คือ เกษตรกรที่มีแรงงานครัวเรือนอย่างน้อย 2 คน มีดัชนีการผสมผสานและการกระจายตัวของรายได้ดี เกษตรกรชายที่เป็นแรงงานหลักเพียงคนเดียวในฟาร์มเลือกเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกพืชผักอายุสั้นเก็บเกี่ยวง่าย เช่น ข้าวโพดหวาน ในปีที่ฝนมาปกติระดับน้ำในสระเพียงพอที่จะใช้หมุนเวียนสอดคล้องกับแรงงาน และวิถีชีวิตของเกษตรกรตามแนวทางการเกษตรแบบพอเพียง อย่างไรก็ตามหากเกษตรกรเริ่มปลูกผักที่ใช้น้ำน้อยในฤดูแล้งมากขึ้น หรือขยายการปรับปรุงสวนน้อยหน่า อาจเกิดปัญหาการตลาดผักและผลไม้ในตลาดท้องถิ่นได้ ดังนั้นการพัฒนาระบบเกษตรแบบผสมผสานสำหรับเกษตรกรรายย่อยในชุมชน ควรมีการศึกษาเรื่องการจัดการด้านการตลาดควบคู่ไปด้วย