รายละเอียดบทคัดย่อ


พิสุทธิ์ ศาลากิจ . การผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.253-260.

บทคัดย่อ

         ข้าวหอมมะลิ 105 ได้รับการยอมรับในตลาดโลกในนามของข้าวหอมไทย (Thai fragrant rice or jasmine rice) และมีแนวโน้มการส่งออกไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี แหล่งปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะอยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ สภาพภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และ ยโสธร ทุ่งกุลาร้องไห้ถือว่าเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ 105 คุณภาพดีของประเทศ เอกสารฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะทบทวนถึงการผลิตข้าวหอมมะลิ 105 ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ การพัฒนา อุปสรรค และ โครงการที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน ข้าวหอมมะลิ 105 มีพื้นที่ปลูกในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ 1,276,103 ไร่ หรือราวร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงมาเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่มีคุณภาพของประเทศในปัจจุบันเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2520 โดย 4 แผนงานบูรณาการหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ แผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แผนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และ แผนพัฒนาคุณภาพชีวิต ปัจจุบันได้จัดตั้ง โครงการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐานเพื่อส่งออกในทุ่งกุลาร้องไห้ (2547-2550) เพื่อยกระดับผลผลิตต่อไร่จาก 322 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2546 เป็น 470 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2550 และเป้าหมายรวมในการเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวเปลือกจาก 406,400 ตัน ในปี 2546 เป็น 569,900 ตัน ในปี 2550 จาก 3 แหล่งผลิตที่สำคัญคือ 1) เขตลุ่มน้ำลำพลับพลา 2) กลุ่มเกษตรกรทำนาศรีสว่าง ต.ศรีสว่าง อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด และ 3) สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด นอกจากนั้นส่วนหนึ่งยังมีเป้าหมายเป็นการผลิตและการแปรรูปข้าวอินทรีย์เพื่อการส่งออก มูลค่า 1,238.66 ล้านบาท ในปี 2551 แต่ต้องแก้ไขอุปสรรคในด้านปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม สารพิษตกค้าง และ ความรู้ความเข้าใจของเกษตรกรในการปรับปรุงบำรุงดิน โดยนำเสนอรูปแบบการผลิตที่ดีและเหมาะสม (good agricultural practice: GAP) และเน้นการใช้สารอินทรีย์และวัสดุธรรมชาติเป็นหลัก