ระบบเกษตรปลอดพิษ
   
      การผลิตผักไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแปลงเปิด โดยวิธีการบริหารศัตรูพืชแบบผสมผสาน นับเป็นวิธีการผลิตผักไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีกวิธีการหนึ่งที่มีความปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค มีต้นทุนการผลิตต่ำและให้ผลตอบแทนสูงไม่แพ้การผลิตผักโดยวิธีการอื่น ๆ จึงนับได้ว่าเป็นการผลิตผักปลอดภัยอีกวิธีการหนึ่งที่เป็นทางเลือกของเกษตรกร มีวิธีการจัดการดังต่อไปนี้
       

การเตรียมแปลง

   
      เตรียมแปลงขนาด 1x18 เมตร สูง 20-30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกรองพื้นก่อนปลูกในอัตรา 16 กก./แปลง (มูลไก่ผสมแกลบอัตรา 1:1) คลุกให้เข้ากับดินจนทั่วแปลง
       

การจัดประเภทผัก

   
      การคัดเลือกประเภทผักที่ปลูกให้เหมาะสมตามฤดูกาลจะช่วยลดการระบาดของโรคและแมลง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดปี วิธีการคัดเลือกพืชผักที่ปลูกเเบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
       
     
ผักหลัก หมายถึง ผักที่สามารถปลูกได้ตลอดปี เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง สลัดใบ ผักกาดฮ่องเต้ ผักโขมจีน หอมแบ่ง กะเพรา โหระพา ผักชี มะเขือเปราะ มะเขือยาว เป็นต้น
 
 
ผักรอง หมายถึง ผักที่เจริญเติบโตได้ดีตาม ฤดูกาล เช่น
    ฤดูหนาว ได้แก่ สลัดแก้ว กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ ปวยเล้ง ฯลฯ
    ฤดูฝน ได้แก่ ถั่วแขก แตงกวา บวบ กะหล่ำปลี ผักกาดขาวไม่ห่อ กะหล่ำดอก (ลูกผสม) ฯลฯ
   
    ฤดูร้อน ได้แก่ ผักกาดขาวปลีไม่ห่อ แตงกวา บวบ ถั่วพุ่ม ฯลฯ
       

การวางแผนการปลูก

 
      ทำการปลูกผักหลักตลอดปี โดยหว่านเมล็ดห่างกันรุ่นละ 4-5 วัน ส่วนผักรองเลือกผักที่เจริญเติบโตได้ดีตามฤดูกาล ปลูกเสริมผักหลักโดยการปลูกหมุนเวียนตลอดปี และปลูกไม่ซ้ำตระกูลในแปลงเดียวกัน
  

ปุ๋ย

 
      ปุ๋ยที่ใช้ในการปลูกผักมี 2 ชนิด ได้แก่  
   
ปุ๋ยคอก ใช้มูลไก่ผสมแกลบในอัตราส่วน 1:1 ใช้เป็นปุ๋ยรองพื้นในอัตรา 16 กก./18 ตร.ม.
     
   
ปุ๋ยเคมี ใช้ตามประเภทของผัก เช่น ผัก รับประทานใบใช้ปุ๋ยเกรด 16-16-16 รองพื้นในอัตรา 150 กรัม/18 ตร.ม. ปุ๋ยยูเรียเกรด 46-0-0 ละลายน้ำรดในอัตรา 20 กรัม/น้ำ 10 ลิตร รดหลังจากเมล็ด งอก 15-20 วัน รดหลังย้ายกล้า 7 วัน และ 20 วัน ผักรับประทานผลใช้ปุ๋ยเกรด 16-16-16 รองก้นหลุมในอัตรา 10 กรัม/หลุมใส่ปุ๋ยยูเรียเกรด 46-0-0 โดยละลายน้ำรดในอัตรา 20 กรัม/น้ำ 10 ลิตรหลังเมล็ดงอก 7-10 วัน และใส่ปุ๋ยเกรด 16-16-16 หลังเมล็ดงอก 15-20 วัน ในอัตรา 10 กรัม/ต้น
 
 
       

การควบคุมศัตรูพืช

 
      การผลิตผักไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชใช้วิธีการบริหารศัตรูพืชแบบผสมผสาน มีวิธีการจัดการดังนี้
     
วิธีกล
ได้แก่ การดักจับแมลงโดยใช้ถาดเหลือง กาวเหนียว สวิงดักจับแมลง และตรวจเช็คสถานการณ์การระบาดของโรคและแมลงในแปลงผักเมื่อพบให้ทำลายทิ้ง
 
   
วิธีเขตกรรม
ได้แก่ การไถพลิกหน้าดิน การตัดทำลายวัชพืช การจัดการระบบน้ำ การใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินให้เป็นกลาง การเลือกประเภทผักให้เหมาะสมกับฤดูกาล การใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ
 
 
   
การสร้างสภาพแวดล้อม
 

การสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเป็นที่อยู่อาศัย และขยายพันธุ์ของตัวห้ำ ตัวเบียน เช่น การขุดร่องน้ำรอบบริเวณแปลงผัก เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของตัวห้ำบางชนิด ได้แก่ เขียด กบ คางคก แมลงปอ เป็นต้น หรือปลูกพืชที่มีดอกให้น้ำหวานเป็นอาหารของแมลงตัวเบียนไว้ในแปลงผัก เช่น แพงพวย เทียนนา ขาเขียด บานไม่รู้โรย เป็นต้น

จากการใช้วิธีการบริหารศัตรูพืชแบบผสมผสาน (งดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช) ทำให้เกิดตัวห้ำ ตัวเบียนอาศัยในแปลงผักควบคุมศัตรูพืชไม่ให้มีปริมาณสูงขึ้นและยังช่วยอนุรักษ์ตัวห้ำตัวเบียนให้สามารถดำรงชีวิตและขยายพันธุ์ได้ ทำให้เกิดการควบคุมแมลงศัตรูพืชทางชีววิธีตามธรรมชาติ (Naturally Occurring Biological Control)

       

ผลผลิต

 
      จากการใช้วิธีการบริหารศัตรูพืชแบบผสมผสานพบว่า ยังมีศัตรูพืชเข้าทำลายผลผลิต แต่ขณะเดียวกันสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากกว่า 85 % เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความสมดุลของระบบการควบคุมศัตรูพืชในแปลงผัก ศูนย์วิจัยฯเริ่มทำการศึกษาระบบการผลิตผักในปี 2538 และได้พัฒนาวิธีการมาถึงปี 2543-2544 ได้ทำการปลูกผักทั้งหมด 25 ชนิด โดยแยกเป็นผักหลัก 8 ชนิด ได้ผลผลิต 7,421 กก./ไร่ และผักรอง 17 ชนิด ได้ผลผลิต 1,840 กก./ไร่ ผลผลิตรวมทั้งหมด 9,261 กก./ไร่
       
       
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณจตุรงค์ พวงมณี โทร 053-221275 ต่อ 211